จากปัญหาราคาน้ำมันดีเซลที่ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง หลังหมดมาตรการตรึงราคาไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตรจากรัฐบาล โดยคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) เห็นชอบให้ปรับอัตราเงินกองทุนน้ำมันฯ ประเภทน้ำมันดีเซลเพื่อให้ราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศเกิน 30 บาทต่อลิตร ได้ตั้งแต่เดือนเมษายน 2567 เป็นต้นไป นั้น ทำให้ราคาน้ำมันกลุ่มดีเซลอยู่ที่ลิตรละ 30.44 บาท ส่งผลให้ผู้ประกอบการภาคขนส่งต้องแบกรับภาระค่าน้ำมันที่สูง ซึ่งต้องทำให้มีการปรับราคาค่าขนส่งขึ้น เพื่อลดภาระของผู้ประกอบการ และยังส่งผลต่อราคาสินค้า ที่จำเป็นต้องปรับราคาขึ้นตามไปด้วย

ทั้งนี้ “นายสิรภพ พิชัยรัตนพงศ์” เลขาธิการสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย บอกว่า ขณะนี้ภาคขนส่งปรับขึ้นค่าขนส่งสินค้าแล้ว 3 % จากราคาน้ำมันดีเซลที่ปรับขึ้น แต่หากราคาน้ำมันดีเซลขยับขึ้นอีก ก็จะส่งผลให้ต้นทุนค่าขนส่งสินค้าเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉลี่ยแล้วทุกการขึ้นราคาน้ำมันดีเซล 1 บาทต่อลิตร ส่งผลต่อต้นทุนการขนส่งเพิ่มขึ้น 3%

“ทางสหพันธ์ขนส่งติดตามนโยบายของภาครัฐเกี่ยวกับการดูแลราคาน้ำมันดีเซล โดยหากเป็นการปรับขึ้น 1 ถึง 2 บาท หรือไม่เกิน 32 บาทต่อลิตร ผู้ประกอบการภาคขนส่งรับมือส่วนต่างต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นได้ จึงอยากให้ภาครัฐดูแลให้ราคาน้ำมันดีเซลไม่สูงเกิน 32 บาทต่อลิตร แต่หากราคาทะลุไปถึง 34-35 บาทต่อลิตรจะส่งผลอย่างมากต่อภาคการขนส่ง และต้นทุนการขนส่งจากราคาน้ำมันอาจสูงขึ้นอีก 15% ซึ่งตอนนี้ภาคเอกชน และสหพันธ์ขนส่งกำลังหารือถึงการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เพื่อให้รัฐบาลเข้ามาดูแลราคาน้ำมันดีเซลของภาคขนส่ง”

ล่าสุดทางสหพันธ์ขนส่งฯได้ทำหนังสือเพื่อ ขอพบ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เพื่อหารือถึงนโยบายการดูแลราคาพลังงานของรัฐบาล ต้องการทราบแนวนโยบายที่ชัดเจนและ เป้าหมายราคาน้ำมันดีเซล ของทั้งปี 2567 ที่รัฐบาลจะเข้ามาดูแลเพื่อให้ภาคเอกชนสามารถบริหารจัดการต้นทุนได้

สำหรับต้นทุนภาคการขนส่งทั้งหมดราคาน้ำมันดีเซลถือว่าเป็นสัดส่วนประมาณ 40% โดยปัจจุบันมีรถบรรทุกขนส่งที่ลงทะเบียนไว้กับกรมการขนส่งทางบกมีประมาณ 1 ล้าน 4 แสนคัน แต่วิ่งขนส่งสินค้าจริงเพียงแค่ 70% เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ยังฟื้นตัวไม่มากนัก จึงอยากให้รัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจซึ่งเป็นเรียลเซ็กเตอร์ ทั้งภาคการผลิตภาคการส่งออกซึ่งถือเป็นสัดส่วนสำคัญของ GDP ถึง 60 ถึง 70%

