สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ประสูติเมื่อวันอาทิตย์ที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2466 ณ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร เป็นพระธิดาพระองค์แรกในสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงเป็นพระเชษฐภคินีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 8 และ 9 และทรงเป็นสมเด็จพระราชปิตุจฉาในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10


ทรงมีพระนามแรกประสูติตามที่โรงพยาบาลตั้งถวายคือ  May Songkla ซึ่งเป็นเดือนที่ทรงประสูติ  ต่อมาเมื่อความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระนามว่า หม่อมเจ้ากัลยาณิวัฒนา  และต่อมาพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาขึ้นเป็น พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากัลยาณิวัฒนา 


จวบจนเมื่อทรงเจริญพระชนมายุครบ 6 รอบ ในวันที่  6 พฤษภาคม พ.ศ. 2538  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 มีพระราชดำริว่า สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา เป็นพระโสทรเชษฐภคินีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวถึง 2 พระองค์ ด้วยทรงรับราชการสนองพระเดชพระคุณพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติอย่างอเนกอนันต์มาโดยลำดับ รวมทั้งทรงเป็นที่รักเทิดทูนของปวงชนชาวไทยทั่วไป จึงมีพระบรมราชโองการสถาปนาสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา เป็นเจ้าฟ้าต่างกรมฝ่ายใน มีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฎว่า สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ซึ่งนับเป็นเจ้าฟ้าต่างกรมฝ่ายในที่ได้รับการสถาปนาเป็นพระองค์แรกและพระองค์เดียวในรัชกาลที่ 9

พระองค์ทรงสำเร็จการศึกษาจากคณะวิทยาศาสตร์ สาขาเคมี มหาวิทยาลัยโลซานน์  ได้รับ Diplôme de Chimiste A ขณะที่ทรงศึกษาที่คณะวิทยาศาสตร์นั้น ยังทรงศึกษาหลักสูตรของสังคมศาสตร์ Diplôme de Sciences Sociales Pédagogiques อันประกอบด้วยวิชาต่าง ๆ ในสาขาวิชาการศึกษา วรรณคดี ปรัชญา และจิตวิทยาด้วย 

ตลอดชนมชีพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงบำเพ็ญพระกรณียกิจมากมายแก่ประเทศชาติ เพื่อแบ่งเบาพระราชภาระพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี มีโครงการในพระอุปถัมภ์หลายร้อยโครงการ ทั้งด้านการแพทย์และการสาธารณสุข การศึกษา การสังคมสงเคราะห์ การต่างประเทศ การศาสนา และอื่น ๆ กับทั้งยังมีพระปรีชาสามารถด้านการเขียน ด้านการกีฬา ด้านการถ่ายภาพ และด้านดนตรี โดยเฉพาะด้านการแพทย์และการสาธารณสุข


นอกจากจะทรงสืบสานพระราชปณิธานงานมูลนิธิแพทย์อาสาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (พอ.สว.)แล้ว ยังทรงดำรงตำแหน่งประธานมูลนิธิโรคไตแห่งประเทศไทย ซึ่งให้การช่วยเหลือผู้ป่วยเกี่ยวกับค่ายา ค่ารักษาพยาบาลในโรงพยาบาลต่าง ๆ ทั่วประเทศ ในการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม และการผ่าตัดเปลี่ยนไต และยังให้การสนับสนุนการศึกษาค้นคว้าวิจัย ตลอดจนสนับสนุนทุนศึกษาต่อทั้งในประเทศและต่างประเทศแก่แพทย์โรคไต รวมทั้งการอบรมพยาบาลไตเทียม เพื่อพัฒนาให้การดูแลรักษาพยาบาลผู้ป่วยโรคไตให้เจริญก้าวหน้า ทัดเทียมกับอารยประเทศ และการเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคไตที่ถูกต้องแก่ประชาชนด้วย 

