นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงแนวทางการดำเนินงานในกิจกรรมผู้ว่าฯ สัญจร ระยะที่ 2 ว่า หลังจากได้ลงพื้นที่พบผู้อำนวยการสำนักงานเขตทั้ง 50 เขตแล้วในระยะแรก มีข้อสั่งการกว่า 200 เรื่อง ส่วนระยะที่ 2 จะเป็นการลงพื้นที่จริงเพื่อตรวจความคืบหน้าการแก้ไขตามข้อสั่งการดังกล่าว รวมถึง ลงพื้นที่ชุมชนที่ภาครัฐยังเข้าไม่ถึง เช่น หมู่บ้านจัดสรร คอนโดมิเนียม เนื่องจากจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ไม่ได้จดทะเบียนเป็นชุมชน จึงไม่ค่อยได้รับการติดต่อจากภาครัฐ ทำให้การเก็บข้อมูลต่าง ๆ ของ กทม.ไม่ครบถ้วน ขาดการรับฟังปัญหาของคนกลุ่มที่อยู่อาศัยในพื้นที่ภาคเอกชน ปัจจุบัน กทม.มีชุมชนที่จัดตั้งตามระเบียบ กทม.กว่า 2,700 แห่ง รวมถึงยังมีชุมชนที่เป็นหมู่บ้านจัดสรรและคอนโดมิเนียมด้วย

 

ยกตัวอย่าง จากการลงพื้นที่เขตสายไหม ในกิจกรรมผู้ว่าฯสัญจร ระยะที่ 2 พบว่า ยังมีหมู่บ้านจัดสรรที่ติดปัญหาเรื่องการจัดเก็บขยะ เนื่องจากมีขนาดกว่า 300 หลังคาเรือน อาจมีความล่าช้า ไม่ทั่วถึง และขาดความต่อเนื่อง ซึ่งกทม.มีแนวคิดแก้ปัญหาโดยการขอความร่วมมือจัดจุดรวมขยะในแต่ละหมู่บ้าน เพื่อความสะดวกรวดเร็วในการจัดเก็บ ซึ่งบางหมู่บ้านยังติดปัญหาด้านพื้นที่รวมขยะอยู่ ต้องหาวิธีการต่อไป

 

นายชัชชาติ กล่าวว่า อีกปัญหาสำคัญของหมู่บ้านจัดสรรคือ การเชื่อมระบบระบายน้ำลงคูคลอง เพื่อระบายลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาหรือแม่น้ำอื่น ๆ จำเป็นต้องมีระบบบำบัดน้ำเสียก่อนปล่อยลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะ สำนักงานเขตต่าง ๆ ต้องเข้าไปกำกับดูแลเรื่องระบบบำบัดน้ำเสียของหมู่บ้านให้มีประสิทธิภาพพร้อมใช้งาน ไม่ปล่อยน้ำเสียสร้างความเดือดร้อนให้ผู้อื่น

 

นอกจากนี้ ยังพบปัญหา หมู่บ้านจัดสรรไม่มีตัวแทนในการติดต่อสื่อสารกับสำนักงานเขตอย่างเป็นทางการ ทำให้ปัญหาหลายอย่างไม่ได้รับการแก้ไข หรือขาดการเข้าถึงสิทธิต่าง ๆ จากภาครัฐ กทม.จึงสนับสนุนให้มีการจัดตั้งตัวแทนแต่ละหมู่บ้าน เพื่อรักษาสิทธิในการแสดงความคิดเห็นด้านการพัฒนาต่าง ๆ เช่น เรื่องการจราจร การเชื่อมถนนเข้าหมู่บ้าน และการสัญจรเชื่อมต่อระหว่างถนนใหญ่กับหมู่บ้าน ซึ่งมีรถเข้าออกจำนวนมาก เป็นต้น ซึ่งหมู่บ้านจัดสรรและคอนโดมิเนียมต่าง ๆ ถือเป็นประชากรจำนวนมากที่มีความสำคัญต่อกรุงเทพฯ เช่นกัน กทม.พยายามรับฟังให้มากขึ้น

 

ด้านนายต่อศักดิ์ โชติมงคล ประธานที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า ปัจจุบัน กทม.พยายามผลักดันให้มีการจัดตั้งตัวแทนหมู่บ้านเพื่อนำเสนอปัญหาที่พบ รวมถึงที่ผ่านมา มีการประชุมร่วมกับตัวแทนหมู่บ้านกว่า 100 แห่ง เพื่อรับฟังความต้องการและหาแนวทางร่วมมือกันตามอำนาจที่ กทม.ทำได้ เช่น แนวทางส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน การจัดการขยะ และปัญหาอื่น ๆ โดย กทม.อยู่ระหว่างจัดตั้งคณะขับเคลื่อนการมีส่วนร่วมเพื่อการพัฒนาเขต ทั้ง 50 เขต เพื่อรับฟังและแก้ไขปัญหาแต่ละพื้นที่ ปัจจุบันดำเนินการสรรหาบุคคลครบแล้ว 7 สำนักงานเขต รวมทั้งสิ้น 21 คน

 

โดยคณะดังกล่าว มีแนวคิดหลักคือ มีสมาชิกเป็นตัวแทนจากหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาคเอกชน วิชาการ ประชาชน วัด โรงเรียน หมู่บ้าน ชุมชน เพื่อร่วมกันกำหนดคณะกรรมการชุดย่อยพัฒนาในแต่ละด้าน เช่น สาธารณสุข การจราจร สาธารณูปโภค รวมถึงการประชุมติดตามการแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนกลุ่มต่าง ๆ ในพื้นที่ โดยคณะกรรมการฯดังกล่าวเป็นหน่วยงานโดยตรงของ กทม.จะเน้นให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการส่งเสริมและแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นแต่ละพื้นที่