ลีลาชีวิต / ทวี สุรฤทธิกุล

โลกอันเหลื่อมล้ำเพียงแต่กลับมุมมองเสียใหม่ ก็อาจจะเป็นเลื่อมสลับลายให้สวยงามขึ้นได้

ชุมชนชายคลองที่ชุมพลอาศัยอยู่ขยายตัวออกไปอย่างรวดเร็ว ตอนที่ชุมพลสึกออกมาแล้วเพิ่งมาขอคนรู้จักกันอาศัยอยู่ น่าจะมีไม่เกิน 30 หลังคา(กระต๊อบ) และมีความยาวไปตามแนวชายคลองจากตีนสะพานตรงถนนใหญ่กระจายออกไปทั้งสองข้างของสะพานข้างละไม่เกิน 100 เมตร แต่พอปีต่อ ๆ มาก็ขยายออกไปปีละ 10 กว่าหลัง บางปีก็เกือบ 20 หลัง จน 10 ปีผ่านไปก็แผ่ยาวไปตามชายคลองนับกิโลเมตร

ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือ “ความแออัด” เพราะทางเข้าออกจากตีนสะพานมีเพียงด้านเดียว ความกว้างของทางเดินก็ประมาณ 1 วา หรือแคบกว่าเพราะรั้วกระต๊อบเอียงออกมาบ้าง มีกระถางต้นไม้หรือปลูกไม้ดอกไม้ประดับหน้ากระต๊อบนั้นล้ำออกมาบ้าง แรก ๆ ก็ใช้จักรยานกัน ก็พอลากหลบเวลาที่จะผ่านกันพอไปได้ แต่ต่อมาบางบ้านก็มีมอเตอร์ไซค์ ความจอแจวุ่นวายก็เพิ่มมากขึ้น แต่ทุกคนก็ถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน ไม่ถึงกับมีเรื่องทะเลาะกันใหญ่โต หรือขัดแย้งกันจนมองหน้ากันไม่ได้

ในบางช่วงมีหน่วยราชการบ้าง มหาวิทยาลัยบ้าง รวมถึงองค์กรที่อ้างว่าจะมาช่วยพัฒนาชุมชน พากันเข้ามาเพื่อ “ปรับปรุงคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่” นั่นแหละที่เกิด “ความวุ่นวาย” ที่แท้จริงขึ้นในชุมชน คือส่วนใหญ่ก็จะมาจัดประชุม เรียกชาวชุมชนมาพูดคุย ซึ่งก็ประสบความยากลำบาก เพราะทุกคนที่นี่ต้องทำงานหามรุ่งหามค่ำกันทุกคน ข้อมูลที่องค์กร์เหล่านั้นได้ก็จะมีแต่ปากคำของคนแก่ ๆ หรือคนป่วยที่นอนเฝ้าบ้าน แต่สุดท้ายองค์กรเหล่านั้นก็จะมีข้อสรุปเหมือน ๆ กันว่า “ที่นี่ต้องได้รับการพัฒนาและแก้ไข”

ผมเองก็เป็นนักวิชาการ สอนวิชารัฐศาสตร์ ได้คุยกับชุมพลอยู่บ่อย ๆ ว่าชุมชนชายคลองแห่งนี้มีปัญหาอะไรบ้าง อยากได้บ้านสวย ๆ สะอาด ๆ แบบที่ทางราชการเขาว่านั้นจริงหรือ หรืออยากให้ทางราชการมาจัดระเบียบชีวิตความเป็นอยู่ เช่น ระบบการรักษาความปลอดภัย และสุขอนามัยต่าง ๆ จริงหรือ

ชุมพลตอบว่าทุกคนในชุมชนนี้ไม่เห็นว่าสิ่งที่ทางราชการมาเห็นนั้นจะเป็นปัญหา พวกเขาจัดระเบียบกันเอง อยู่กันอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัย โดยเฉพาะเรื่องไฟไหม้ที่ทุกบ้านจะกลัวกันมาก ก็ช่วยกันตรวจตราดูแล โดยเฉพาะที่ต้องสั่งสอนแนะนำลูกหลาน เรื่องสุขอนามัยความสะอาดก็ทำอย่างดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะถ้าเกิดโรคระบาดอะไรขึ้น แม้แต่โรคตาแดงหรือท้องเสีย ก็จะทำให้เสียการงานไปทั่วกัน ดังนั้นแม้แต่กลิ่นเหม็นต่าง ๆ ถ้าบ้านไหนมีขึ้น ก็จะต้องมีบ้านข้าง ๆ มาช่วยหาสาเหตุและทำลายเสีย แน่นอนว่าการอยู่อย่างแออัดก็มักจะมีเสียงดังรบกวนกันและกัน แต่ทุกบ้านก็พยายามสื่อสารกัน เช่น มีญาติมาเยี่ยม มีเลี้ยงวันเกิดเล็ก ๆ หรืออาจจะต้องทำงานดึก ก็จะระมัดระวังไม่ก่อเสียงอึกทึกในยามวิกาลนั้นด้วย

