หลังประกาศจะอยู่ครบเทอมของการบริหารประเทศ 4 ปี และวลี “ยิ่งไล่ ยิ่งสู้” ของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ก็ได้เห็นความเคลื่อนไหวในองคาพยพต่างๆ เพื่อเร่งทำผลงานและเรียกศรัทธาพี่น้องประชาชนหลักๆ 3 เรื่องเด่นๆ ด้วยกัน
เรื่องแรกคือปัญหาหนี้สินของประชาชนรายย่อย โดยที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ 15 มิถุนายน 2564 เกี่ยวกับมาตรการแก้ไขปัญหาหนี้รายย่อยทุกกลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มหนี้กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา หรือ กยศ.3.6 ล้านคน ผู้ค้ำประกัน 2.8 ล้านคน หนี้ครู/ข้าราชการ 2.8 ล้านบัญชี หนี้เช่าซื้อรถยนต์และมอเตอร์ไซค์ 27.7 ล้านบัญชี หนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล 49.9 ล้านบัญชี ปัญหาหนี้สินอื่นๆ ของประชาชน 51.2 ล้านบัญชี โดยกำหนดมาตรการระสั้นและระยะยาว โดยระยะสั้นขีดเส้นให้เห็นผลภายใน 6 เดือน พร้อมทั้งเข้มงวดปัญหาเงินกู้นอกระบบ
เรื่องที่สอง คือปัญหายาเสพติด ที่ก่อนหน้านี้มักถูกนำมาเป็นประเด็นในการวิพากษ์วิจารณ์และเปรียบเทียบกับรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร และรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ล่าสุด นายกรัฐมนตรี มอบนโยบายให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะไปปรึกษาหารือกันและเข้าสำรวจในทุกพื้นที่ ทุกตำบล ทุกหมู่บ้าน ทุกชุมชน คนที่ติดยาเสพติดต้องได้รับการขึ้นทะเบียนเพื่อนำไปสู่การบำบัดรักษา เพื่อลดภาระของครอบครัว และได้สั่งการให้ดำเนินการตามกฎหมายอย่างเข้มงวดกับนายทุนและผู้จำหน่ายยาเสพติด รวมไปถึงการยึดทรัพย์ด้วย
เรื่องที่สาม คือปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน โดยก่อนหน้านี้นายกรัฐมนตรีประกาศให้การแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันเป็นวาระแห่งชาติ แม้ก่อนหน้านี้จะมีข่าวคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือป.ป.ช.มีมติแจ้งข้อกล่าวหาพล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา ส.ว. อดีตปลัดกระทรวงกลาโหม จงใจยื่นแสดงบัญชีรายการทรัพย์สินและหนี้สินอันเป็นเท็จ กระนั้น ล่าสุด มีความเคลื่อนไหวสำคัญขององค์กรอิสระอย่างคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือป.ป.ช.เปิดเผยความคืบหน้าคดีสำคัญ ที่อยู่ในความสนใจของพี่น้องประชาชน 15 คดี หนึ่งในนั้นมีคดีทุจริตการทำสัญญาซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ภาค 2 คดีนี้ มีนักการเมือง และผู้ถูกกล่าวหาจำนวนมาก 71 ราย ไต่สวนพยานไปแล้ว 90 ราย และอยู่ระหว่างพิจารณาแจ้งข้อกล่าวหา
และที่น่าสนใจ ในกระบวนการเคลื่อนเกมรุกทางการเมืองอีกครั้งของพล.อ.ประยุทธ์ หลังผ่านศึกอภิปรายพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 และร่างพระราชกำหนดกู้เงิน 5 แสนล้านบาท คือ การมอบหมายให้คณะกรรมการกฤษฎีกา ไปพิจารณาดูข้อกฎหมายและศึกษากฎระเบียบการออกกฎหมาย เพื่อควบคุมเนื้อหาในสื่อออนไลน์และการนำเสนอในโซเชียลมีเดีย เพื่อนำมาพัฒนาปรับปรุงใช้ในประเทศไทย ก่อนที่จะเสนอให้ ครม.พิจารณาเห็นชอบ โดยไม่ใช่เฉพาะแค่สื่อออนไลน์เท่านั้น แต่ยังหมายรวมไปถึงแพลตฟอร์มต่างๆ เช่น ทวิตเตอร์ และเฟซบุ๊ก และคนที่มีผู้ติดตามในโลกออนไลน์จำนวนมากด้วย
ดูเหมือนพล.อ.ประยุทธ์จะคืนฟอร์มและทำสงครามเต็มรูปแบบ