สำหรับการท่องเที่ยวเป็นการเติมเต็มความต้องการที่ไม่รู้จบ ในแง่เศรษฐกิจ การท่องเที่ยวเป็นอุตสาหกรรมที่มีการเติบโตสูงในระยะยาว ในระดับสังคม การท่องเที่ยวช่วยส่งเสริมความเข้าใจ การสื่อสาร รวมถึงสร้างความสงบสุข และสามัคคีในหมู่ผู้คน ในแง่มุมปรัชญา การท่องเที่ยวช่วยต่อยอดทางด้านนวัตกรรมของมนุษย์ ส่งผลให้มุ่งสู่ความเจริญรุ่งเรืองของอารยธรรมในระยะยาว ดังนั้นการมอบประสบการณ์การเดินทางที่ดีที่สุดให้กับนักเดินทาง เป็นการยกระดับประสบการณ์ของผู้ใช้ไปพร้อม ๆ กับการเป็นมิตรที่ดีต่อโลก และชุมชน

 เสริมความแกร่งให้กับธุรกิจ

นางสาวเจน ซุน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Trip.com Group กล่าวถึงการฟื้นตัวของธุรกิจ และสะท้อนถึงศักยภาพในการเติบโต ด้วยกลยุทธ์ทางนวัตกรรมจากหลากหลายมิติทางด้านเนื้อหาการตลาด และผลิตภัณฑ์ที่ขับเคลื่อนด้วย AI เราได้เสริมความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจของกลุ่ม โดยยอดจองของ Trip.com เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าในปี 2566 เมื่อเทียบกับปี 2562 และจำนวนการจองเที่ยวบินสำหรับพันธมิตรในสหภาพยุโรป ได้เพิ่มขึ้นถึงเจ็ดเท่า หลากหลายธุรกิจได้บรรลุการเติบโตฟื้นตัวอย่างเห็นได้ชัด โดยปริมาณการจองโรงแรมในประเทศของกลุ่มโรงแรมพันธมิตรเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 60% เติบโตขยายไปถึงการจองบัตรสถานที่ท่องเที่ยวชั้นนำทั่วโลกผ่าน Trip.com ส่วนการท่องเที่ยวแบบหมู่คณะในประเทศ มียอดเพิ่ม 53.6% ของมูลค่าสินค้ารวม เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปี 2562 โดยเน้นย้ำถึงการฟื้นตัวโดยรวมของภาคอุตสาหกรรม

ด้วยกลยุทธ์ทางการตลาดเชิงนวัตกรรมของ Trip.com Group ส่งผลให้ลูกค้าใหม่เพิ่มขึ้นถึงสามเท่า และยอดขายพุ่งสูงขึ้น 263% ในช่วงสามไตรมาสแรกของปี สิ่งเหล่านี้เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการเติบโตอย่างเห็นได้ชัด อาทิ ลูกค้าใหม่ซื้อตั๋วเครื่องบินเพิ่มขึ้น 54 เท่า โดยการนำเสนอบริการที่หลากหลาย รวมถึงบัตรเข้าชมสถานที่ท่องเที่ยวต่างและบัตรคอนเสิร์ตพร้อมแพ็คเกจจากโรงแรม ทำให้ยอดจองของโรงแรมเพิ่มขึ้นอย่างน่าประหลาดใจถึง 188 เท่าในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา

พร้อมกันนี้ Trip.com Group ได้สนับสนุนและยกระดับชุมชนการท่องเที่ยว โดยเพิ่มผลิตภัณฑ์ด้านการเดินทางอย่างยั่งยืนในหลากหลายผลิตภัณฑ์ของบริษัท ไม่ว่าจะเป็นเที่ยวบิน บริการรถเช่า และการเดินทางเพื่อธุรกิจ ผู้คนมากกว่า 16 ล้านคนเลือกตัวเลือกการเดินทางอย่างยั่งยืนเหล่านี้ เนื่องจากผู้คนเริ่มเห็นความสำคัญของการใช้บริการของบริษัทที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยได้ริเริ่มโครงการสำหรับโรงแรมที่ได้มาตรฐานเรื่องการปล่อยคาร์บอนในปริมาณต่ำ (Low-Carbon Hotel) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความมุ่งมั่นอย่างต่อเนื่องในการส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมแนวทางปฏิบัติที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และอำนวยความสะดวกในการเปลี่ยนแปลงสู่ระบบนิเวศของการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนยิ่งขึ้น ด้วยการร่วมมือกับพันธมิตรโรงแรมเกือบ 1,000 รายสำหรับโครงการพลิกโฉมนี้

ด้วยการเชื่อมถึงทั่วโลก ห่วงโซ่อุปทานที่หลากหลาย และความสามารถด้านเทคโนโลยีที่แข็งแกร่ง Trip.com Group มีความโดดเด่นในการหนุนนำและส่งเสริมการท่องเที่ยวในระดับภูมิภาค และระดับท้องถิ่นแก่นักเดินทางจากทั่วทุกมุมโลก

