ด้วยงานเทศกาลนานาชาติเป็นหนึ่งในกลุ่มธุรกิจหลักที่เป็นเป้าหมายสำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไมซ์ของประเทศในปี 2567 โดยใช้ ต้นทุน ทางสังคม วัฒนธรรมและเศรษฐกิจ หรือ Soft Power (ซอฟต์พาวเวอร์) เป็นตัวสร้างมูลค่า ให้ประสบการณ์ที่มีอัตลักษณ์ มีคุณค่าถือเป็นจุดขายใหม่ของไมซ์ไทย ดังนั้นสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ   จึงได้ร่วมมือกับทุกภาคส่วน ซึ่งที่ผ่านมาทีเส็บสนับสนุนงานเทศกาลกว่า 100 งาน สร้างเงินหมุนเวียนทางเศรษฐกิจให้ประเทศกว่า 50,000 ล้านบาท

ยุทธศาสตร์ 12 เดือน 12 แนวคิด

โดย นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ กล่าวว่า  เชียงใหม่ จะเป็นเมืองนำร่องในการวางยุทธศาสตร์การพัฒนาไมซ์ซิตี้ให้ก้าวสู่การเป็นเมืองแห่งเทศกาลระดับโลกภายใต้ยุทธศาสตร์การจัดงาน 12 เดือน 12 แนวคิดเทศกาล ซึ่งเป็นกรอบแนวทางทำการตลาดและประชาสัมพันธ์งานเทศกาลของประเทศไทย มุ่งสร้างการรับรู้และจดจำแก่นักเดินทางที่เข้าร่วมงานจากทั่วโลก ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการในพื้นที่ต่อยอดจัดทำเส้นทางสายไมซ์

รวมถึงการพัฒนาสินค้าบริการและกิจกรรมส่งเสริมการขายที่สอดคล้องกับแนวคิดการจัดงานในแต่ละเดือน เพื่อให้นักเดินทางไมซ์ทั้งในและต่างประเทศสามารถวางแผนในการเข้าร่วมงานเทศกาล หรืองานแสดงสินค้า รวมไปถึงการจัดประชุมองค์กร การเดินทางเพื่อเป็นรางวัล และกิจกรรมของหน่วยงานต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับช่วงเทศกาลและกิจกรรมไมซ์สำคัญของเมือง ซึ่งจะเป็นการเพิ่มรายได้ กระจายเม็ดเงินให้กับพื้นที่ผ่านการจัดงานตลอดปี และสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจให้กับจังหวัดได้มากยิ่งขึ้น

ต่อยอดยกระดับงานเทศกาล

ซึ่ง นายจิรุตถ์ กล่าวว่า ทีเส็บจึงร่วมกับจังหวัดเชียงใหม่วางแผนยุทธศาสตร์ร่วมกันและต่อยอดยกระดับงานเทศกาลของจังหวัดสู่งานเทศกาลระดับโลก ประเดิมงานแรกด้วย “งานเทศกาลยี่เป็ง” ซึ่งเป็นเทศกาลดั้งเดิมของชาวล้านนา ผลักดันให้ยกระดับสู่การเป็นงานเทศกาลแห่งแสงไฟระดับนานาชาติ  โดยสนับสนุนด้านการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการเพื่อจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนางานเทศกาลของประเทศไทย และงานเทศกาลยี่เป็ง รวมถึงสนับสนุนงบประมาณการจัดงานเทศกาลยี่เป็งในกิจกรรม Yi-Peng Night Tour และอำนวยความสะดวกด้านการประสานงานระหว่างหน่วยงานในจังหวัดเชียงใหม่

ขณะที่ งานเทศกาลยี่เป็งเชียงใหม่ในปีนี้ จัดระหว่างวันที่ 25-27 พฤศจิกายน 2566 ภายในงานประกอบด้วย 5 กิจกรรมหลัก ได้แก่ 1) Pokémon GO Yi-Peng นำเสนอ Virtual Tourism Experience ร่วมกับแบรนด์ระดับโลกผ่านเกม Pokémon GO 2) Yi-Peng Night Tour ชมเมืองเชียงใหม่ยามค่ำคืน เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ประวัติศาสตร์และศิลปวัฒนธรรมล้านนา 3) Yi-Peng Product คัดเลือก พัฒนา สินค้าและบริการพิเศษสำหรับเทศกาลยี่เป็ง 4) Yi-Peng Communication ร่วมพัฒนาช่องทางและการประชาสัมพันธ์กิจกรรม สินค้าและบริการสำหรับเทศกาลยี่เป็งสู่กลุ่มเป้าหมาย และ 5) Yi-Peng Illumination ประดับแสงไฟในพื้นที่สาธารณะ เพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์เทศกาลยี่เป็งในฐานะ Night-Light Festival

สำหรับการจัดงานเทศกาลยี่เป็งเชียงใหม่ 2566 คาดว่าจะดึงนักเดินทางและนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศได้ถึง 62,500 คน เป็นชาวไทยกว่า 50,000 คน และชาวต่างชาติกว่า 12,500 คน สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นจากการจัดงานถึง 375 ล้านบาท