หน่วยงานต่าง ๆ บางทีก็มาทำโครงการต่าง ๆ ในชุมชน ที่เห็นทำกันบ่อย ๆ ก็คือเรื่องทางเดินและถังขยะ ส่วนระบบไฟฟ้านั้นไม่ต้อง เพราะทุกบ้านที่อยู่ติด ๆ กันนั้นก็จะเปิดไฟหน้าบ้านในเวลากลางคืนเป็นแนวติดต่อกันไปโดยตลอด บางทีก็เอายามาแจก รวมถึงมาขอเอาหมาและแมวไปทำหมันหรือฉีดวัคซีนป้องกันโรคต่าง ๆ ในปี 2554 ที่น้ำท่วมขังกรุงเทพฯอยู่เกือบเดือน ก็จะมีนักการเมืองบางคนมาแจกอาหารและของใช้ รวมถึงมีดาราและคนดัง ๆ เอาทีวีมาถ่ายทอดออกรายการโทรทัศน์อีกด้วย

หลังรัฐประหารปี 2557 หัวหน้าชุมชนมาเดินแจ้งไปตามบ้านหลายหลังและให้บอกต่อ ๆ กันไปว่า ทหารคณะ คสช.จะขอมาคุยกับชาวบ้านชุมชนชายคลองแห่งนี้เรื่อง “การยกระดับคุณภาพชีวิต” เขาอยากให้ทุกคนไปกันมาก ๆ เพราะมีโครงการที่จะ “ให้ของขวัญ” กับชุมชน โดยจัดกางเต็นท์ 4 - 5 หลัง บนที่ดินว่าง ๆ ใกล้ ๆ กับบ้านของผม ทำให้ผมได้เห็นเหตุการณ์ครั้งนี้อยู่ด้วย

การประชุมจัดขึ้นในเช้าวันอาทิตย์ ที่ผู้จัดคงพอทราบว่าชาวบ้านที่มีอาชีพรับจ้างต่าง ๆ เป็นส่วนใหญ่นี้คงจะมีเวลาบ้างในวันอาทิตย์นั้น ซึ่งก็ได้ผลเพราะมีชาวบ้านไปประชุมนับร้อยคน ประชุมเสร็จในเวลาเที่ยงกว่า ๆ แล้วก็มีอาหารเลี้ยงกัน เย็นวันนั้นหลังจากที่ชุมพลเสร็จจากการไปช่วยรื้อเต็นท์ ผมก็ได้เข้าไปถามไถ่ว่าการประชุมเป็นอย่างไรบ้าง

ชุมพลบอกว่า ทหารแจ้งว่ารัฐบาลมีนโยบายจะจัดระเบียบชุมชนชายคลองให้สะอาดสวยงาม  มีความปลอดภัยและปลอดอาชญากรรม เรียกว่า “บ้านมั่นคง” โดยจะเริ่มจากบ้านที่อยู่ติดตีนสะพาน เพื่อให้บริเวณนั้นสวยงามขึ้นก่อน แล้วก็จะขยายไปรอบ ๆ โดยได้โชว์แบบบ้านสองชั้นสวยงาม อ้างว่าในหลาย ๆ ประเทศ เช่น เกาหลีและญี่ปุ่น เขาก็มีปัญหาชุมชนชายคลองแบบนี้ แล้วเขาก็แก้ไขจนสวยงามและเป็นแหล่งท่องเที่ยว รวมถึงสร้างรายได้ให้กับชุมชนเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย

ต่อมาในปี 2559 บริเวณตีนสะพานก็มีบ้านสีสวย ๆ สองชั้นประมาณ 7 - 8 หลัง ปลูกเรียงรายอยู่หย่อมหนึ่ง แล้วก็หยุดอยู่แค่นั้น ผมก็ได้ทราบจากชุมพลอีกเช่นกันว่า ทางราชการได้พยายามขอพื้นที่เพิ่มจากชาวบ้านเพื่อสร้างบ้านสีสวย ๆ นั้นเพิ่มขึ้น แต่ชาวบ้านไม่ยอม โดยชาวบ้านบอกว่าการสร้างบ้านสวย ๆ แต่ละหลังนี้ต้องเสียพื้นที่กระต๊อบไปหลายหลัง คนที่จะมาอยู่บ้านสวย ๆ จะมีการจับสลากว่าใครจะได้อยู่ก่อนหลัง แต่คนที่จับสลากได้บางคนก็ไปขายสิทธิ์ให้คนอื่นต่อ ซึ่งบางทีก็เป็นคนจากข้างนอกที่ไม่ได้อยู่ที่ริมคลองนี้มาก่อนเลย รวมถึงที่ทราบว่ามีคนของทางราชการนั้นเองเป็นนายหน้าหาคนมารับเช่าต่อ ซึ่งชาวบ้านบอกว่าอย่างนี้ก็คือการทำงานแบบ “ผักชีโรยหน้า แล้วเอาผักชีนั้นไปให้เทวดากิน”

