มีข่าวที่สร้างความหวั่นไหวอยู่พอสมควร สำหรับโครงการนำร่องเปิดประเทศ “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” ที่เริ่มไปเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา เมื่อ “ศูนย์ข้อมูลโควิดจังหวัดภูเก็ต” แจ้งสถานที่เสี่ยงสัมผัสผู้ติดเชื้อโควิด ในขณะที่ภาพรวมของประเทศสถานการณ์ตัวเลขผู้เสียชีวิตที่ไต่ระดับสูงขึ้นทุกวัน นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ นายแพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิผู้เชี่ยวชาญในด้านระบาดวิทยา กล่าวว่า บรรยากาศของประเทศไทยตอนนี้ เหมือนกับเรากำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญ โดยช่วง 3 เดือนจากนี้ คือเดือน กรกฎคม-กันยายนนี้ เรากำลังเลือกเอาว่าเราจะสามารถเปิดประเทศได้ หรือเรากำลังก้าวเข้าสู่วิกฤตที่กำลังถลำลึกลงไปอีก เนื่องจากขณะนี้การระบาดในระลอก 3 จากสายพันธุ์อัลฟา (อังกฤษ) ที่ติดต่อได้อย่างรวดเร็ว ทำให้เราตั้งตัวไม่ทัน เรามีคนไข้เสียชีวิตประมาณ 50 คนต่อวัน ผู้เชี่ยวชาญทั้งหมดลงความเห็นตรงกันว่าสถานการณ์ในเดือนหน้าอัตราการเสียชีวิตจะแย่กว่าเดิม เหตุผลเพราะสายพันธุ์ใหม่หรือสายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) เข้ามายึดครองการระบาด ซึ่งข้อมูลของกรุงเทพมหานครตอนนี้อยู่ที่ 40% แล้ว ในไม่ช้าเดือนนี้หรือเดือนหน้าจะเป็นเชื้อเดลตาทั้งหมด ซึ่งสายพันธุ์นี้ มีความสามารถในการแพร่เชื้อเร็วกว่าสายพันธุ์เดิม 1.4 เท่า แต่ถ้าเราต้องการลดการเสียชีวิต เราสามารถเปลี่ยนยุทธศาสตร์ได้ด้วยการใช้ยุทธศาสตร์แบบมุ่งเป้า นพ.คำนวณ ระบุว่า มี 2 ทางเลือก ทางเลือกที่ 1 คือ ทำแบบเดิมจะเห็นผลก็ต่อเมื่ออีก 5-6 เดือนซึ่งจะไม่ทันกับปัญหาวิกฤติของเตียง ทางเลือกที่ 2 คือ เปลี่ยนเอาวัคซีนที่มีอยู่ในมือ ถ้าเรายอมรับว่า วัคซีนมีอยู่จำกัด และพยายามหามาเดือนละ 10 ล้านโดสนั้น แต่ถ้าเผื่อไม่ได้ ก็ต้องเปลี่ยนยุทธศาสตร์ เอาวัคซีนที่มีทั้งหมดในมือมาทำความตกลงกันไว้ตั้งแต่ นายกรัฐมนตรี ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.)ผู้ว่าราชการจังหวัด ต้องวางเป้าหมายแรกลดเจ็บหนักและเสียชีวิตในกลุ่มผู้สูงอายุและกลุ่มเสี่ยงก่อน ซึ่งเรามีกลุ่มนี้ 17.5 ล้านคน ตอนนี้เราฉีดได้ 2.5 ล้านคน อีก 15 ล้านคนเราต้องการฉีดให้จบภายใน 2 เดือน คือ กรกฎาคม- สิงหาคม เพื่อลดการเสียชีวิตได้แทนที่จะเป็นหลักพันคนในเดือนกรกฎาคม แต่พอเดือนสิงหาคม จะเหลือประมาณ 800 คนเดือน กันยายนจะเหลือประมาณ 600-700 คน หรือวันละประมาณ 20 คน ซึ่งอยู่ในวิสัยที่ระบบสาธารณสุขยังเดินหน้าต่อไปได้ ซึ่งในอังกฤษ อเมริกาก็ทำ แม้ยังมีจำนวนคนติดเชื้อ แต่คนตายไม่เยอะก็จะไม่มีปัญหาเท่าไร ที่สำคัญ ศบค. สามารถออกคำสั่งให้ผู้ว่าฯดำเนินการ หากไม่มีไกด์ไลน์ชัดเจน ผู้ว่าฯก็จะไม่สามารถจัดการได้ แต่หากมีชัดเจน ก็จะทำได้ทันที เราเห็นว่า เมื่อเดินบนทางสองแพร่งที่มีชีวิตของประชาชนเป็นเดิมพัน การตัดสินใจของผู้นำในการเลือกยุทธศาสตร์ให้ก้าวล้ำสถานการณ์เป็นสิ่งสำคัญ เมื่อผนวกกับการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ ชัดเจน ครอบคลุม ทั่วถึงและจริงใจ จะสามารถประคับสถานการณ์ 90 วันอันตรายนี้ให้ผ่านพ้นไปได้