วันที่ 25 มีนาคม 2567 ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวภายหลังประชุมร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ถึงแนวทางแก้ปัญหาการออกใบส่งตัวผู้ป่วยจากโรงพยาบาลปฐมภูมิไปโรงพยาบาลต่าง ๆ ในสังกัดกรุงเทพมหานครว่า จากการเปลี่ยนระบบการให้บริการเมื่อวันที่ 1 มีนาคม ที่ผ่านมา ทำให้เกิดความสับสน โดยเฉพาะเรื่องใบส่งตัวจากโรงพยาบาลปฐมภูมิไปยังโรงพยาบาลต่าง ๆ จึงเกิดประเด็นโรงพยาบาลให้ทำใบส่งตัวใหม่ ซึ่งประชาชนอาจไม่เข้าใจ จึงมาขอใบส่งตัวใหม่จากศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. จากการประชุมหารือกับ สปสช.ครั้งนี้ สรุปว่า ใบส่งตัวที่เคยออกให้ประชาชนไปแล้ว สามารถใช้ได้ตามปกติ ไม่ต้องขอใหม่ จนกว่าใบจะหมดอายุ ถือว่าใบส่งตัวที่ กทม.ให้ไว้กับโรงพยาบาลสังกัด กทม.ทั้งหมด สามารถใช้การได้

 

ส่วนเรื่องการเบิกจ่ายจากคลินิกหรือโรงพยาบาล สปสช.จะเป็นผู้จัดการ ซึ่งกทม.พร้อมให้ความร่วมมือปฏิบัติตามแนวทางของ สปสช. โดยระบบส่งตัวเริ่มจากผู้ป่วยเข้ารับบริการคลินิกอบอุ่นใกล้บ้าน หากคลินิกพิจารณาแล้วว่ารักษาต่อไม่ไหว จะมีการส่งตัวให้ศูนย์บริการสาธารณสุข และหากศูนย์บริการสาธารณสุขพิจารณาแล้วว่ารักษาต่อไม่ไหว จึงจะส่งต่อไปยังโรงพยาบาล ซึ่งเป็นไปตามระบบการส่งต่อ ไม่ได้หมายความว่า ทุกคนต้องไปที่โรงพยาบาลเป็นอันดับแรก แต่จะไปหรือมีการส่งต่อไปที่โรงพยาบาลตามความจำเป็นเท่านั้น เพื่อลดความแออัดในโรงพยาบาล

 

นายแพทย์จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ขณะนี้มีปัญหาเรื่องใบส่งตัวเดิม ที่เคยส่งตัวไปยังโรงพยาบาลต่าง ๆ แล้วเกิดความเข้าใจไม่ตรงกัน จึงมีการเรียกกลับมารับใบส่งตัว ปัจจุบันได้สรุปว่า สถานพยาบาลในสังกัด กทม.ให้ดำเนินการจนกว่าใบส่งตัวเดิมจะหมด ซึ่งสปสช.จะไปทำไปความเข้าใจกับหน่วยบริการส่งต่อต่าง ๆ เพราะมีหลายฝ่ายกังวัลว่าถ้าไม่มีใบส่งต่อ ใครจะเป็นผู้ดูแลเรื่องค่าใช้จ่าย ซึ่งสปสช.จะจัดการเรื่องนี้ นอกจากนี้ ยังมีแนวคิดทำใบส่งตัวอิเล็กทรอนิกส์ เพื่ออำนวยความสะดวกประชาชนเพิ่มเติม เชื่อว่าจะช่วยแก้ปัญหาเรื่องใบส่งตัวได้ในเร็ววัน

 

“การจ่ายเงิน สปสช.จะใช้รูปแบบจ่ายตามการขึ้นทะเบียนในเครือข่าย หากมีการส่งต่อ ประชาชนจะต้องจ่ายเพียงส่วนเดียวเท่านั้น ครั้งละไม่เกิน 800 บาท หากเกินกว่านั้น สปสช.จะตามจ่ายส่วนที่เหลือ ส่วนกรณีประชาชนไม่มีใบส่งต่อ สปสช.ได้จัดเตรียมกองทุนรองรับไว้แล้ว แต่ขอให้เป็นกรณีจำเป็นเท่านั้น ไม่ได้สนับสนุนให้ทุกคนไปที่โรงพยาบาลอย่างเดียว”

 

ส่วนกรณีประชาชนขาดความเชื่อมั่นในการเข้ารักษาในคลินิกหรือสถานพยาบาลใกล้บ้าน จึงต้องการพุ่งเป้าไปรักษาที่โรงพยาบาล นายแพทย์จเด็จ กล่าวว่า ต้องใช้เวลาในการทำความเข้าใจ เพื่อสร้างความเชื่อมั่น แต่ยืนยันว่าทุกสถานพยาบาลให้บริการอย่างดีที่สุด เพราะหากทุกคนมุ่งไปที่โรงพยาบาล การรักษาจะแย่ลงเพราะแออัด จึงขอความร่วมมือประชาชนไปใช้บริการสถานพยาบาลใกล้บ้านก่อน เพราะประหยัดและเดินทางสะดวกกว่า

 

นายชัชชาติ กล่าวว่า หากไม่สามารถพัฒนาระบบเส้นเลือดฝอยหรือสถานพยาบาลปฐมภูมิใกล้ชุมชนให้มีประสิทธิภาพได้ ประชาชนจะไปแออัดในโรงพยาบาลกันหมด ซึ่งเรื่องนี้ต้องร่วมกันแก้ไข เป็นนโยบายที่ กทม.มีการผลักดันเพื่อพัฒนามาตลอด