ลีลาชีวิต/ทวี สุรฤทธิกุล

คนรุ่นใหม่ไม่เพียงแต่ต่างในความคิด แต่คือต่างในวิถีชีวิตและคุณธรรม

ผมเกิดมาในยุคที่ชีวิตครอบครัวยังเป็นเรื่องสำคัญ ความสัมพันธ์ของความเป็น “วงศาคณาญาติ” ยังถือเป็นคุณธรรมหลักในสังคมไทย แต่ในระยะ 30 กว่าปีที่ผ่านมานี้ สังคมไทยได้เปลี่ยนไป สู่สภาพที่ภาษาวิชาการเรียกว่า “ความเป็นปัจเจก” จากการเกาะกลุ่มสร้างตัวเองให้กลมกลืนกับสังคมใกล้ตัว กลายเป็นการสร้างตัวตนให้แยกตัวออกมาอย่างโดดเด่นเหนือใคร

วีวรินทร์หรือ “วิเวียน” เป็นชื่อของคนรุ่นใหม่คนหนึ่ง  เธอเกิดในปีที่กำแพงเบอร์ลินถูกรื้อพังลง ในตำราประวัติศาสตร์เรียกช่วงเวลานั้นว่าเป็นจุดสิ้นสุดของยุคสงครามเย็น หรือจะเรียกเธอเหมือนกับคนที่เกิดในปีนั้นคนอื่น ๆ ด้วยก็ได้ว่า “เด็ก ๆ ปี 1990” ทว่าเธอเกิดในประเทศไทย แล้วเธอต้องไปเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ในช่วงนั้นในฐานะอะไร และแตกต่างจากเด็ก ๆ ในช่วงเวลาก่อนหน้านั้นอย่างไร

ปีนี้วิเวียนอายุย่าง 32 ปี ฐานะตำแหน่งทางราชการที่เธอทำงานอยู่ในระดับกลาง แต่ก็เหนือกว่าข้าราชการร่วมรุ่นคนอื่น ๆ ที่อายุใกล้เคียงกัน เพราะเธอเป็นข้าราชการที่ก้าวเข้ามาด้วยระบบ “ฟาสต์แทร็ค” หรือ “ทางลัด” ด้วยการสอบคัดเลือกเข้ามาตามโครงการพัฒนานักบริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่ (นปร.) ของคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (กพร.) ที่ต้องการสร้าง “ข้าราชการพันธุ์ใหม่” เข้าไปสู่ระบบราชการ

คนที่จะมาสอบเข้าโครงการนี้ต้องจบปริญญาโทหรือปริญญาเอกเท่านั้น เมื่อสอบได้แล้วก็จะต้องไปทำงานกับผู้บริหารทั้งภาครัฐและภาคเอกชนเกือบ 2 ปี ในประเทศก็จะต้องไปทำงานในกระทรวงกับผู้บริหารระดับอธิบดีขึ้นไป รวมถึงทำงานในต่างจังหวัดกับผู้ว่าราชการจังหวัด ส่วนในต่างประเทศก็คือทำงานในสถานเอกอัครราชทูต และกับภาคเอกชนก็ต้องเป็นบริษัทชั้นนำของประเทศ

ที่จริงวิเวียนไม่ได้อยากเป็นข้าราชการมาก่อน เพราะไม่ชอบระบบงานที่ใหญ่โตอุ้ยอ้ายและมีกฎระเบียบมากมาย แต่ก็ไม่อยากรองานให้นาน ภายหลังจากเปลี่ยนที่ทำงานในบริษัทด้านการเงินมา 2 แห่ง เธอก็อยากจะทดลองงานใหม่ ๆ ซึ่งพอสอบได้ในโครงการ นปร. แล้วได้ไปเรียนรู้งานทั้งในและต่างประเทศ เธอก็รู้สึกว่าเป็นงานที่ท้าทาย รวมถึงมีโอกาสที่จะสร้างตัวตนให้มีชื่อเสียงนั้นได้อีกด้วย เธอจึงคิดว่าจะลองทำงานเป็นข้าราชการนี้ไปเรื่อย ๆ โดยตั้งความหวังไว้ถึงได้เป็นอธิบดีหรือปลัดกระทรวงนั่นเลย

