นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวคืบหน้าแนวทางพัฒนาทางเท้ากรุงเทพมหานครว่า ที่ผ่านมามีการปรับปรุงทางเท้าไปแล้วประมาณ 300 กิโลเมตร แบ่งเป็นจุดต่าง ๆ ตามปัญหาที่พบ เช่น เป็นหลุมบ่อ กระเบื้องแตก ไม่สามารถใช้วิธีการซ่อมแบบเสริมเหล็กตามแนวทางก่อสร้างทางเท้าใหม่ได้ เพราะมีจุดชำรุดกระจายกันไป ประกอบกับโครงสร้างทางเท้าเดิมที่ทำไว้ไม่มีการเสริมเหล็ก แต่ใช้วิธีเทคอนกรีตให้เรียบแล้วปูกระเบื้องทับ ซึ่งการซ่อมดังกล่าวจะไม่เหมือนกับวิธีการก่อสร้างทางเท้าใหม่

 

ส่วนการก่อสร้างทางเท้าใหม่ดำเนินการแล้วประมาณ 80 กิโลเมตร ตามย่านต่าง ๆ โดยกทม.ใช้วิธีเสริมเหล็กตลอดแนวทางเท้าเพื่อความแข็งแรง แต่การก่อสร้างทางเท้าแต่ละเส้นทางต้องคำนึงหลายเรื่อง เช่น กำจัดสิ่งกีดขวาง ป้ายที่ไม่จำเป็น โดยมีเงื่อนไขตามนโยบายทางเท้าเดินได้-เดินดี คือ รถวีลแชร์ต้องสามารถผ่านได้ด้วย แต่อุปสรรคที่พบคือ ต้นไม้ใหญ่ขวาง ทำให้ทางเท้าแคบ บางจุดรถวีลแชร์จึงไม่สามารถผ่านได้ ต้องหาทางออกร่วมกับคนในพื้นที่ซึ่งหลายคนไม่ต้องการให้ตัดต้นไม้ใหญ่ แนวทางแก้ไขเบื้องต้นคือ นำไม้พุ่มรอบต้นไม้ใหญ่บนทางเท้าออก แล้วปรับพื้นรอบต้นไม้ให้เรียบ โดยการเทพอรัสแอสฟัลท์ หรือวัสดุเทพื้นที่มีลักษณะผิวหน้าหยาบ มีรูพรุน น้ำซึมผ่านถึงรากต้นไม้ได้ สามารถเพิ่มพื้นที่ทางเท้าให้กว้างขึ้นอย่างน้อย 80-90 เซนติเมตร เพื่อให้รถวีลแชร์ผ่านได้

 

ด้านนายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ในกรณีพื้นที่ทางเท้าแคบมาก เช่น ย่านเอกมัย ไม่สามารถเพิ่มความกว้างให้รถวีลแชร์ผ่านได้ กทม.มีแนวทางขอความร่วมมือกับเอกชนพื้นที่ใกล้เคียง เพื่อขอพื้นที่ขยายทางเท้าให้มีความกว้างอย่างน้อย 80-90 เซนติเมตร จากเดิมที่มีความกว้างประมาณ 60-70 เซนติเมตร เบื้องต้น จากการหารือกับเอกชนในพื้นที่ ได้รับความร่วมมือ อยู่ระหว่างประสานงานและกำหนดแผนการ

 

ทั้งนี้ แนวทางการขอใช้พื้นที่เอกชนเพื่อประโยชน์สาธารณะ เป็นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญของการจัดทำร่างผังเมืองฉบับล่าสุดของกรุงเทพมหานคร เพื่อให้ กทม.สามารถชดเชยให้เอกชนที่สละพื้นที่เพื่อส่วนรวมได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย และ เพื่อแก้ไขปัญหาเมืองเรื่องต่าง ๆ เช่น พื้นที่สีเขียวไม่เพียงพอ ทางเท้าแคบ ถนนแคบ พื้นที่รับน้ำไม่เพียงพอ การอนุญาตให้ตั้งระบบสาธารณูปโภคในพื้นที่เพื่อไม่กีดขวางทางเท้าหรือพื้นที่สาธารณะ เป็นต้น ซึ่งหากเอกชนให้ความร่วมมือ จะสามารถแก้ไขปัญหาเมืองเรื่องต่าง ๆ ได้มากขึ้น แต่ปัจจุบันกฎหมายผังเมืองยังไม่เอื้อเรื่องสิทธิประโยชน์หรือการชดเชยแก่เจ้าของพื้นที่อย่างเป็นทางการ กทม.อยู่ระหว่างแก้ไขปรับปรุงไปพร้อมกับการจัดทำร่างผังเมืองฉบับปัจจุบัน