วารินทร์ พรหมคุณ
เส้นทางวิชาชีพครู...ตามยุทธศาสตร์การศึกษาแห่งชาติ ฉบับใหม่
ต่อจากฉบับเมื่อวานนี้ ดร.กมล รอดคล้าย เลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ได้พยายามคลี่ยุทธศาสตร์การศึกษาแห่งชาติ ฉบับใหม่ ให้เห็นภาพที่ชัดเจนตั้งแต่เรื่องการจัดระบบข้อมูลสารสนเทศ ของนักเรียน ครู และสถานศึกษาเพื่อให้ง่ายต่อการบริหารจัดการ กำลังคนและงบประมาณ ตลอดจนการพัฒนาโรงเรียนขนาดเล็ก การเชื่อมโยงและการกระจายอำนาจจากส่วนกลางไปสู่ภูมิภาค ผ่าน กศจ. ในแต่ละจังหวัด
สำหรับฉบับนี้จะว่ากันต่อด้วยเรื่องของ "ครู" ซึ่งเป็นฟันเฟืองสำคัญ และเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนการศึกษาในธรรมนูญการศึกษา 2560 นี้ โดย ดร.กมล ได้พูดถึงแนวทางการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาไว้อย่างน่าสนใจ
"...ในระบบการจัดการศึกษา ครู ถือว่าเป็นกลไกสำคัญที่สุดในการทำให้เด็กมีคุณภาพ เพราะว่าครูเป็นผู้สอนเด็กโดยตรง ปัจจุบันนี้เรามีปัญหาด้านคุณภาพที่ลดลง เนื่องจากเราเปิดสถานศึกษาที่ผลิตครูจำนวนมาก เราไม่ได้มีคนเก่งเข้ามาเป็นครู ในขณะเดียวกันระบบการใช้ครูของเราก็มีปัญหา ครูกระจุกอยู่ในเมืองหรือโรงเรียนใหญ่ๆ แต่ครูจำนวนหนึ่งไม่ยอมลงไปในพื้นที่ที่อยู่ห่างไกล เพราะฉะนั้นส่งผลให้คุณภาพการศึกษาของประเทศไทยมันมีความลักลั่นหรือไม่เสมอกัน
สิ่งที่ ศธ.กำลังดำเนินการภายใต้แผนยุทธศาสตร์การผลิตและพัฒนาครู โดยมอบให้ สกศ.เป็นผู้ริเริ่มในเรื่องนี้และนำไปสู่กระบวนการนำเสนอแผนและปฏิบัติจริงอย่างเป็นรูปธรรม 3 เรื่อง เรื่องแรก คือ การผลิตครู ในอนาคตจะปรับระบบเป็นการผลิตครูระบบปิด และระบบเปิด คำว่า "ระบบเปิด" หมายถึงปัจจุบันนี้ใครก็ได้เรียนจบศึกษาศาสตร์ หรือเรียนจบคณะที่สามารถขอใบประกอบวิชาชีพได้ ก็มาสอบเป็นครู แต่เราไม่สามารถได้คนที่มุ่งมั่น คนที่ตั้งใจจริงๆ ที่จะเป็นครูรวมถึง ไม่มีคุณภาพสูงพอที่จะเป็นครู ส่วน "ระบบปิด" ก็จะคล้ายๆ กับโรงเรียนตำรวจ ทหาร หรือกลุ่มแพทย์ ซึ่งเมื่อเข้าเรียนก็จะได้ทุนการศึกษาตั้งแต่ต้น สามารถคัดคนเก่ง นักเรียนทุนเข้ามา เมื่อเรียนจบก็จะมีสถานศึกษารองรับตั้งแต่ต้น ในอดีตเราเรียกโครงการนี้ว่าคุรุทายาท ปัจจุบันนี้ เรียกว่าโครงการครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่น ในอนาคตเราคงจะผลิตครูในลักษณะนี้เพิ่มจำนวนมากขึ้น โดยรวมน่าจะครึ่งหนึ่งจากครูที่เป็นการศึกษาระบบปิด อีกครึ่งหนึ่งหรืออีก 40-50% ก็มาจากระบบเปิดทั่วไป..."
