ด้วยการพัฒนาศักยภาพพื้นที่ในอาณาจักรเมืองทองธานี โดย บริษัท บางกอกแลนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ BLAND  อย่างต่อเนื่องในทุกมิติ โดยเฉพาะการพัฒนาพื้นที่ บริการ อิมแพ็ค เพื่อให้ตอบโจทย์ รองรับการจัดงานได้อย่างหลากหลายในทุกประเภทงาน ทั้ง เอ็กซิบิชั่นเทรด เอ็กซิบิชั่นคอนซูเมอร์ อินเซนทีฟ คอนเสิร์ต เอนเตอร์เทนเมนต์อีเวนต์รูปแบบใหม่ๆ  จึงทำให้เวลานี้ อิมแพ็ค เมืองทองธานี ในฐานะสถานที่จัดงานพร้อมที่จะร่วมเป็นส่วนหนึ่งในกลไกสร้างประเทศไทยให้เป็นจุดหมายปลายทางของการจัดงานระดับโลก และพร้อมรองรับเมกะอีเวนต์ในทุกรูปแบบ เพื่อร่วมพัฒนาเศรษฐกิจตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ  ที่มุ่งใช้ต้นทุนทางวัฒนธรรมยกระดับเศรษฐกิจ

สร้างโครงการมิกซ์ยูสรอบทะเลสาบ

นายพอลล์ กาญจนพาสน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น แมเนจเม้นท์ จำกัด  ภายใต้ บริษัท บางกอกแลนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ BLAND  กล่าวว่า การเกิดขึ้นของรถไฟฟ้าสายสีชมพู เชื่อมต่อเข้าเมืองทองธานี ที่กำลังจะเปิดให้บริการในช่วงไตรมาส 2-3 ปี 2568 ทำให้อาณาจักรกว่า 4 พันไร่ในพื้นที่เมืองทองธานีเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อีกครั้ง

พอลล์ กาญจนพาสน์

จากอดีตการลงทุนหลังเกิดสถานการณ์วิกฤติต้มยำกุ้งส่วนใหญ่จะใช้เงินสดในการพัฒนาธุรกิจ ทำเองทั้งหมด แต่ในปัจจุบันสถานการณ์เปลี่ยนไป รวมถึงโครงการที่ใหญ่ขึ้นจึงทำให้การลงทุนด้วยเงินสดอย่างเดียวไม่พอ จำเป็นต้องมีพันธมิตร ที่มีความเชี่ยวชาญเข้ามาร่วมพัฒนาในการขยายการลงทุนในพื้นที่ฝั่งทะเลสาบเมืองทองธานี ที่มีพื้นที่ประมาณ 600 ไร่ แต่จะนำมาพัฒนาเพียง 200-300 ไร่ ซึ่งขณะนี้กำลังทำมาสเตอร์แพลนใหม่อีกรอบ จากแพลนเดิมที่ทำไว้ก่อนเกิดสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา

โดย นายพอลล์ กล่าวว่า การลงทุนหลักรอบทะเลสาบ เมืองทองธานี วางแผนไว้เป็นโครงการมิกซ์ยูส ที่จะประกอบไปด้วยรีเทล การสร้างเอ็กซิบิชั่น คอนเวนชั่นเพิ่ม รวมถึงอาคารสำนักงาน โรงแรมระดับ 5 ดาว ขนาด 400-500 ห้องมูลค่าการลงทุนรวมกว่าหนึ่งหมื่นล้านบาท ด้วยเป็นโครงการขนาดใหญ่ และมีหลายโครงการ เช่น รีเทล ที่ไม่ถนัด ก็จะมีการเจรจากับผู้เชี่ยวชาญด้านรีเทลมาร่วมลงทุน   เช่น เคยหารือกับกลุ่มเซ็นทรัล แต่ด้วยมาสเตอร์แพลนใหม่ทำยังไม่แล้วเสร็จ ซึ่งถ้าเสร็จแล้วก็คงจะมีการหารือกันเพิ่มเติมอีกครั้ง รวมถึงยังวางแผนพัฒนาตึกชั้นเดียวหรือ 2 ชั้นในพื้นที่ของเมืองทองธานีที่อยู่มานาน  อาทิ เอาท์เลต อาจจะรื้อทุบตามความเหมาะสมของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เพื่อสร้างโครงการใหม่ๆ ต่อยอดธุรกิจอย่างต่อเนื่องในโอกาสต่อไป

นอกจากนี้ยังมีการมองไปถึงการขยายธุรกิจ  ล่าสุดร่วมทุน Live Nation ของต่างประเทศ ตั้งบริษัท อิมแพ็ค ไลฟ์ เนชั่น ดำเนินธุรกิจจัดงานคอนเสิร์ต-ดนตรี-งานแสดงโชว์ หรือการร่วมทุนกับเอ็กซ์โปลิงค์ จัดงานแสดงงานนิทรรศการ เป็นต้น เพื่อเป้าหมายการพัฒนาเมืองทองธานีที่จะยกระดับให้เป็นสมาร์ท ซิตี้ ด้วยการหารือกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช. และ เอไอเอส เพิ่มเติมจากปัจจุบันที่เมืองทองธานีมีโครงสร้างพื้นฐานสำคัญอย่างรถไฟฟ้าสายสีชมพูกำลังจะเปิดให้บริการสถานีที่ 1 อิมแพ็ค เมืองทองธานี (ชาเลนเจอร์ อาคาร 1) ในปี 2568 ซึ่งน่าจะแล้วเสร็จภายในไตรมาส 2  