วิเวียนเกิดในครอบครัวฐานะปานกลาง พ่อเป็นผู้บริหารของบริษัทเอกชน แม่เป็นนักประชาสัมพันธ์ “ฟรีแลนซ์” ทั้งเขียนหนังสือและรับงานโฆษณาประชาสัมพันธ์ต่าง ๆ เธอมีน้องชายอีก 1 คน ซึ่งก็จบปริญญาโทจากต่างประเทศเช่นกัน น้องชายนั้นยังไม่กลับมาเพราะได้งานที่ต่างประเทศ ซึ่งก็ดูเหมือนว่าจะชอบงานที่นั่นเป็นอย่างมาก และคงจะทำงานอยู่ที่ต่างประเทศนั้นไปอีกนาน

ผมได้มีโอกาสคุยกับวิเวียน เพราะวิเวียนได้เข้ามาเรียนในหลักสูตรสำหรับผู้นำรุ่นใหม่ในสถาบันที่ผมเป็นกรรมการหลักสูตรนั้นอยู่ด้วย ผมดูในคลิปประกอบการรับสมัครที่ผู้สมัครทุกคนต้องทำมา ตอนแรกก็สะดุดตานิดหน่อยที่เธอแต่งตัวและแต่งหน้าทำผมค่อนข้าง “เด่น” ไปนิด ทำให้มองไปก่อนว่าผู้สมัครคนนี้คงมีอะไร “เว่อร์ ๆ” แต่พอฟังคำพูดถึงความตั้งใจที่ต้องการจะเข้ามาเรียนในหลักสูตรนี้ ผมก็ทึ่งและนับถือ

“ดิฉันว่าผู้นำเป็นคนสำคัญของทุกองค์กร แต่ในทุกองค์กรที่ดิฉันได้เข้าไปสัมผัสมาหลายปีนี้ ยังไม่เห็นมีผู้นำในอุดมคติที่ไหนเลยสักคน บางทีในหลักสูตรนี้อาจจะเจอสักคนก็ได้ .. หรือไม่ก็อาจจะเป็นดิฉันนี่เอง”

พอถึงวันสัมภาษณ์ ผมก็จำได้ จึงยิงคำถามกับเธอว่า “ที่ว่าผู้นำในอุดมคติของคุณวีวรินทร์คืออะไร” ซึ่งก็ได้คำตอบที่ยังวกวน แต่ก็มีข้อคิดที่น่าสนใจว่า

“ผู้นำไม่ใช่ทำงานเก่ง ทำงานดี ทำงานสำเร็จ ซึ่งดิฉันได้เห็นอยู่ในภาคเอกชน หรือไม่ใช่เอาแต่เคร่งครัดในกฎระเบียบหรือทำตัวเด่นเหนือลูกน้องในภาคราชการ แต่ต้องเป็นคนที่เรารักและเอาแบบอย่างของเขามาทำให้เราเป็นเหมือนเขาได้ ...อย่างนักการเมืองบางคน เป็นคนที่ไม่ดีนักแต่ก็มีคนรักและอยากให้เขากลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีก”

บังเอิญการสัมภาษณ์มีเวลาจำกัด ผมเลยไม่ได้ต่อความยาวสาวความยืดถามต่อไปทั้งที่อยากจะรู้มาก ๆ ว่า คนรุ่นใหม่ก็คิดอย่างนั้นด้วยหรือ แต่เมื่อเธอผ่านการสอบสัมภาษณ์เข้ามาเป็นนักศึกษาได้ ผมก็เลยคอยโอกาสที่จะได้ไถ่ถามในรายละเอียดที่ยังข้องใจนั้นอยู่ ซึ่งเธอก็สอนผมได้อย่างเนียน ๆ ว่า

“อาจารย์ก็สอนรัฐศาสตร์ คงรู้เรื่องการเมืองไทยดีอยู่แล้ว หนูไม่รู้อะไรมากหรอก แต่เห็นหลายคนรอบ ๆ ตัว รวมทั้งชาวบ้านร้านตลาด ก็สงสัยเหมือนกันนะว่าคนที่มีคดีร้ายแรงติดตัวและหนีอยู่ต่างประเทศ ทำไมจึงมีคนรักคนสงสารและเฝ้ารอคอยให้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอยู่อีก