ดร.กมล กล่าวต่อไปว่า เมื่อรู้แนวทางการผลิตแล้ว เรื่องต่อไปที่จะเกิดขึ้นก็คือกระบวนการใช้ หรือการสรรหาครูเข้าสู่ระบบ ซึ่งทุกวันนี้ ศธ.กระบวนการสอบคัดเลือกทั่วประเทศ เมื่อครูสอบบรรจุได้ที่ใดที่หนึ่งอยู่ปีสองปีก็ขอย้ายกลับภูมิลำเนา ต่อไปก็จะมีการจัดโซนนิ่ง หรือการจัดสัดส่วน เรามีครูที่เป็นครูระบบปิดเป็นฐานอยู่แล้ว การเปิดสอบในอนาคตอาจมีการกำหนด เช่น ผู้ที่สอบในจังหวัดที่เป็นภูมิลำเนาในจังหวัดบ้านเกิด อาจจะมีคะแนนเพิ่ม ครูที่สอบในพื้นที่ห่างไกลอาจจะมีคะแนนเพิ่ม แทนที่จะมาแย่งกันสอบในโรงเรียนประจำจังหวัด
"...กระบวนการใช้ครู จะรวมไปถึงการเกลี่ยครู ซึ่งวันนี้ ศึกษาธิการจังหวัด กำลังเข้ามาดูแล นั่นก็คือครูที่เริ่มต้นอาจจะไปอยู่ในพื้นที่ห่างไกลก่อน จากนั้นก็ค่อยเกลี่ยเข้ามาค่อยๆ ขยับเข้ามาสอนในโรงเรียนที่อยู่ใกล้ๆ กับตัวเมือง ต้องมีระบบการให้สวัสดิการต่างๆ รวมไปถึงความเจริญก้าวหน้าของครูที่อยู่ห่างไกลอาจจะใช้เวลาในการทำผลงานน้อยลงหรือสามารถที่จะเลื่อนขั้นสอบบรรจุเข้าสู่ตำแหน่งอื่นๆ ได้เร็วขึ้น..."
ในส่วนสุดท้ายของการพัฒนาครู ก็คงจะเป็นเรื่องความก้าวหน้าในวิชาชีพ
เลขาธิการ สกศ. กล่าวว่า การพัฒนาครูไทยปัจจุบันเราให้ "วิทยฐานะ" โดยครูจะต้องทำผลงาน เพราะฉะนั้นครูก็จะไปทำเรื่องไม่เกี่ยวกับการเรียนการสอน แต่ระบบการพัฒนาครูที่ดี จะต้องดูที่ผลผลิตของเด็ก ถ้าเด็กมีคุณภาพ ครูก็ต้องได้เลื่อนตำแหน่งเลื่อนขั้น การพัฒนาครูก็จะต้องพัฒนาไปเพื่อการเรียนการสอน ต้องมีการฟื้นฟูครู มีหลักสูตรพัฒนาตนเองทั้งในสถาบันที่เรากำหนด และสอนระบบทางไกลที่เราเรียกว่า TEPE Model ทั้งการพัฒนาในลักษณะของการเข้าค่าย เพื่อที่จะปรับระดับ หรือตำแหน่งจะมีการให้เงิน เพื่อที่จะเป็นคูปองไปอบรมพัฒนา ตรงนี้ถ้าระบบการจัดการมีประสิทธิภาพ ครูก็จะได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และต้องเป็นการพัฒนาที่ไม่ทิ้งห้องเรียนมาอบรมจนทำให้คุณภาพของเด็กลดลงไปด้วย
ฉะนั้น กรอบเบื้องต้นที่ต้องดำเนินการ คือ จะต้องมีการผลิตครูที่ดี มีระบบสรรหาที่เหมาะสม และมีระบบพัฒนาที่มีความต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลไปที่คุณภาพของเด็กโดยตรงในอนาคต
ทั้งนี้ อีกส่วนหนึ่งที่มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าครู คือเรื่องหลักสูตรและกระบวนการเรียนการสอน ซึ่งเลขาธิการ สกศ. กล่าวถึงประเด็นนี้ว่า
"...หลักสูตรเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเด็กโดยตรง เปรียบเสมือนกับเข็มทิศหรือเครื่องมือที่จะชี้ให้เห็นว่า เด็กจะมีคุณลักษณะหรือสมรรถนะอย่างไรในอนาคต "รัฐธรรมนูญ" ที่จะมีการประกาศใช้ได้มีการกำหนด เป็นเป้าหมายของการศึกษาไว้ว่าเด็กไทยทุกคนจะต้องเป็นคนดี มีวินัย มีความภูมิใจในความเป็นชาติ แล้วก็ได้เรียนรู้ตามความสามารถตามความถนัดของตนเอง พร้อมจะเป็นทุนมนุษย์เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของโลกในศตวรรษที่ 21 ซึ่งเป็นประเด็นที่ชี้ให้เห็นถึงคุณลักษณะของเด็กไทยที่พึงประสงค์และก็ชี้ให้เห็นถึงว่าเด็กไทยจะเป็นทุนมนุษย์ที่จะมีส่วนในการพัฒนาสังคม
