เมื่อวันที่ 5 มี.ค.67 ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นประธานในพิธีเปิดประชุมทางวิชาการครั้งที่ 62 หัวข้อ “ศาสตร์แห่งแผ่นดิน เพื่อเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนและความเป็นกลางทางคาร์บอน” “Knowledge of the Land for SDGs and Carbon Neutrality”  ที่ ห้อง 306 อาคารสำนักบริการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทั้งนี้ เพื่อระดมความคิดนำองค์ความรู้ศาสตร์แห่งแผ่นดินจุดประกายให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน นำพาประเทศไทยสู่สังคมที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอน  โดยได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้ทรงวุฒิ ดร.สมภพ พัฒนอริยางกูล รองปลัดกระทรวงพลังงาน และ ดร.พงษ์วิภา หล่อสมบูรณ์ ประธานอนุกรรมการแผนงานกลุ่มเศรษฐกิจหมุนเวียน หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) เป็นองค์ปาฐกถาพิเศษ ทั้งนี้ การประชุมทางวิชาการของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ครั้งที่ 62 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 5 –7 มีนาคม 2567 ประกอบด้วยการนำเสนอผลงานทางวิชาการ ภาคบรรยาย 115 เรื่อง ภาคโปสเตอร์ 67 เรื่อง รวม 182 เรื่อง ใน 12 สาขา คือ สาขาพืช สาขาสัตว์ สาขาสัตวแพทยศาสตร์ สาขาประมง สาขาส่งเสริมการเกษตรและคหกรรมศาสตร์ สาขาวิทยาศาสตร์ สาขาวิศวกรรมศาสตร์และสถาปัตยกรรมศาสตร์ สาขาอุตสาหกรรมเกษตร สาขาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สาขาศึกษาศาสตร์ สาขาเศรษฐศาสตร์และบริหารธุรกิจ และสาขามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ พร้อมด้วยการเสวนาพิเศษ สัมมนาพิเศษและบรรยายพิเศษ อีก 15 เรื่อง ภายใต้ธีมการจัดงาน“ศาสตร์แห่งแผ่นดิน เพื่อเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนและความเป็นกลางทางคาร์บอน”

ดร.สมภพ พัฒนอริยางกูล รองปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง แผนพลังงานชาติ: ก้าวสำคัญของพลังงานไทย สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนของประเทศ มีใจ ความสรุปว่า สืบเนื่องจากสหประชาชาติได้ตั้งเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน SDG (Sustainable Development Goals) เพื่อเป็นทิศทางการพัฒนาที่ทุกประเทศต้องดำเนินการร่วมกันตั้งแต่ปี ค.ศ. 2016 ถึงปี ค.ศ. 2030 สำหรับเรื่องเกี่ยวกับพลังงาน คือ  SDG 7 นั้น สร้างหลักประกันว่าทุกคนจะเข้าถึงพลังงานสมัยใหม่ในราคาที่สามารถซื้อหาได้ เชื่อถือได้ และยั่งยืน สำหรับประเทศไทยได้ประกาศเป้าหมายว่า จะต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ร้อยละ 30-40 จากการดำเนินการตามปกติในปีค.ศ. 2030 ประกาศความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ปี ค.ศ. 2050 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ในปี ค.ศ. 2065

ทั้งนี้ กระทรวงพลังงาน ภายใต้แผนพลังงานแห่งชาติ (National Energy Plan) มีแนวทางการพัฒนาระบบพลังงาน 3 มิติ ประกอบด้วย มิติด้านความมั่นคงทางพลังงาน​ มีการยกระดับนิยามความมั่นคงทางพลังงาน​ที่มากกว่า​การจัดหาพลังงาน​ให้เพียงพอ​ต่อการใช้พลังงาน​ โดย​การเพิ่มความยืดหยุ่น​ของระบบพลังงาน​ (Energy​ Resilience)​ มิติด้านการพัฒนา​เศรษฐกิจ​และการเข้าถึงพลังงาน​ ได้แก่การเพิ่มขีดความสามารถ​ใน​การ​แข่งขัน​ภาคพลังงาน​ ผ่านการผลักดัน​ทั้งเชิงนโยบาย​ กฎระเบียบ​และ​กฎหมาย​พร้อม​ทั้งพัฒนา​ระบบ​นิเวศ​ที่เอื้อต่อการลงทุนภาคพลังงาน​ และมิติด้านสิ่งแวดล้อม​และความยั่งยืน​ คือการยกระดับระบบพลังงาน​สู่​ความยั่งยืน​ด้านสิ่งแวดล้อม​ "พลิกโฉม​ภาพลักษณ์​พลังงาน​เป็น​ผู้สร้าง​สีเขียว​ให้แก่โลก​” โดย​การ​ส่งเสริม​การ​ใช้​เชื้อเพลิง​จาก​พลัง​งาน​ทดแทน​ เพื่อ​ลดการปล่อยก๊าซ​คาร์บอน​ไดออกไซด์​ของ​ภาคพลังงาน​