ขณะที่ “นายสนั่น อังอุบลกุล” ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า แม้แนวโน้นต้นทุนวัตถุดิบเช่น น้ำมันดีเซลจะขยับสูงขึ้น โดยที่ภาครัฐจะไม่ต่อมาตรการตรึงราคาน้ำมันดีเซลแล้วก็ตาม ประกอบกับปัญหาความผันผวนอัตราแลกเปลี่ยนอ่อนค่าลงแม้จะส่งผลดีราคาสินค้าส่งออกได้ราคาสูงขึ้น หรือจากสภาพอากาศในปีนี้แล้งและร้อนนาน ส่งผลกระทบต่อพืชผลทางการเกษตรน้อย แต่มีราคาแพงขึ้น ซึ่งปัจจัยดังกล่าวถือว่ากระทบต่อต้นทุนของภาคอุตสาหกรรมโดยรวมของประเทศอย่างมาก และในฐานะภาคเอกชนในหลายอุตสาหกรรมโดยเฉพาะอาหารคงจะพยายามช่วยกันตรึงราคาสินค้าไว้ให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้เพื่อลดผลกระทบให้กับประชาชนทั่วประเทศให้น้อยที่สุดด้วยเช่นกัน

โดยผลกระทบต้นทุนดังกล่าวภาคเอกชนอยากให้รัฐบาลเร่งหามาตรการต่างๆเข้ามาช่วยเหลือทุกกลุ่มภาคอุตสาหกรรมไม่ให้ได้รับผลกระทบมากจนเกินไป โดยเฉพาะเมื่องบประมาณปี 2567 สามารถมีผลบังคับใช้จริงต้องการให้ภาครัฐเร่งเบิกจ่ายเงินงบประมาณ เพื่อกระจายลงในพื้นที่ต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว แม้จะมีปัจจัยภายนอกประเทศ เช่น สงครามที่เกิดขึ้นยังมีผลกระทบต่อราคาน้ำมันในตลาดโลกก็ตาม ดังนั้นภาคเอกชนไม่อยากเห็นการใช้เงินกองทุนน้ำมันมาพยุงราคาน้ำมันอีกแต่หากจะปรับโครงสร้างราคาน้ำมันให้เป็นธรรมยิ่งขึ้นน่าจะเป็นเรื่องที่เหมาะสมกว่า โดยภาคเอกชนเห็นด้วยที่จะปรับโครงสร้างราคาน้ำมันที่ใช้อยู่ให้ดีและสอดคล้องกับความเป็นจริง

มาดูด้านผลกระทบต่อราคาสินค้าอุปโภค-บริโภค จากปัญหาราคาน้ำมันดีเซล-ค่าขนส่ง ปรับตัวสูงขึ้น นั้น “พ่อค้าในตลาดสด 2”  กล่าวว่า เป็นธรรมดาต้องมีผลกระทบอยู่แล้ว บางอย่างมันควบคุมได้ แต่บางอย่างมันควบคุมไม่ได้ ซึ่งน้ำมันดีเซลมีผลกระทบกับค่าขนส่ง มันแยกออกจากตลาดโลกไม่ได้  มีลูกค้าบ่น ก็ต้องยอม จะให้กองทุนน้ำมันอุดหนุนตลอดมันก็เป็นไปไม่ได้ พอขึ้นค่าขนส่งขึ้น ราคาสินค้ามันก็ปรับขึ้นเป็นธรรมชาติ

พ่อค้าขายหมู กล่าวว่า ราคาหมูต้นทางที่ฟาร์มจะปรับขึ้นอาทิตย์นี้ 4 บาท เป็น 14 บาท และก็หน้าเขียงขึ้นไม่ได้ เพราะว่าราคาในห้างยังสูง เราต้องรับภาระของเราเอง เพราะว่าเราไม่สามารถขึ้นราคาหน้าเขียงได้ เพราะว่าลูกค้าไม่มีกำลังที่จะซื้อตอนนี้ อยากฝากบอกรัฐบาลว่าต้องช่วยเกี่ยวกับเรื่องต้นทุนในห้าง

ท้ายสุดคนที่รับภาระจากปัญหาราคาน้ำมันดีเซลปรับขึ้นราคาในครั้งนี้ คือ “ประชาชน” ตาดำๆ