เครื่องมือหรือสิ่งที่จะทำให้เด็กมีลักษณะอย่างนี้ คือ หลักสูตร หรือเนื้อหาสาระที่เด็กจะต้องเรียนรู้ โดยขณะนี้ ศธ.ได้เตรียมการปรับปรุงหลักสูตรครั้งใหญ่จากเดิม ในส่วนของการศึกษาขั้นพื้นฐานเองสิ่งที่จะเปลี่ยนแปลงอย่างมาก ก็คือจะนำเอาหลักการที่เรียกว่า 3R-8C เข้ามาใช้
"...3Rและ 8C เป็นหลักคิดของการผลิตคนในศตวรรษที่ 21 โดย 3R คือเด็กจะต้อง reading อ่านออก writing เขียนได้ Arithmetic การคิดเลขเป็น คือคนที่คิดเป็นแบบวิทยาศาสตร์ จะมีเรื่องของความเข้าใจเข้ามาเกี่ยวข้อง เด็กจะต้องมีลักษณะที่เรียกว่า 8C นั่นคือต้องมี creative thinking คือ เป็นคนมีความคิดที่สร้างสรรค์มี critical thinking มีกระบวนการคิดวิเคราะห์ เด็กจะต้องมี communication ดี เด็กจะต้อง cross-cultural ทำงานข้ามวัฒนธรรมได้จะต้องมีสิ่งที่เรียกว่า career รู้เรื่องอาชีพ เด็กจะต้องรู้เรื่อง computing หรือคอมพิวเตอร์ เพราะเป็นเครื่องมือสมัยใหม่เด็กจะต้อง collaboration คือทำงานร่วมกับคนอื่นได้ทำงานเป็นทีม และในฐานะที่เป็นคนไทยเราก็มี compassion คือความมีวินัยความซื่อสัตย์สุจริตและยิ้มแย้มแจ่มใสความมีน้ำใจ..."
สิ่งสำคัญก็คือเมื่อเราจะสร้างให้เด็กมีคุณลักษณะอย่างนี้ เราก็ต้องมาทำหลักสูตรการเรียนการสอนในอนาคต กลุ่มวิชา ที่จะเปลี่ยนแปลงไปจะไม่เรียนเป็นรายวิชาเหมือนในปัจจุบัน เราจำเป็นจะต้องให้เด็กรู้สิ่งที่จะต้องรู้ก่อน เช่น รู้เรื่องภาษา รู้เรื่องของคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สังคมศึกษา จากนั้นเรื่องที่ควรรู้อย่างเช่น เรื่องที่เป็นเรื่องของโลกเรื่องของความเปลี่ยนแปลงต่างๆ สังคม การเมือง เศรษฐกิจ จะต้องเรียนรู้สืบเนื่องไปบางเรื่องเด็กจะแสวงหาที่ไหนเราก็ไม่จำเป็นที่จะต้องมาสอนในห้องเรียน
ดร.กมล กล่าวย้ำว่า สิ่งที่ ศธ.เริ่มนำมาใช้วันนี้ คือกระบวนการจัดการเรียนการสอนที่ไม่เน้นการสอนแบบเดิม แต่เน้นการสอนที่เรียกว่าลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ คือในห้องเรียน เรียนน้อยๆ แต่ไปหาความรู้นอกห้องเรียนจากกิจกรรมต่างๆ เรานำเอาระบบที่เรียกว่า STEM : สะเต็มศึกษา เข้ามาเพื่อสอนให้เด็กทำงานแบบโครงงาน สอนให้เด็กสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ มีสื่อการเรียนการสอนทั้งในเรื่องของการใช้คอมพิวเตอร์การใช้ข้อมูลสาระสนเทศต่างๆ การให้เด็กเรียนรู้จากแอพพลิเคชั่นต่างๆ ครูเองจะต้องเปลี่ยนตัวเอง จากการเป็น teacher มาเป็น facilitator หรือผู้อำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ให้กับเด็ก ๆนั่นเอง
...ยังไม่หมดเพียงนี้ ในธรรมนูญการศึกษาฉบับใหม่นี้ ยังให้ความสำคัญกับการศึกษานอกระบบ การศึกษาตามอัธยาศัย เพราะมีความสำคัญในการพัฒนาปัญญาและสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีของพลเมือง ให้ได้เรียนรู้ตลอดชีวิต ซึ่งสามารถติดตามได้ในฉบับวันพรุ่งนี้
////////////////////////