วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ในกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 1 โดยมีคณะผู้บริหารหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุมผ่านระบบออนไลน์

นายชัชชาติ กล่าวว่า ตลอด 1 ปีที่ผ่านมา กทม.มีมาตรการลดฝุ่น PM 2.5 ไปแล้วกว่า 30 เรื่อง เช่น ตรวจควันดำรถยนต์ 297,935 คัน ตรวจสถานประกอบการ 12,380 ครั้ง สถานที่ก่อสร้าง 5,111 ครั้ง และสนับสนุนรถอัดฟางเพื่อลดการเผาในที่โล่ง และดำเนินการตามโครงการเปลี่ยนไส้กรองและน้ำมันเครื่องรถยนต์ไปแล้ว 168,442 คัน เป็นต้น ทั้งนี้ แนวทางรับมือฝุ่นในช่วงวิกฤต กทม.มีเครือข่ายองค์กรร่วมทำงานในที่พักแล้ว 136 แห่ง หรือจำนวน 53,545 คน ตามเกณฑ์กำหนด ต้องมีค่าฝุ่น 75 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตรขึ้นไป ต่อเนื่อง 3 วัน จำนวน 15 เขต หรือ พื้นที่ตะวันออกของกรุงเทพฯ (ต้นลม) จำนวน 7 เขต จึงจะประกาศทำงานที่บ้าน (WFH) ได้ เพื่อลดการเดินทาง

ด้านสถานศึกษา กทม.ทำห้องเรียนปลอดฝุ่นชั้นอนุบาล 429 โรงเรียน 1,743 ห้อง มีเครื่องปรับอากาศ 697 ห้อง ไม่มีเครื่องปรับอากาศ 1,046 ห้อง รวมทั้งติดตั้งเครื่องปรับอากาศในศูนย์เด็กก่อนวัยเรียน 240 แห่ง โดยศูนย์เด็กก่อนวัยเรียนทุกแห่งมีเครื่องกรองอากาศแล้ว อยู่ระหว่างติดตั้งเครื่องปรับอากาศให้ครบทุกแห่ง อย่างไรก็ตาม มาตรการต่าง ๆ ที่ทุกหน่วยงานร่วมมือกัน ช่วยลดฝุ่นได้บางส่วน สิ่งสำคัญคือประชาชนต้องเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น เลิกเผาในที่โล่ง เป็นต้น โดยสิ่งที่จะเปลี่ยนพฤติกรรมได้มาจากความร่วมมือ และการใช้กฎหมายบังคับ ซึ่งเป็นเรื่องระดับนโยบายภาครัฐ

นายพันศักดิ์ ถิรมงคล ผู้อำนวยการกองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง กรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า รัฐบาลมีแนวคิดที่จะร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ไทย เมียนมาร์ ลาว และจะเพิ่มประเทศกัมพูชาในอนาคต โดยตั้งคณะกรรมการร่วมกันเพื่อร่วมกันลดฝุ่นลอยข้ามแดน จากการเผาในที่โล่ง โดยเฉพาะช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงมีนาคม พบมีการเผามากที่สุด สำหรับพื้นที่กรุงเทพมหานคร ในช่วงวันที่ 9 กุมภาพันธ์ อาจเกิดฝุ่นสะสม เนื่องจากแรงลมอ่อนและมีการเปลี่ยนทิศทางลมเกิดขึ้น

นายแพทย์นิธิรัตน์ บุญตานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาสุขภาวะเขตเมือง กรมอนามัย กล่าวว่า กรมอนามัยมีแนวทางป้องกันฝุ่น โดยเฉพาะในกลุ่มเปราะบาง เช่น โรงเรียน ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก และทำความร่วมมือกับสำนักการแพทย์และสำนักอนามัย สร้างคลินิกมลพิษเพื่อรักษากลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากฝุ่น PM 2.5 จากข้อมูล พบผู้ป่วยมากขึ้น จากโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ รวมถึงโรคผื่นผิวหนัง

“ส่วนตัวคิดว่า เรื่องฝุ่น PM2.5 เกี่ยวข้องกับเรื่องเศรษฐศาสตร์ด้วย การเกิดฝุ่นทั้งหลายมาจากการตัดสินใจเชิงเศรษฐศาสตร์ เช่น สาเหตุการเผามาจาก ต้นทุนการเผาถูกกว่าการกำจัดด้วยวิธีอื่น สาเหตุการใช้รถยนต์ดีเซลเก่าเนื่องจากมีราคาถูกกว่าซื้อรถยนต์ใหม่ รวมถึง การสนับสนุนการเปลี่ยนไส้กรองและน้ำมันเครื่อง การสนับสนุนเครื่องอัดฟาง ก็เพื่อจูงใจด้านเศรษฐศาสตร์ให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ดังนั้น หลายเรื่องเกี่ยวข้องกับเศรษฐศาสตร์ ต้องอาศัยมาตรการทางกฎหมายเข้าช่วยด้วย จึงจะเกิดผล“ นายชัชชาติ กล่าว