 อีกทั้งยังมีการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ตามสมัยและดูแลด้านสิ่งแวดล้อม ที่จะทำใน 7 หัวข้อหลัก อาทิ การลดพลังงาน, ดิจิตัล, Food Waste, การลงทุน CCTV ซึ่งเมืองทองธานีมีสายไฟเบอร์ออฟติกรอบเมืองทองรองรับอยู่แล้ว การพัฒนาแอปพลิเคชันให้ลูกบ้านใช้ค่าส่วนกลาง ขยายพื้นที่ทางดิจิทัลมากขึ้น  เพราะปัจจุบันในเมืองทองธานีมีประชากรที่อยู่อาศัยและเข้ามาทำงานมากถึง 3 แสนคน และยังต้อนรับนักธุรกิจ นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติที่เข้ามาใช้บริการภายในพื้นที่ อิมแพ็ค เมืองทองธานี มากกว่า 10 ล้านคนต่อปี

 ส่วนการบริหารศูนย์อิมแพ็ค เมืองทองธานี ยอดจองพื้นที่โดยรวมในปีนี้เติบโตดีขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะคอนเสิร์ตที่แนวโน้มเติบโตไม่ตํ่ากว่า 20% จากปีก่อน โดยเฉพาะการจัดคอนเสิร์ตในอารีน่าช่วงเสาร์-อาทิตย์จะเต็มไปถึงสิ้นปี ทั้งการผลักดันให้ไปจัดที่ชาเลนเจอร์ และในฮอลล์ต่างๆ รวมถึงการจัดอีเว้นท์ในพื้นที่ เช่น การจัดเทศกาลอาหารอิมแพ็ค X เชลล์ชวนชิมที่เพิ่งผ่านไป ซึ่งการที่รัฐบาลผลักดันเรื่องซอฟต์เพาเวอร์ ใน 11 สาขา เป็นการช่วยทำให้เกิดอีเว้นต์อย่างต่อเนื่อง ซึ่งทางอิมแพ็คมีศักยภาพในการรองรับการจัดงานดังกล่าว

การแข่งขันสูงเพิ่มทางเลือกนักลงทุน

ล่าสุด  นายพอลล์ กล่าวว่า จะมีการจัดงานเทศกาลดนตรีระดับโลก Sonic Bangkok 2024 วันที่ 24-25 สิงหาคม 2567 ที่อาคารอิมแพ็ค ชาเลนเจอร์ฮอลล์ 1-3 เป็นต้น ส่วนการแข่งขันในธุรกิจนี้ แม้ปัจจุบันจะมีอารีน่าใหม่เพิ่มขึ้น แต่ด้วยความที่อิมแพ็ค เปิดมานาน ไม่เหมือนอารีน่าใหม่ ที่มีการลงทุนใหม่ มีเรื่องดอกเบี้ยที่ต้องจ่าย จึงทำให้เกิดค่าเช่าที่แพงขึ้น แม้ว่าในช่วงแรกลูกค้าอาจไปลองของใหม่ แต่ท้ายสุดผู้จัดงานก็ต้องดูเรื่องของต้นทุนที่เหมาะสมเป็นหลัก ซึ่งทางอิมแพ็คสามารถตอบโจทย์เรื่องดังกล่าวได้เป็นอย่างดี ส่วนตึกโรงแรมอีสติน เลคไซด์ ริมทะเลสาบ ที่ว่างอยู่ มีขนาด 112 ห้องพัก ซึ่งตอนนี้มีคนอยากมาซื้อโรงแรมอีสติน เลคไซด์ เพื่อพัฒนาใหม่ โดยคิดเป็นมูลค่าการขายประมาณ 1,000 ล้านบาท รวมตึกและที่ดินจำนวน 7 ไร่

ขณะที่แนวโน้มการแข่งขันของธุรกิจสถานที่จัดงานไมซ์ ซึ่งประกอบไปด้วย การประชุม การเดินทางเพื่อเป็นรางวัล การสัมมนา การแสดงสินค้า และอีเวนต์นับจากนี้ หลังจากผู้ประกอบการค่ายต่างๆ ทยอยเปิดตัวสถานที่จัดงานใจกลางกรุงเทพฯ หลังผ่านพ้นวิกฤติโควิด อาทิ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์โฉมใหม่, ยูโอบี ไลฟ์ ในศูนย์การค้า ดิ เอ็มสเฟียร์ และฮอลล์จัดอีเวนต์ ในโครงการวัน แบงค็อก ย่านพระราม 4 แม้คู่แข่งเหล่านี้จะมีข้อได้เปรียบ ในเรื่องทำเลที่ตั้งใจกลางเมือง แต่ด้วยขนาดพื้นที่จัดงานไซส์ไม่ได้ใหญ่มาก จึงมองว่าเป็นเรื่องดีต่ออุตสาหกรรมบันเทิง คอนเสิร์ต และอีเวนต์มากกว่า เพราะจะเป็นการหนุนให้มีจำนวนผู้จัดงานเพิ่มขึ้น ศิลปินทั้งในและต่างประเทศมีรายได้จากการแสดงคอนเสิร์ต ต่อหน้าจำนวนผู้ชมที่เหมาะสมกับต้นทุนการจัดแต่ละงาน ก่อนจะไปสู่การจัดคอนเสิร์ตไซส์ใหญ่ เช่นที่ อิมแพ็ค อารีน่า หรือ อินดอร์สเตเดียม หัวหมาก เป็นต้น