ดร.ธนารักษ์ ธีระมั่นคง นายกสมาคมปัญญาประดิษฐ์แห่งประเทศไทย และราชบัณฑิตในฐานะอาจารย์ประจำภาควิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ คอมพิวเตอร์ และการสื่อสาร สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร SIIT กล่าวในการบรรยายพิเศษหัวข้อ Transform University : Learning for the Future ที่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตอนหนึ่งระบุว่า การจัดการเรียนการสอนของสถาบันการศึกษา มหาวิทยาลัยในโลกยุคใหม่ จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ทั้งในแง่ของการเรียน เนื้อหา เพื่อให้มีความสอดคล้องกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต สังคม การดำเนินธุรกิจ และอุตสาหกรรม โดยตลอด 2-3 ปีที่ผ่านมา แวดวงการศึกษามีการพูดถึงวิกฤตการตกงานของบัณฑิตไทยที่อาจจะมีมากถึง 72% เพราะขาดทักษะที่เท่าทันกับยุคสมัย โดยศ.ดร.ธนารักษ์ เห็นว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้กระบวนการความเปลี่ยนแปลงถูกเร่งให้รวดเร็วขึ้น เห็นได้จากบริษัทขนาดใหญ่ อาทิ อูเบอร์ Airbnb ฯลฯ มีการปรับลดคนและนำกระบวนการใหม่ๆ เข้ามาใช้ในบริษัทมากขึ้น ดังนั้นคนที่มีทักษะแบบเก่าอาจไม่เป็นประโยชน์กับองค์กรอีกต่อไป คำถามในเมื่อเทคโนโลยีถูกนำเข้ามาใช้ในทุกๆ ด้านแล้ว อะไรคือทักษะที่โลกอนาคตต้องการ และสถาบันการศึกษา มหาวิทยาลัย รวมถึงนักศึกษาจะปรับตัวอย่างไร นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย เปิดเผยว่า แรงเด็กจบใหม่ในช่วงกุมภาพันธ์ ปี 2564 ประมาณ 5 แสนคน เมื่อรวมกับเด็กที่จบในปีนี้แต่ยังไม่มีงานทำประมาณเกือบ 4 แสนคน รวมแรงงานจบใหม่สะสมประมาณ 9 แสนคน เสี่ยงตกงานสูงเช่นกัน แม้จะมีการจ้างเพิ่มในอุตสาหกรรมใหม่ที่เกี่ยวข้องกับดิจิทัล แต่ยังไม่มากนัก คาดว่าจะจ้างเพิ่มขึ้นมากในปี 2565-66 แต่ภาพรวมเด็กที่กำลังเรียนอยู่ส่วนใหญ่ยังคงเป็นสาขาไม่ตรงกับความต้องการตลาดอยู่ดี รองประธานสภาองค์การนายจ้างฯ กล่าวว่า ปัจจุบันแรงงานไทยมีประมาณ 37 ล้านคน 50% เป็นแรงงานในระบบประกันสังคม มีแนวโน้มว่าแรงงานช่วงอายุ 45-50 ปี มีทิศทางจะถูกให้เข้าโครงการสมัครใจลาออก หรือเออร์ลี่ รีไทร์ มากขึ้น และแรงงานเหล่านี้เมื่อเข้าโครงการแล้วจะไม่ปรากฏเป็นผู้ว่างงานในการจัดเก็บสถิติว่างงานของสำนักงานสถิติแห่งชาติที่ยึดคำนิยามขององค์กรแรงงานระหว่างประเทศที่ยังคงไม่ปรับเปลี่ยน นอกจากนี้แรง งานที่มีอายุการทำงานเพียง 1 ปี เป็นเป้าหมายในการลดจำนวนคนของนายจ้างเช่นกัน เนื่องจากมองว่ามีประสบ การณ์น้อยและจ่ายชดเชยต่ำ ส่วนแรงงานที่ตกงานอยู่แล้วอาจกลายเป็นแรงงานที่ตกงานถาวร หากรัฐบาลไม่มีมาตรการเข้ามาดูแลเพิ่มเติม ทั้งนี้ปี 2564 คาดว่าอัตราการว่างงานของแรงงานไทยยังคงสะสมอยู่ในระดับ 2.9 ล้านคน แม้สถานการณ์วิกฤติทางด้านเศรษฐกิจของไทย จะเริ่มมองเห็นสัญญาณบวก มีการฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยเป จากความสำเร็จในการควบคุมการระบาดของโควิด-19 ของรัฐบาลไทย และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ที่ส่งผลดีต่อการส่งออก รวมถึงความคืบหน้าในการผลิตวัคซีนต้านโควิด-19 ที่จะส่งผลดีกับภาคการท่องเที่ยวในระยะต่อไปนั้น ดังนั้น แม้จะมีสัญญาณการฟื้นตัวด้านเศรษฐกิจของไทย และข่าวดีการเริ่มผลิตวัคซีนต้านโควิด-19 แต่ก็ไม่อาจมั่นใจได้ว่า การฟื้นตัวจะทันกับวิกฤติว่างงานหรือไม่ โดยเฉพาะแรงงานในภาคบริการและการท่องเที่ยว ที่รัฐบาลต้องออกมาตรการมาช่วยเหลือ ให้ตรงเป้าหมายและประสบความสำเร็จให้ได้เช่นเดียวกับโครงการคนละครึ่งที่กำลังติดลมบน