และยังทรงเป็นประธานมูลนิธิหม่อมเจ้าบุญจิราธร (ชุมพล) จุฑาธุช ซึ่งมีวัตถุประสงค์เกี่ยวกับการให้ทุนการศึกษาแพทย์ตามโครงการแพทย์ชนบท ให้ทุนการศึกษาแก่นักศึกษาพยาบาลที่เรียนดีแต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ และให้ทุนการศึกษาสำหรับผู้ที่จะสมัครเป็นอาจารย์วิชาการพยาบาล ทรงดำรงตำแหน่งประธานมูลนิธิขาเทียมในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ซึ่งเป็นมูลนิธิที่ทรงร่วมกับสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีก่อตั้งขึ้นมา โดยทรงลงพระนามขอจดทะเบียนด้วยพระองค์เอง และพระราชทานพระราชทรัพย์ประเดิมร่วมกับที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีพระราชทานในการก่อตั้งมูลนิธิขาเทียมฯ เพื่อจัดทำขาเทียมและพระราชทานแก่ผู้พิการขาขาดผู้ยากไร้ในชนบทโดยไม่คิดมูลค่า และค้นคว้า วิจัย พัฒนาชิ้นส่วนขาเทียมจากวัสดุภายในประเทศเพื่อลดการนำเข้าจากต่างประเทศ ทั้งยังทรงดำรงตำแหน่งประธานมูลนิธิถันยรักษ์ในพระบรมราชูประถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

ทางด้านการศึกษา ทรงสนพระทัยโครงการจัดส่งเยาวชนไทยไปร่วมแข่งขันโอลิมปิกวิชาการ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2532 ถึงปัจจุบัน โดยพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์และเงินกองทุนสมเด็จย่าเพื่อช่วยเหลือ ทรงติดตามความเคลื่อนไหวทุกขั้นตอนการแข่งขัน พระราชทานกำลังใจและทรงแสดงความยินดีแก่เยาวชนไทยที่ได้รับรางวัลและใบประกาศเกียรติคุณจากการแข่งขันในทุก ๆ ครั้ง ทรงเป็นองค์พระอุปถัมภ์ "มูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการและพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษา ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์" (สอวน.) ทำให้บรรดาเยาวชนไทยได้ค้นพบตัวเองและสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยติดต่อกันมายาวนานหลายปีตั้งแต่ปีแรกที่มีการส่งเยาวชนร่วมแข่งขัน


ด้วยความที่ทรงสนใจพระทัยด้านดนตรีคลาสสิก ตั้งแต่เมื่อครั้งทรงพำนักที่ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ จึงทรงพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์จัดตั้ง “ทุนส่งเสริมดนตรีคลาสสิกในพระอุปถัมถ์ฯ” ขึ้นเพื่อพระราชทานทุนให้เด็กไทยได้มีโอกาสไปศึกษาต่อทางด้านดนตรีคลาสสิก โดยทรงสัมภาษณ์เด็กนักเรียนที่ขอรับทุนด้วยพระองค์เอง  เนื่องจากทรงให้ความสำคัญกับแนวคิดของเด็กนักเรียนที่จะขอรับทุนการศึกษา ทรงเน้นย้ำกับคณะกรรมการทุนฯ เสมอว่า เด็กที่ได้รับทุนไม่จำเป็นต้องเป็นเด็กที่เล่นดนตรีเก่งเสมอไป แต่ควรพิจารณาให้ทุนแก่เด็กที่มีความตั้งใจกลับมาเป็นครูสอนดนตรีด้วย 

และเนื่องในวาระครบรอบ 100 ปี วันประสูติเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม  พ.ศ. 2566 ที่ผ่านมา องค์การยูเนสโก (UNESCO) พิจารณาประกาศยกย่องให้ทรงเป็นบุคคลสำคัญของโลก เพราะพระองค์ทรงประกอบพระกรณียกิจนานัปการด้วยพระปณิธานแนวแน่ที่จะทำประโยชน์เพื่อประชาชนชาวไทย และสังคมโลก ทั้งยังทรงยึดมั่นในคุณค่าของมนุษย์ และศักยภาพของการพัฒนาจึงทรงอุปถัมภ์กิจการทั้งปวงที่เกี่ยวกับด้านการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ประยุกต์ การแพทย์และการสาธารณสุข ด้านสังคมสงเคราะห์ ด้านสัมพันธไมตรี การสื่อสารและการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม ด้านการศาสนาและศิลปวัฒนธรรม ที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณชนและพสกนิกรชาวไทย  


สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์สิ้นพระชมน์เมื่อวันที่ 2 มกราคม พ.ศ.2551 ในโอกาสวันคล้ายวันสิ้นพระชนม์ครบ 16 ปี ปวงพสกนิกรชาวไทยรู้สึกสำนึกในพระกรุณาธิคุณที่ทรงพระกรณียกิจงานด้านต่างๆ เพื่อความสุขแก่พสกนิกรทั้งหลาย