“ปานปรีย์” เผยผลการเยือน สปป. ลาว เดินหน้าผลักดันส่งเสริมการท่องเที่ยว2ประเทศ พร้อมส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ

 

เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2566 นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวง การต่างประเทศ ได้ร่วมคณะของนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน เยือนสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว  (สปป. ลาว) อย่างเป็นทางการ ภายหลังเสร็จสิ้นการเยือนของนายกรัฐมนตรีรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการ ต่างประเทศได้พบหารือทวิภาคีกับนายสะเหลิมไซ กมมะสิด รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวง การต่างประเทศ สปป. ลาว เพื่อกำหนดแนวทางการดำเนินการให้เป็นไปตามผลการหารือระหว่างผู้นำสองประเทศ และความร่วมมือในช่วงที่ สปป. ลาว เป็นประธานอาเซียนในปี2567 ทั้งสองฝ่ายได้เน้นย้ำความสัมพันธ์ที่พิเศษระหว่างไทย - ลาว ที่เป็น “บ้านใกล้เรือนเคียง” ที่มีความผูกพัน ใกล้ชิดกันในทุกด้าน โดยการเยือน สปป ลาว ของนายกรัฐมนตรีในครั้งนี้เป็นการตอกย้ำความใกล้ชิดดังกล่าวและ เป็นการสานต่อพลวัตที่ดีของความสัมพันธ์ระหว่างกัน ผ่านการแลกเปลี่ยนการเยือนและการปรึกษาหารือระดับสูง กันอย่างสม่ำเสมอ โดย สปป.ลาว จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือ ทวิภาคี ไทย-ลาว ครั้งที่ 23 ในปี 2567

ทั้งนี้ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้เชิญ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สปป. ลาว เยือนไทย ซึ่งฝ่ายลาวตอบรับ ด้วยความยินดี ทั้งสองฝ่ายให้ความสำคัญอย่างมากกับการเพิ่มปริมาณการค้าให้บรรลุเป้าหมายการค้าที่ 11,000 ล้าน ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 3.6 แสนล้านบาท ในปี 2568 โดยไทยพร้อมเป็นเจ้าภาพการประชุมแผนความร่วมมือ ระหว่างกระทรวงพาณิชย์กับกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า สปป.ลาว โดยเร็วในปี 2567เพื่อกำหนดแนวทาง อำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างกัน นอกจากนี้ ไทยพร้อมที่จะจัดการการประชุมผู้ว่าราชการจังหวัดและ เจ้าแขวงไทย-ลาว ในช่วงต้นปี2567 เพื่อส่งเสริมการค้าระหว่างจังหวัดและแขวงชายแดน  ทั้งสองฝ่ายเน้นย้ำความจำเป็นในการผลักดันให้กลไกทวิภาคีที่เกี่ยวข้องกับโครงการความเชื่อมโยงระหว่าง สองประเทศทำงานอย่างใกล้ชิดเพื่อผลักดันให้โครงการต่าง ๆ มีความคืบหน้าตามกรอบเวลาที่ผู้นำสองฝ่ายเห็นชอบ ร่วมกัน ได้แก่การเริ่มก่อสร้างโครงการสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 2 (หนองคาย – เวียงจันทน์) ก่อนปี2569 และ การขยายบริการรถไฟข้ามแดนจากหนองคายไปถึงสถานีรถไฟเวียงจันทน์ (คำสะหวาด) ภายในต้นปีหน้า เพื่อส่งเสริม การท่องเที่ยวและการเชื่อมโยงกับโครงการรถไฟลาว – จีน ให้สะดวกยิ่งขึ้น  ในด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ สองฝ่ายได้ตกลงที่จะทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดเพื่อลดระยะเวลาและต้นทุน ของการเปลี่ยนถ่ายสินค้า ทั้งทางรางและทางถนน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านโลจิสติกส์ของสอง ประเทศและภูมิภาค และจะร่วมมือกันเร่งรัดให้มีการจัดตั้งพื้นที่ควบคุมร่วมกัน (Common Control Area: CCA) บริเวณสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 2 (มุกดาหาร – สะหวันนะเขต) เพื่อลดขั้นตอนด้านพิธีการศุลกากร ณ  จุดผ่านแดนดังกล่าว และส่งเสริมการคมนาคมขนส่งระหว่างไทย - ลาว - เวียดนาม

ด้านการท่องเที่ยว ทั้งสองฝ่ายจะผลักดันให้หน่วยงานด้านการท่องเที่ยวของสองประเทศเร่งจัดทำแผน เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวร่วมกันในโอกาสปีแห่งการท่องเที่ยว สปป. ลาว ในปี 2567 รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้ใช้โอกาสนี้หารือกับรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สปป. ลาว เกี่ยวกับประเด็นที่ สปป. ลาว จะให้ความสำคัญในการเป็น ประธานอาเซียนในปี2567 โดยได้เน้นย้ำความพร้อมของไทยที่จะสนับสนุน สปป. ลาว อย่างเต็มที่

ในโอกาสนี้รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้ไปเยี่ยมชมเขตโลจิสติกส์ นครหลวงเวียงจันทน์ (Vientiane Logistics Park: VLP) เพื่อหารือแนวทางในการเพิ่มประสิทธิภาพ ลดอุปสรรค  และอำนวยความสะดวกการขนส่งสินค้าทางรถไฟไทย – ลาว – จีน ซึ่งเป็นประเด็นที่ผู้ประกอบการไทยให้ ความสำคัญ

นอกจากนี้ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้พบปะกับกลุ่มนักธุรกิจไทย ใน สปป. ลาว เพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับการส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจระหว่างไทยกับ สปป. ลาว  ให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น