ค่าครองชีพที่ไม่สูงน่าท่องเที่ยว

ด้าน บุ๊คกิ้งดอทคอม ชี้คนออกเดินทางท่องเที่ยวสวนทางภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ยอดจองห้องพักทั่วโลกไตรมาส 3 ปี 2566 พุ่งแซงหน้าก่อนโควิด-19 ถึง 24% ขณะที่สงครามอิสราเอล-ฮามาส/รัสเซีย-ยูเครน ส่งผลกระทบในระยะสั้น ขณะที่ประเทศไทยรับอานิสงส์นักท่องเที่ยวต่างชาติมองค่าครองชีพต่ำ

 

โดย นางสาวมิเชล เกา ผู้จัดการประจำภูมิภาคประจำกลุ่มลุ่มแม่น้ำโขงของ Booking.com (บุ๊คกิ้งดอทคอม) กล่าวว่า ในไตรมาส 3 ปี 2566 ทาง Booking.com มีจำนวนการจองห้องพักทั่วโลกที่ 276 ล้านห้อง/คืน เพิ่มสูงขึ้นจากปี 2565 ประมาณ 15% และสูงกว่าปี 2562 ก่อนการระบาดของโควิด-19 ที่ 24% เช่นเดียวกับในส่วนของค่าใช้จ่ายในการเดินทางของนักท่องเที่ยวในปี 2566 ที่อยู่ในระดับสูงกว่าปี 2565 และปี 2562 ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากรายได้เฉลี่ยต่อห้องที่ขายได้ในแต่ละช่วงเวลา (ADR) ปรับตัวสูงขึ้นแซงหน้าปีที่ผ่านมา และปี 2562 ไปแล้ว บวกกับค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้น

ซึ่งผลการดำเนินงานนี้แตกต่างกันไปตามแต่ละภูมิภาค โดยภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เติบโตขึ้นกว่า 35%

พร้อมกันนี้ นางสาวมิเชลกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า Booking.com ได้จัดการสำรวจข้อมูลเพื่อคาดการณ์การเดินทางในปี 2567 โดยได้สอบถามกลุ่มตัวอย่างที่เป็นผู้ใหญ่ซึ่งวางแผนที่จะเดินทางทริปธุรกิจหรือทริปพักผ่อนในช่วง 12-24 เดือนข้างหน้า โดยมีผู้เข้าร่วมการสำรวจ 27,730 คน ใน 33 ประเทศ/ดินแดน มีชาวไทยจำนวน 1,003 คน ในเดือนกรกฎาคม 2566 พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามชาวไทย 71% มีแผนออกเดินทางใน 12 เดือนข้างหน้า และ 73% ของผู้ตอบแบบสอบถามชาวเอเชีย-แปซิฟิก มีมุมมองเชิงบวกต่อการออกเดินทาง แม้ว่าปัจจุบันจะมีสถานการณ์เงินเฟ้อ ค่าครองชีพสูง และปัญหาด้านการเมือง

อีกทั้ง นางสาวมิเชล กล่าวด้วยว่า จากการสำรวจดังกล่าว แบ่งแนวโน้มการเดินทางใน 2567 ออกเป็น 7 แนวทาง ได้แก่ 1.สนใจอาหารที่อร่อย โดย 92% ต้องการทานอาหารท้องถิ่น 2.ต้องการออกเดินทางไปยังสถานที่ที่มีอากาศเย็น โดย 3 ใน 4 ของผู้ตอบแบบสอบถาม ต้องการออกเดินทางเพื่อคลายร้อน 3.วางแผนน้อยลง 67% ไม่ต้องการแผนเพื่อให้ปล่อยใจไปตามสถานการณ์ 4.ต้องการเที่ยวอย่างยั่งยืน โดย 83% ต้องการเห็นการดำเนินการด้านความยั่งยืนที่เป็นรูปธรรม 5.การท่องเที่ยวเพื่อการนอน โดย 3 ใน 4 ให้ความสำคัญกับการนอนหลับโดยไม่มีอะไรมากวนใจ 6.เที่ยวอย่างเป็นตัวของตัวเอง โดย 74% ให้ความเห็นว่า พวกเขารู้สึกมีชีวิตชีวาเมื่อได้ออกเดินทาง และ 88% เชื่อว่าพวกเขาได้เป็นตัวเองมากที่สุดในช่วงที่ออกท่องเที่ยว และ 7.จากวิกฤตการณ์ค่าครองชีพ นักท่องเที่ยวจึงต้องการรัดเข็มขัดมากขึ้น บางรายอาจเลือกจองบริการเป็นรายการ ๆ ไป

นางสาวมิเชล กล่าวต่อว่า  แม้สถานการณ์เศรษฐกิจโลกจะยังชะลอตัว แต่นักท่องเที่ยวยังคงเลือกที่จะออกเดินทาง โดยประเทศไทยถือว่ามีข้อได้เปรียบจากการที่นักท่องเที่ยวต่างชาติมองว่าประเทศไทยมีค่าครองชีพที่ไม่สูง มีความน่าท่องเที่ยว