วันที่ 13 มีนาคม 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ ประกาศข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 พ.ศ. 2567 เมื่อวันที่ 12 มีนาคม ที่ผ่านมา

 

โดยข้อบัญญัติดังกล่าว ระบุว่า กรุงเทพมหานครมีความจำเป็นต้องจ่ายรายจ่ายพิเศษจากเงินสะสมจ่ายขาดของกรุงเทพมหานคร อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 97 และมาตรา 103 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 ประกอบกับข้อ 12 แห่งข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครเรื่อง เงินสะสม พ.ศ. 2562 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง เงินสะสม (ฉบับที่3) พ.ศ. 2564 กรุงเทพมหานคร โดยความเห็นชอบของสภากรุงเทพมหานคร จึงตราข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้

 

ข้อ 1 ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครนี้เรียกว่า "ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 พ.ศ. 2567" ข้อ 2 ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครนี้ กำหนดให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ข้อ 3 งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 พ.ศ. 2567 ให้ตั้งเป็นรายจ่ายพิเศษจำนวน 23,488,692,200 บาท ตามรายละเอียดเอกสารงบประมาณ โดยจำแนก ดังนี้

 

งบประมาณรายจ่ายของหน่วยรับงบประมาณ สำนักการจราจรและขนส่ง รวม 23,488,692,200 บาท งบประมาณภารกิจประจำพื้นฐาน 23,488,692,200 บาท ผลผลิตระบบขนส่งมวลชน 23,488,692,200 บาท

 

ข้อ 4 ให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครควบคุมการใช้จ่ายเงินและการบริหารงบประมาณตามรายการและจำนวนเงินที่กำหนดไว้ในข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครนี้ ข้อ 5 ให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครรักษาการตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครนี้

 

ประกาศ ณ วันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับเงิน จำนวน 23,488,692,200 บาท เป็นเงินในการชำระหนี้ของ กทม. แก่บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BTSC) เพื่อรับมอบทรัพย์สินระบบการเดินรถ (ไฟฟ้าและเครื่องกล) หรือส่วน E&M ในโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากสภากรุงเทพมหานครแล้ว โดยการออกข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครฉบับนี้ เป็นไปตามระเบียบขั้นตอนกฎหมายเพื่อกำหนดกรอบวงเงินในการจ่ายหนี้ ไม่เกินวงเงินที่กำหนดอยู่ในข้อบัญญัติฯ รวมถึง กำหนดให้สามารถเริ่มจ่ายเงินได้ ตั้งแต่วันที่ 13 มี.ค.67 เป็นต้นไป หลังจากนี้ คณะกรรมการควบคุมการใช้จ่ายเงินงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม พ.ศ. 2567 จะทำการพิจารณา จำนวนเงินทั้งหมดที่จะต้องจ่าย วิธีการชำระ และกำหนดวันชำระเงินที่แน่นอนอีกครั้ง