พอเลือกตั้ง 2562 ผ่านไป โครงการ “รุกไล่” ชาวบ้านชายคลองก็ชะงักไป ชุมพลบอกว่าบางทีอาจจะเป็นด้วยพวกคนที่มาจากการเลือกตั้งเขารู้ดีว่าชาวบ้านต้องการอะไร แตกต่างจากทหารที่เป็นเผด็จการแล้วตัดสินทำเรื่องต่าง ๆ เอาแต่ใจ รวมถึงที่ปล่อยให้มีคนของทางราชการมาเกาะแกะ “หากิน” อีกด้วย

สำหรับกิจการ “เปลี่ยนโลกสวย” หรือเก็บขยะขายของชุมพลก็ดำเนินไปด้วยดี หลายปีมานี้เขาซื้อรถกระบะมาใช้ขนขยะต่าง ๆ ไปส่งโรงงานรีไซเคิล จาก 1 คันก็เป็น 2 คัน และเขายังถือเคล็ดที่จะไม่ใช้รถใหม่ หรือแม้แต่รถที่ซื้อมาใช้ก็จะรักษาสภาพนั้นไว้ เหมือนอย่างครั้งที่เขามีรถซาเล้งคันแรก ด้วยคาถาเจ้าของร้านซ่อมมอเตอร์ไซค์ที่ให้เขาผ่อนชำระค่าซากรถคันแรกนั้นว่า “ความขลังก็อยู่กับความเก่านี่แหละ”

ผมถามว่านี่เห็นว่าเจ้าของที่ที่ชุมพลมาใช้เก็บคัดแยกขยะเขาจะเอาพื้นที่คืน ชุมพลคงจะลำบากในการที่จะใช้พื้นที่ทำธุรกิจแล้วหรือไม่ ชุมพลก็บอกว่าก็ลำบากอยู่ แต่เขาก็ได้รับน้ำใจจากคนเก่าคนแก่บางคนในซอยนี้และซอยใกล้ ๆ ที่จะให้เขาใช้พื้นที่ว่างข้าง ๆ บ้าน ใช้เป็นที่เก็บคัดแยกขยะและขนบรรทุกรอส่งขาย กิจการของเขาในตอนนี้จึงมีลักษณะที่เป็นแบบ “ค้าขายเคลื่อนที่” คือยังไม่มีที่เป็นหลักแหล่งประจำ ซึ่งเขาก็หวังว่าจะพอหาได้ในเวลาต่อไป เพราะถึงอย่างไรเขาก็ยังรักอาชีพนี้ รวมถึงที่มีคนที่รักเขาที่เห็นเขาทำอาชีพนี้

เขาบอกอีกว่าเขาพอมีเงินเก็บและซื้อที่ดินเก็บไว้ที่สุพรรณบุรี ประมาณ 30 กว่าไร่ แต่ก็อยู่ไปในพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมไกลเมืองสักหน่อย ที่บางทีเขาอาจจะใช้เวลาบั้นปลายไปทำนาเหมือนบรรพบุรุษของเขาที่อยุธยา หรือไม่ก็ให้เช่าแล้วนอนชมต้นข้าวค่อย ๆ เติบโต จากต้นกล้าเล็ก ๆ จนไปถึงตั้งท้องอวดรวงเหลืองอร่ามไปทั่วทุ่ง แต่นั่นแหละก็ต้องพยายามรักษาสุขภาพให้ดี เพราะทุกวันนี้เขาก็ยังต้องอาศัยอยู่ที่บ้านริมคลองแห่งนี้

“ไม่ว่าผมจะตายที่ไหนหรือที่ชายคลองนี้ วิญญาณของผมก็คงจะอยู่แถว ๆ นี้นี่แหละ ผมว่าในเมืองนี้มีอะไรให้ทำสวยมากกว่าที่บ้านนอกเยอะ เพราะบ้านนอกเขาสวยด้วยธรรมชาติอยู่แล้ว”

ชุมพลน่าจะรู้ดีว่า ทุ่งบางเขนแห่งนี้ในอดีตช่างรื่นรมย์เพียงไร และก็ด้วยน้ำมือของมนุษย์นี่เองที่ทำให้ความสวยงามตามธรรมชาตินั้นเปลี่ยนไป