สำหรับแผนพลังงานชาติ ที่มุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน จะครอบคลุมหลายด้าน คือเพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทนและพลังงานสะอาดจากโรงไฟฟ้าใหม่ มีสัดส่วน RE ไม่น้อยกว่า 50% ส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ส่งเสริมการผลิตและการใช้พลังงานทดแทนทุกภาคส่วนให้มากขึ้น เพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานจากทุกภาคส่วนให้เข้มข้นมากขึ้น รวมถึงการดูแลเรื่องความมั่นคงทางพลังงาน เพื่อให้ทุกคนได้เข้าถึงพลังงานอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ ในเรื่องการใช้พลังงานของชาติ ต้องมีการปรับตัวกันทุกภาคส่วน เพราะมีผลกระทบทั่วกัน ทั้งการผลิต การลงทุน ภาคพลังงาน ภาคการเกษตรด้วย ซึ่งอาจต้องใช้ความรู้เชิงวิชาการมาช่วย เพื่อให้การปรับเปลี่ยนสะดวกขึ้น

“สิ่งสำคัญในแผนพลังงานชาติ ก็คือ การพัฒนาเทคโนโลยีและการวิจัยเพื่อนำมาใช้บริหารจัดการพลังงานให้มีต้นทุนที่ถูกกว่า ใครที่สามารถบริหารจัดการพลังงานด้วยต้นทุนต่ำสุดเป็นผู้ชนะ เราคงต้องร่วมมือกันในเรื่องความเป็นกลางทางคาร์บอน ซึ่งนับเป็นความท้าทายของประเทศ แต่เราต้องร่วมมือทำเพื่อลูกหลานของเราเพื่อคนรุ่นต่อไป”

มีข้อสังเกตว่า ในช่วงโควิดมีการปลดคนงานของบริษัทน้ำมัน แต่หลังจากโควิด ก็ไม่มีการจ้างแรงงานคืนกลับมา รวมถึงในช่วงโควิดมีการเพิ่มแรงงานใหม่ด้านพลังงานทดแทนเข้ามา แสดงให้เห็นว่าแวดวงอุตสาหกรรมเก่าความต้องการกำลังคนจะเริ่มลดลง เราจึงต้องเตรียมพร้อมเรื่องแรงงานใหม่ ๆ เพื่อรองรับสำหรับเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่เกี่ยวกับพลังงานด้วย ซึ่งอาจจะต้องมีการ Reskill เพิ่มเติม เพื่อมิให้วงการพลังงานขาดแคลนคนที่มีความรู้เข้าไปทำงาน

ด้าน ดร.พงษ์วิภา หล่อสมบูรณ์ ประธานอนุกรรมการแผนงานกลุ่มเศรษฐกิจหมุนเวียน หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) กล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง “มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนของประเทศไทย ด้วยวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม” มีใจความสรุปดังนี้

ความสำคัญของการส่งเสริมเรื่อง Carbon Neutrality มีสาเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ  การกระทำของมนุษย์เพิ่มก๊าซเรือนกระจกจนทำให้โลกเสียสมดุล เกิดการดูดซับความร้อนสูงจนนำสู่ภาวะโลกรวนที่ทำให้เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ นอกจากนี้ในอนาคตความเสี่ยงจากภาวะโลกรวนจะเป็นความเสี่ยงของปัญหาโลกร้อนในระยะยาว ประเทศไทยเป็นส่วนหนึ่งของหลายๆ ประเทศที่ทำสัญญาร่วมมือในการช่วยลดอุณหภูมิความร้อนของโลก ตลอดจนพัฒนาการปรับตัวให้ประเทศสามารถอยู่ในสภาวะการเปลี่ยนแปลงของโลกได้ และมีกองทุนในการสนับสนุนช่วยให้ประเทศสามารถปรับตัวอยู่กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ ภายใต้เงื่อนไขการทำแผนระยะยาวในการเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน โดยปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้น้อยลง และดูดซับก๊าซคาร์บอนให้ได้ และจากข้อตกลงนี้ทำให้ประเทศไทยวางเป้าหมายที่จะบรรลุ Carbon Neutrality ในปี 2050 และเป็น Net Zero ในปี 2065 ซึ่งยังต้องการงานวิจัยอีกมากในการพัฒนาพลังงานทางเลือกเพื่อให้ประเทศบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน และสถาบันการศึกษาก็เป็นหนึ่งในฟันเฟืองที่จะช่วยทำให้ประเทศชาติมีงานวิจัยที่เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น

กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม หรือ ววน. และงานวิจัยด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นกองทุนที่สนับสนุนงบประมาณด้านวิจัยและนวัตกรรม และด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยในส่วนของการวิจัยและนวัตกรรมแบ่งเป็นทุนสนับสนุนมูลฐาน และทุนสนับสนุนเชิงกลยุทธ์ โดยการให้ทุนเป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์ของแผนด้าน ววน. ในปัจจุบันพบว่าประเทศไทยยังขาดงานวิจัยที่เกี่ยวกับความเป็นกลางทางคาร์บอนอยู่มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสาขาวิชาปิโตรเลียมและสาขาวิชาปฐพีศาสตร์ ที่ถือเป็นองค์ความรู้ทางด้านพลังงานที่สำคัญของประเทศไทยในตอนนี้ และในการประชุมวิชาการมหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ ครั้งที่ 62 นี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการส่งเสริมและสนับสนุนงานวิจัย ตลอดจนงานวิชาการที่จะช่วยพัฒนาประเทศสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน