วันที่ 23 เม.ย.67 ที่อาคารสัมมนาและฝึกอบรม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (เมืองทองธานี) นำโดย พล.ต.อ.ธนา ชูวงศ์ รอง ผบ.ตร., พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท., พล.ต.ต.อรรถสิทธิ์ สุดสงวน รอง ผบช.สอท., พล.ต.ต.ชัชปัณฑกาณฑ์ คล้ายคลึง ผบก.สอท.1, พล.ต.ต.สถิตย์ พรมอุทัย ผบก.สอท.3, พล.ต.ต.จิตติพนธ์ ผลพฤกษา ผบก.สอท.4 และ พ.ต.อ.ชัยรัตน์ วรุณโณ รอง ผบก.สอท.2 ร่วมกับ นายวิทยา นีติธรรม ผู้อำนวยการกองกฎหมายและโฆษกประจำสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมแถลงข่าว ปฏิบัติการ BLACK HAT ล่าล้างขบวนการหลอกลงทุนคริปโตตรวจยึดทรัพย์สินกว่า 125 ล้าน เพื่อเตรียมเฉลี่ยคืนแก่ผู้เสียหาย” 

พล.ต.ท.วรวัฒน์ กล่าวว่า ตามนโยบายของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี, นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร รรท.ผบ.ตร. ได้ให้ความสำคัญและเร่งรัดให้ป้องกันปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี โดยเฉพาะการหลอกลวงให้ประชาชนลงทุนทรัพย์สินในรูปแบบต่าง ๆ ที่อ้างว่าได้รับผลกำไรผลตอบแทนในอัตราสูง กอปรกับปัจจุบันการลงทุนซื้อขายเงินดิจิทัลหรือคริปโตเคอเรนซีนั้นกำลังได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในกลุ่มนักลงทุน ทำให้มิจฉาชีพนำมาใช้เป็นอุบายในการหลอกลวง โดย พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. ได้สั่งการเจ้าหน้าที่ตำรวจในสังกัดเร่งรัดปราบปรามอย่างเข้มข้นและต่อเนื่องมาโดยตลอด โดยเน้นย้ำให้จับกุมดำเนินคดีให้ได้ทั้งขบวนการ เพื่อสามารถนำเงินมาคืนแก่ผู้เสียหายให้ได้โดยเร็ว

 

สืบเนื่องจาก เมื่อปลายปี 2566 เจ้าหน้าที่ตำรวจไซเบอร์ได้รับแจ้งความจากกลุ่มผู้เสียหาย จำนวน 5 ราย ซึ่งพบว่ามีความเชื่อมโยงหลายท้องที่และมีรูปแบบแผนประทุษกรรมในรูปแบบเดียวกัน กล่าวคือ โดนมิจฉาชีพสร้างโปรไฟล์ปลอมแล้วหลอกลวงให้ลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัล หรือ Crypto currency โดยมิจฉาชีพสร้างแพลตฟอร์มปลอมขึ้นมาเพื่อหลอกผู้เสียหายว่าได้กำไรจากการลงทุน จากนั้นมิจฉาชีพจะหลอกล่อให้ผู้เสียหายนำเงินมาลงทุนเพิ่ม จนกระทั่งท้ายที่สุดไม่สามารถถอนคืนเงินลงทุนคืนได้ สร้างความเสียหายรวมกันมูลค่ากว่า 530 ล้านบาท โดยจากข้อมูลพบว่ามี 1 ในผู้เสียหายที่เป็นผู้สูงอายุโดนหลอกให้ลงทุนมากถึง 308 ล้านบาท นอกจากนี้ จากการตรวจสอบผู้เสียหายที่ถูกหลอกลวงในลักษณะเดียวกัน เบื้องต้นยังพบว่ามีอีกจำนวน 163 เคสไอดี รวมความเสียหายอีกประมาณ 168 ล้านบาท

 

และในห้วงเวลาใกล้เคียงกัน บช.สอท. ได้เปิดปฏิบัติการทลาย 2 เว็บพนันออนไลน์ เครือข่าย ufabet-jcและ play.beer777 พบยอดเงินหมุนเวียนกว่า 13,000 ล้านบาทต่อปี โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถจับกุมผู้ต้องหาได้หลายราย ทั้งกลุ่มผู้รับผลประโยชน์ กลุ่มผู้จัดการเรื่องการเงิน จนไปถึงเจ้าของบัญชี พร้อมตรวจยึดเงินสด117,835,200 บาท รถยนต์ PORSCHE รุ่น CAYANNE จำนวน 1 คัน มูลค่าประมาณ 8,000,000 บาท และของกลางอื่นๆ อีกหลายรายการ รวมมูลค่าทรัพย์สินกว่า 150 ล้านบาทพล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท.ได้สั่งการให้เจ้าหน้าในสังกัดที่ทำการสืบสวนจับกุมและขยายผลจากกรณีดังกล่าวเรื่อยมา

