สัปดาห์พระเครื่อง / อ.ราม วัชรประดิษฐ์

ตามประวัติศาสตร์จีนกล่าวไว้ว่า ในราวพุทธศตวรรษที่ 12 หลวงจีนเหียนจัง (HIUAN TSANG) ได้เดินทางไปสืบพระพุทธศาสนายังประเทศอินเดีย และได้บันทึกการเดินทางของท่านตอนหนึ่งว่า

"ทางทิศตะวันตกของอิศานปุระ คือประเทศเขมร และทางทิศตะวันออกของศรีเกษตร คือประเทศพม่าในปัจจุบัน ยังมีอาณาจักรหนึ่งชื่อว่า โตโลโปตี้ (T'O-Lo-Po-Ti) นักปราชญ์ทางโบราณคดีสันนิษฐานว่า น่าจะตรงกับคำว่า ทวารวดี"

พระพุทธรูปสมัยทวารวดี หน้า-หลัง

เมื่อเกี่ยวโยงมาถึงประเทศไทย ตามหลักฐานทางโบราณคดีได้มีการค้นพบเงินเหรียญโบราณ 4 เหรียญ ที่จังหวัดนครปฐม 2 เหรียญ, ที่อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี 1เหรียญ และที่อำเภออินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี อีก 1 เหรียญ เหรียญทั้งหมดนี้มีจารึกเป็นภาษาสันสกฤตว่า "ศรีทวารวดี ศวรปุณย" แปลเป็นภาษาไทยได้ว่า บุญกุศลของพระราชาแห่งทวารวดี และยังค้นพบโบราณวัตถุและพุทธศาสนาแบบเถรวาทในภาคกลางอีกเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี แต่ศูนย์กลางอาณาจักรทวารวดีจะอยู่ที่ใดนั้นไม่มีหลักฐานปรากฏอย่างเด่นชัด แต่นักปราชญ์ท่านได้สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นที่จังหวัดนครปฐม เนื่องด้วยปรากฏมีเมืองโบราณที่พระประโทนซึ่งเป็นศูนย์กลางและเป็นเมืองขนาดใหญ่ มีแผนผังเป็นรูปไข่และมีคูล้อมรอบอันน่าจะเป็นรูปแบบของผังเมือง และยังได้ค้นพบจารึกบนแผ่นทองแดง ใช้ตัวอักษรที่มีอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ 12 อีกด้วย

พระพุทธรูปสมัยทวารวดี

“พระพุทธรูปแบบทวารวดี” นี้ ได้รับอิทธิพลจากพระพุทธรูปอินเดียยุคสมัยคุปตะ ซึ่งเจริญและแพร่หลายอยู่ทางภาคกลางและภาคตะวันตกของประเทศอินเดียระหว่างพุทธศตวรรษที่ 9-13  พระพุทธรูปสมัยทวารวดีส่วนใหญ่มักสร้างด้วยการแกะสลักจากศิลาและหล่อด้วยสัมฤทธิ์ และมีขนาดเล็ก แต่อย่างไรก็ดี ในประเทศไทยได้มีการขุดค้นพบพระพุทธรูปสัมฤทธิ์สมัยทวารวดีองค์หนึ่งที่เมืองฝ้าย อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ มีความสูงถึง 1 เมตร ซึ่งนับได้ว่ามีขนาดที่สูงที่สุดที่มีการขุดพบในประเทศไทย พุทธลักษณะพิเศษที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ มีดังนี้

จีวรจะแนบสนิทกับพระวรกาย ไม่มีรัศมีบนพระเกศมาลา แต่จะทำเป็นรูปดอกบัวตูมหรือลูกแก้วพระพักตร์ แบน พระขนง เป็นเส้นนูน และลากติดต่อกันเป็น “รูปปีกกา” พระนาสิก แบน พระเนตร โปน และหลังพระเนตรนูนเด่น พระโอษฐ์ หนา เค้าวงพระพักตร์ ได้รับอิทธิพลจากพระพุทธรูปสมัยคุปตะของอินเดียอย่างมากครับผม