น้อมนำพระราชดำรัส"ร.10"ตามรอย"ร.9"ทำจริงเห็นผล
นายวณิชย์ อ่วมศรี รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(กอศ.) เปิดเผยว่าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงมีพระราชดำรัสเกี่ยวกับเรื่องการศึกษา ว่าการศึกษาต้องมุ่งสร้างพื้นฐานให้แก่ผู้เรียน 2 เรื่องคือ 1.การมองในเชิงบวก หรือมองในสิ่งที่ดี และ 2.ต้องสร้างพื้นฐานชีวิต หรืออุปนิสัยที่มั่นคงเข้มแข็ง เช่น ความมีวินัย ความมีคุณธรรมจริยธรรม ขณะเดียวกันยังมีพระราชดำรัส ให้เดินตามรอย "รัชกาลที่ 9" โดยขอให้ทำอย่างจริงจังและให้เห็นผลเป็นรูปธรรม นั้นในการมอบนโยบายให้แก่สถาบันการอาชีวศึกษาเมื่อเร็ว ๆ นี้ ตนได้ย้ำไปว่า นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ ได้มอบให้สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.) น้อมนำพระราชดำรัส ดังกล่าวมาเป็นนโยบายด้วย
รองเลขาธิการ กอศ. กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ยังได้ย้ำนโยบายของ รมว.ศึกษาธิการ ที่ต้องการให้เน้นเรื่องภาษาอังกฤษ การเตรียมเด็กก่อนจบเพื่อการมีงานทำ สถานศึกษาคุณธรรม การแก้ปัญหาสถานศึกษาที่มีปัญหาวิกฤตทางการศึกษาที่ต้องการได้รับการพัฒนาและช่วยเหลือเป็นพิเศษอย่างเร่งด่วน และโครงการโรงเรียนในโรงงาน และโรงงานในโรงเรียน เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังย้ำให้สถาบันการอาชีวศึกษา เข้าไปช่วยเรื่องการผลิตและพัฒนาหลักสูตร รวมถึงฐานสมรรถนะในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ(ปวช.) ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง(ปวส.) และปริญญาตรี เพื่อให้เกิดความสอดคล้องและต่อเนื่องในการจัดการศึกษา
"ที่ผ่านมาสถานศึกษาจะจัดทำหลักสูตรระดับ ปวช.และปวส.กันเอง ซึ่งทำให้เกิดความซ้ำซ้อน แต่หลังจากนี้จะเน้นการทำหลักสูตรตามสมรรถนะ โดยมีผู้แทนจากภาคประกอบการ สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน และหน่วยงานที่ควบคุมมาตรฐานทั้งระดับชาติและนานาชาติ เข้ามาร่วมด้วย โดยจะวิเคราะห์แต่ละวิชาชีพว่าจะต้องมีสมรรถนะอะไรบ้างที่จบออกไปแล้วสามารถทำงานได้ทันที ซึ่งจะมีการแบ่งว่าแต่ละระดับชั้นจะมีสมรรถนะอย่างไร รวมถึงกำหนดมาตรฐานครุภัณฑ์ขั้นต่ำในสาขาวิชานั้น ๆ ด้วยเป็นต้น"นายวณิชย์ กล่าว