“วีริศ” ผุดไอเดีย นำระบบ AI มอนิเตอร์การทำงานของอุปกรณ์-เครื่องจักร ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม เพื่อวางแผนการซ่อมบำรุงอย่างมีประสิทธิภาพ ลดต้นทุนความสูญเสียจากความผิดปกติของเครื่องจักร เล็งต่อยอดระบบ “Digital Twin” ที่นำร่องในนิคมฯสมุทรสาคร ในนิคมฯ ของ กนอ.

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า ได้ไปตรวจเยี่ยมนิคมอุตสาหกรรม และโรงงานในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมกลุ่มมาบตาพุดคอมเพล็กซ์ จังหวัดระยอง เริ่มที่นิคมอุตสาหกรรม อาร์ ไอ แอล ซึ่งนิคมฯ แห่งนี้ประกอบกิจการมาตั้งแต่ปี 2539 บนพื้นที่ 2,000 ไร่ โดยอุตสาหกรรมปิโตรเคมีเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมาย และได้รับการตรวจประเมินเป็นนิคมอุตสาหกรรมระดับ Eco World Class ตั้งแต่ปี 2562 ปัจจุบันอยู่ระหว่างจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นจากการพัฒนาโครงการ (Environment and Health Impact Assessment : EHIA) เพื่อขยายพื้นที่ในนิคมฯ ประมาณ 500 ไร่ ซึ่งขณะนี้มีนักลงทุนแสดงความสนใจเข้าจับจองพื้นที่แล้ว

“ผมมีโอกาสได้เข้าเยี่ยมชม บริษัท มาบตาพุดโอเลฟินส์ จํากัด หรือ MOC ซึ่งได้บรรยายภาพรวมการนำเทคโนโลยีมาใช้ด้านความปลอดภัย และติดตามคุณภาพสิ่งแวดล้อม รวมทั้งได้เดินทางไปยัง บริษัท ระยองวิศวกรรมและซ่อมบำรุง จำกัด (REPCO NEX Industrial Solutions) ซึ่งบริษัทแห่งนี้พัฒนาต่อยอดเทคโนโลยี โดยใช้ AI ช่วยในการตรวจสอบการทำงานของเครื่องจักรอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อวางแผนการซ่อมบำรุงที่มีประสิทธิภาพ และการลดต้นทุนที่เกิดความสูญเสียจากความผิดปกติของเครื่องจักร จนเกิดเป็นธุรกิจใหม่ สำหรับการนำระบบ AI มาช่วยในการทำงานของโรงงานแห่งนี้ เป็นสิ่งที่ กนอ. ให้ความสนใจอย่างมาก เนื่องจากสอดคล้องกับระบบ Digital Twin ที่ กนอ.เริ่มนำร่องใช้ในการบริหารงานที่นิคมอุตสาหกรรมสมุทรสาคร ตั้งแต่กลางปี 2565  ซึ่งโครงการแล้วเสร็จเมื่อมิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา และจะนำไปขยายผลในนิคมอุตสาหกรรมของ กนอ.ต่อไป”นายวีริศกล่าว

ทั้งนี้ ระบบ Digital Twin คือ การทำแบบจำลองเสมือนของพื้นที่อาคาร และอุปกรณ์ในอาคารในรูปแบบ 3 มิติ BIM (Building Information Modelling) ซึ่งนอกจากจะเก็บข้อมูลทรัพย์สินและอุปกรณ์ต่างๆ ในรูปแบบดิจิทัลแล้ว ยังเชื่อมโยงข้อมูล Big Data ต่างๆ เข้าด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการควบคุมระบบระบายน้ำ การติดตามตรวจสอบมลพิษทางอากาศของนิคมฯ การเชื่อมโยงข้อมูลผู้ประกอบการจากระบบอนุมัติ-อนุญาตทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-PP : e-Permission Privilege) ข้อมูลการระงับเหตุจากระบบฐานข้อมูลการระงับเหตุ(Decision Support System : DSS) ข้อมูลการบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม ข้อมูลการระบายมลพิษจากระบบตรวจสอบคุณภาพอากาศจากปล่องแบบอัตโนมัติต่อเนื่อง (CEMS : Continuous Emission Monitoring System) ข้อมูลด้านความปลอดภัยกระบวนการผลิตและสารเคมีอันตรายจากระบบการจัดการความปลอดภัยกระบวนการผลิต (Process Safety Management: PSM) ตลอดจนการเชื่อมโยงระบบที่เกี่ยวข้องกับ SMART I.E. ด้วย โดยใช้ AI เป็นตัวประมวลผล เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการนิคมอุตสาหกรรม ด้วยการใช้ข้อมูลที่มีความถูกต้องแม่นยำ ซึ่งจะช่วยให้ผู้บริหารและผู้ที่เกี่ยวข้องสามารถบริหารจัดการนิคมอุตสาหกรรมได้ทุกที่ทุกเวลา

นอกจากนี้ ยังได้เยี่ยมชมศูนย์นวัตกรรม i2P Center ซึ่งเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ต่อยอดนวัตกรรมและงานวิจัยจากทั่วโลกที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจเคมิคอล ซึ่งสามารถเป็นทั้งศูนย์การเรียนรู้ บ่มเพาะนักธุรกิจ ต่อยอดไอเดียอันหลากหลายซึ่งกันและกันระหว่างลูกค้าที่เป็นเจ้าของกิจการ (Business Owner) กับบริษัทนำไปสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้อย่างตรงจุด ในส่วนนี้ กนอ.มีแนวคิดที่จะพัฒนาพื้นที่อาคารสำนักงานใหญ่แห่งใหม่เป็นศูนย์บ่มเพาะธุรกิจ (Incubation Center) โดยร่วมกับเครือข่ายสถาบัน กนอ. ในการนำความรู้และนวัตกรรมมาพัฒนาต่อยอดให้เกิดเป็นศูนย์เรียนรู้และพัฒนาเพื่อผู้ประกอบการ และอุตสาหกรรมอย่างแท้จริงด้วย