 

ต่อมา จากการสืบสวนขยายผลและวิเคราะห์เส้นทางการเงิน เจ้าหน้าที่ตำรวจได้พบสิ่งที่น่าสนใจ กล่าวคือ เส้นทางการเงินของคดีหลอกลงทุนคริปโตดังกล่าวมีความเชื่อมโยงกับเส้นทางการเงินในคดีเว็บพนันออนไลน์ที่เคยเปิดปฏิบัติการจับกุมข้างต้น โดยพบว่าเงินที่ถูกหลอกลวงจากการการลงทุนคริปโตได้ถูกนำมาผ่านกระบวนการฟอกเงิน โดยมีกลุ่มคนร้ายแบ่งหน้าที่กันทำอย่างชัดเจน

โดยในคดีนี้ ชุดสืบสวนสอบสวนมีข้อมูลพยานหลักฐานว่า นายกัญจน์นิพิฐ (สงวนนามสกุล) ผู้ต้องหาในคดีเว็บพนันออนไลน์ดังกล่าวข้างต้น ยังมีหน้าที่เป็นผู้จัดการทางการเงินให้แก่กลุ่มอาชญากรข้ามชาติต่างๆ ที่มีความเชื่อมโยงจากการฟอกเงินที่ได้จากการกระทำความผิดในหลายคดี จึงทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเชื่อได้ว่า ทรัพย์สินที่ตรวจยึดในคดีนี้ได้มาจากการหลอกลงทุนทรัพย์สินดิจิทัล โดยผ่านกระบวนการฟอกเงินที่สลับซับซ้อนด้วยวิธีการใช้โพยก๊วนสมัยใหม่ (คริปโทเคอเรนซี) เพื่อแปลงสภาพทรัพย์สินที่ ได้มาจากการกระทำความผิด

 

ต่อมา พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่เร่งรัดขยายผลกรณีดังกล่าว จนนำมาสู่ปฏิบัติการ BLACK HAT ล่าล้างขบวนการหลอกลงทุนคริปโต โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจไซเบอร์ได้รายงานข้อมูลความเชื่อมโยงคดีระหว่างการหลอกลงทุนเงินดิจิทัล กับคดีการพนันออนไลน์ดังกล่าวไปยังสำนักงาน ปปง.และต่อมาสำนักงาน ปปง. ได้มีคำสั่งที่ ย.93/2567 ลงวันที่ 22 เม.ย.67 เพื่อยึดและอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดไว้ชั่วคราวที่ เจ้าหน้าที่จึงยึดเงินสดกว่า 117 ล้านบาท พร้อมทั้งรถยนต์ Porsche จำนวน 1 คัน มูลค่า 8 ล้านบาท รวมทรัพย์สินทั้งสิ้น มูลค่ากว่า 125 ล้านบาท เพื่อเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบและนำมาเฉลี่ยทรัพย์คืนให้แก่ผู้เสียหายต่อไป 

 

นอกจากนี้ ยังสามารถรวบรวมพยานหลักฐานออกหมายจับผู้ต้องหาเป็นเครือข่ายได้จำนวนมาก และได้ระดมกำลังตำรวจไซเบอร์ทั่วประเทศติดตามจับกุมผู้ต้องหาตามหมายจับ จนสามารถจับกุมได้จำนวน 23 ราย ในความผิดฐาน “ร่วมกันฉ้อโกงประชาชนโดยการแสดงตนเป็นบุคคลอื่น ร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือน หรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชนและสมคบกันโดยการตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำผิดฐานฟอกเงินและได้มีการกระทำความผิดฐานฟอกเงินเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกันและร่วมกันฟอกเงิน” นำส่งดำเนินคดีตามกฎหมาย 

 

การปฏิบัติการในครั้งนี้สำเร็จลุล่วงลงได้จากความร่วมมือจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน ทั้งภายในและต่างประเทศ จนสามารถจับกุมผู้ต้องหาและตรวจยึดอายัดทรัพย์สินจำนวนมาก ขอขอบคุณ สำนักงาน ปปง.ที่เร่งรัดขับเคลื่อนจนออกคำสั่งยึดและอายัดทรัพย์สินที่ได้จากการตรวจยึดเพื่อเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบและนำมาเฉลี่ยทรัพย์คืนให้แก่ผู้เสียหายต่อไป