จากการสำรวจพฤติกรรมการสูบบุหรี่ของประชากรไทยเมื่อปีพ.ศ. 2560 ซึ่งเป็นการสำรวจครั้งล่าสุดพบว่าจำนวนประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป ทั้งสิ้น 55.9 ล้านคนเป็นผู้ที่สูบบุหรี่ 10.7 ล้านคนหรือคิดเป็นร้อยละ 19.1 แม้ว่าผลการสำรวจครั้งล่าสุดจะพบว่าแนวโน้มการสูบบุหรี่ในประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไปมีแนวโน้มลดลง แต่ก็ลดลงไม่มากนัก จากร้อยละ 20.7 ในปี 2557 เป็นร้อยละ 19.9 ในปี 2558 และร้อยละ 19.1 ในปี 2560 นับว่าการรณรงค์เรื่องการไม่สูบบุหรี่ของไทยยังมีความท้าทายอีกมากที่จะลดอัตราการสูบบุหรี่ให้ได้อย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้เนื่องจากการสูบบุหรี่เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรที่สามารถป้องกันได้ แต่คนไทยกว่า 70,000 คนต้องเสียชีวิตเพราะการได้รับสารพิษจากควันที่เกิดจากการเผาไหม้ของบุหรี่และยาเส้นในทุกปี ในขณะที่การรณรงค์ส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับบุหรี่ แต่คนไทยกว่าครึ่งยังคงสูบยาเส้นมวนเองที่มีราคาถูก มีอัตราภาษีสรรพสามิตที่แตกต่างจากบุหรี่ซิการ์เรตอย่างมาก ทำให้ผู้สูบบุหรี่ในชนบทต่างจังหวัดนิยมสูบยาเส้นมวนเองทั้งๆ ที่มีอันตรายไม่ต่างจากบุหรี่ซิการ์เรต นอกจากนี้ ประเทศไทยยังเผชิญกับบุหรี่ผิดกฏหมายที่ถูกลักลอบนำเข้าประเทศผ่านทางจังหวัดชายแดนประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะจังหวัดภาคใต้ เช่น อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ซึ่งแม้จะเสี่ยงต่อค่าปรับจำนวนมากแต่ก็ไม่ได้ทำให้ผู้ลักลอบนำเข้าหรือร้านค้าเกรงกลัวแต่อย่างใด ยิ่งกว่านั้นคือแม้ประเทศไทยจะห้ามนำเข้าผลิตภัณฑ์ยาสูบอิเล็กทรอนิกส์ เช่นบุหรี่ไฟฟ้าหรือบุหรี่แบบให้ความร้อน แต่กลับพบเห็นผู้ใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวได้เป็นปกติ เนื่องจากการบังคับใช้กฎหมายไม่สามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง อีกทั้ง ประเทศส่วนใหญ่ในโลกมิได้กำหนดให้เป็นสินค้าผิดกฎหมายเช่นประเทศไทย และข้อมูลวิจัยจากหน่วยงานสาธารณสุขในต่างประเทศเช่นอังกฤษ สหรัฐฯ นิวซีแลนด์ ก็สนับสนุนผู้ผู้ที่ยังเลิกสูบบุหรี่ไม่ได้ เปลี่ยนมาใช้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้แทน ทำให้คนที่สามารถรับรู้ข่าวสารเหล่านี้จากการนำเสนอข่าวของสื่อต่างประเทศทางช่องทางออนไลน์ต่างๆ ยอมฝ่าฝืนกฎหมายแบนยาสูบอิเล็คทรอนิคส์ และที่สำคัญคือยังมีผู้สูบบุหรี่จำนวนมากที่ไม่สามารถเลิกสูบบุหรี่และไม่ตอบสนองต่อมาตรการรณรงค์ที่มีอยู่ในปัจจุบันทำให้อัตราการสูบบุหรี่ของไทยลดลงไม่มากนักในช่วง 10 ที่ผ่าน ก่อให้เกิดคำถามถึงประสิทธิภาพของนโยบายในการควบคุมยาสูบของไทยและการใช้งบประมาณรณรงค์ของบางหน่วยงานอย่างต่อเนื่อง ในโอกาสวันงดสูบบุหรี่โลก 31 พฤษภาคมของทุกปีซึ่งปีนี้มีการรณรงค์ให้เลิกสูบบุหรี่เช่นเดียวกับในทุกปีที่ผ่านมาโดยกำหนดคำขวัญว่า “เลิกบุหรี่ คุณทำได้” จึงอยากให้กระทรวงสาธารณสุขได้ใช้โอกาสนี้ทบทวนมาตรการควบคุมยาสูบที่ผ่านมากทั้งหมดว่าได้ช่วยให้ผู้สูบบุหรี่ได้เลิกบุหรี่ได้มากน้อยเพียงใดและสำหรับผู้ที่ยังไม่เลิกหรือเลิกไม่ได้ จะมีมาตรการอย่างไร เพื่อช่วยคนกลุ่มนี้ รวมทั้งสะท้อนความสำเร็จและความล้มเหลวของมาตรการในปัจจุบันเพื่อเป็นบทเรียนในการรณรงค์ควบคุมยาสูบต่อไปข้างหน้า เพื่อช่วยให้ประเทศไทยสามารถลดอัตราการสูบบุหรี่ลงได้อย่างแท้จริง