เมืองนอกก็มีนะอาจารย์ ดูอย่างโดนัลด์ ทรัมป์ สิ นั่นคนทั่วโลกก็ว่าแกบ้า ๆ บอ ๆ แต่พอแกประกาศจะลงสมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดีอีกครั้งในปีนี้ ก็เห็นคนอเมริกันแห่แหนต้อนรับกันมหาศาล

หนูคิดง่าย ๆ คนทุกคนมีแขนที่จะจับมือถึงกันได้จำกัด ตอนเด็ก ๆ เราก็มีพ่อกับแม่นั่นแหละที่ยื่นมือให้เราจับ เวลาที่เราว้าเหว่ทุกข์ร้อนหรืออยากได้อะไร ตอนเข้าโรงเรียนเราก็รักคุณครูที่ไม่ดุเรา ช่วยสอนหนังสือให้เราอย่างใจดี ในที่ทำงานเราก็อยากจะได้เจ้านายที่ใจดี มีปัญหาอะไรก็พูดกันดี คอยเป็นกำลังใจให้ เหมือนสามีภรรยาอีกนั่นแหละ ก็ต้องหาคนที่เข้าใจเรา ให้เกียรติเรา และทนเราได้

คนไทยคงไม่ค่อยได้เจอคนที่รู้ใจและมีแต่ให้อย่างคนคน นั้นมั้ง”

ผมไม่ได้โต้แย้งอะไรกับวิเวียน เพราะอยากให้เธอพูดออกมามาก ๆ ความจริงเธอพูดมากกว่าที่ผมโคว้ดมานั้น แต่ผมก็สรุปมาเป็นข้อความที่จะให้เป็นประเด็นชัด ๆ เอาแต่พอกระชับตามที่ผมเข้าใจ

วิเวียนเป็นนักศึกษาที่ตั้งใจเรียน ตลอดหลักสูตรนั้นเธอไม่เคยขาดเรียนเลยสักวัน เพียงแต่ว่าในบางกิจกรรมเธออาจจะดูไม่ค่อยสนใจหรือตั้งใจฟังเท่าใดนัก โดยเฉพาะคาบเรียนที่วิทยากร “ผู้ทรงคุณวุฒิ” ท่านเอาแต่พูด ๆ และไม่มีช่องว่างให้นักศึกษาได้แสดงความคิดเห็นอะไรเลย อีกทั้งในคาบเรียนที่มีนักการเมืองบางคนมาเป็นวิทยากร ก็ดูเหมือนจะพูดเอาแต่ด้านดีของตัวเองออกมาอวดจนน่าอาเจียน

ในช่วงหนึ่งได้มีการออกไปทัศนศึกษายังต่างจังหวัด ผมจึงได้เห็นว่าวิเวียนดูจะสดชื่นแจ่มใสและกระตือรือร้นในการออกพื้นที่เป็นอย่างมาก เธอชอบคุยกับชาวบ้านและผู้คน ไม่เว้นแต่พระสงฆ์และคนเฒ่าคนแก่ บังเอิญผมได้เข้าไปฟังใกล้ ๆ อย่างที่เธอไปคุยกับพระคุณเจ้ารูปหนึ่ง

“หลวงตาบวชนาน ๆ นี่คงไม่ได้เบื่อโลกนะคะ แต่ถ้าเป็นหนู บวชนาน ๆ อย่างนี้ก็คงเบื่อตัวเองเหมือนกัน วัน ๆ ก็อยู่กับวัดและชาวบ้านเดิม ๆ แบบนี้”

ผมจำได้ว่าหลวงตาไม่ได้ตอบอะไร เอาแต่ยิ้ม ๆ และรดน้ำมนต์ให้ศีลให้พร ซึ่งพอเราออกมาจากวัด ผมก็ถามวิเวียนเล่น ๆ ว่า ถ้าวิเวียนเป็นหลวงตา วิเวียนจะตอบคำถามของวิเวียนนั้นว่าอย่างไร ซึ่งเธอก็ตอบด้วยน้ำเสียงที่จริงจังว่า

“หลวงตาจะเบื่อได้อย่างไรเล่า หน้าที่ของพระก็คือช่วยให้ชาวบ้านเขาพ้นทุกข์ อย่างน้อยก็สวดมนต์ให้ฟังและให้ศีลให้พรนั่นไง”