ลีลาชีวิต / ทวี สุรฤทธิกุล

หลายคนเกิดมาเพื่อมีชีวิตให้ผู้อื่น และบางคนปรารถนาจะมีชีวิตอยู่เช่นนั้น

“รัตนะ” คือ “แก้ว” รวมกับ “วรรณะ” คือ “สี” หมายถึง “สีของแก้ว” ที่มีแต่ความสว่างใส ซึ่งแก้วบางก้อนก็ใสสว่างอยู่แล้วตั้งแต่ต้นตามธรรมชาติ แต่แก้วบางก้อนก็ต้องเอามาขัดเกลาเจียระไน จึงจะสว่างใสและเกิดคุณค่า โดยเฉพาะ “ราคา” นั้นมากขึ้น

“เด็กหญิงแก้ว” มีชื่อในสูติบัตรว่า “รัตนวรรณ” เหมือนว่าพ่อกับแม่ตั้งใจจะตั้งชื่อเล่นและชื่อจริงนั้นให้สอดคล้องกัน แต่เมื่อใคร ๆ ไปถามแม่แม่ก็จะตอบว่า เพราะตอนที่แก้วเกิดนั้น เหมือนจะมีแสงสว่างวาบเข้ามาที่บนเตียงคลอด แล้วพอมองไปก็กลายเป็นทารกผู้หญิงนอนร้องเสียงดังจ้าอยู่ในมือพยาบาล ตัวเล็ก ๆ หน้ากลม ๆ ผมดกดำ แต่ผิวที่ออกคล้ำ ๆ กลับดูใสสว่าง แม่จึงเรียกชื่อลูกคนแรกนี้ว่า “แก้ว”

พ่อของแก้วนั้นเป็นเสมียนธนาคารในตัวเมืองที่ต่างจังหวัด แม่ของแก้วเป็นแม่ค้าและเป็นลูกค้าของธนาคารที่พ่อทำงานอยู่นั้น เวลาที่แม่ตามยายเอาเงินไปฝากที่ธนาคารก็จะต้องเจอกับพ่อเสมอ ต่อมาแม่ก็ไปฝากเงินเพียงคนเดียว พ่อก็ทักว่าพี่สาวไม่มาด้วยเหรอ แม่ก็โกรธหาว่าพ่อล้อว่าแม่ดูแก่ หน้าตาอายุเท่าพี่สาว แต่พ่อก็บอกว่าล้อเล่น ที่จริงยายคือแม่ของแม่นั่นแหละที่ดูสาว แม่ก็เลยหายโกรธ

ไม่นานพ่อก็ให้ผู้จัดการธนาคารเป็นเถ้าแก่มาสู่ขอ แล้วก็จัดงานแต่งงานในภัตตาคาร ในปีต่อมาก็คลอดแก้ว แล้วพ่อก็ต้องย้ายไปเป็นผู้ช่วยสมุหบัญชีที่อีกสาขาหนึ่ง แม่ก็ต้องหอบแก้วมาอยู่ดูแลพ่อที่จังหวัดใหม่นั้นด้วย ที่จังหวัดนี้แก้วได้น้องชายและน้องสาวอีก 2 คน และแก้วก็กำลังเรียนอยู่ในชั้นประถม ๑ แล้ว ก็เกิดปัญหาขึ้นในบ้าน เพราะพ่อไปเกาะแกะกับลูกน้องในธนาคาร จนพนักงานสาวคนนั้นมาอาละวาดถึงบ้าน แม่พยายามปรับความเข้าใจกับพ่อ แต่พ่อก็ไม่ช่วยแก้ปัญหา แม่น้อยใจพ่อมาก เลยหอบลูกทั้งสามและอีกคนหนึ่งที่อยู่ในท้องไปอาศัยอยู่กับญาติที่อีกจังหวัดหนึ่ง

พอแม่คลอดลูกคนที่สี่ได้ไม่นานก็ป่วยหนักและเสียชีวิต พ่อที่ตอนนี้ได้ตำแหน่งเป็นสมุหบัญชีที่สาขาเดิมนั้นแล้ว ก็ขับรถมารับลูก ๆ ทั้งสี่คนไปอยู่ด้วย ไม่รู้ว่าโชคร้ายหรือโชคดี เพราะแม่เลี้ยงซึ่งก็คือพนักงานธนาคารที่กลายมาเป็นภรรยาใหม่ของพ่อนั้นไม่ได้มีลูกกับพ่อ เธอทำท่าว่ารักเด็กทั้งสี่คนนั้นมาก เหมือนกับว่าเป็นลูกของตัวเอง แต่ก็ในเพียงไม่กี่เดือนแรก ๆ เท่านั้น เพราะต่อจากนั้นก็ได้กลายเป็นแม่เลี้ยงใจร้าย ใช้งานแก้วและน้องทุกคนที่พอจะทำงานอะไรได้ ไม่ว่าจะถูบ้าน กวาดบ้าน หรือซักผ้า ให้ทำงานเหล่านั้นแทบทุกวัน แก้วเองยังต้องมีหน้าที่ทำกับข้าว เพราะเผลอไปตอบคำถามว่าทำกับข้าวเป็น เพราะเคยช่วยแม่ทำกับข้าวอยู่เป็นประจำ แก้วแอบร้องไห้บ่อย ๆ เวลาที่เหนื่อยมาก ๆ เคยบอกเรื่องนี้กับพ่อ แต่พ่อก็ทำเฉย ๆ ทำให้แก้วยิ่งน้อยใจมากขึ้นไปอีก

ตอนที่แก้วกำลังจะขึ้นชั้นมัธยม แก้วแอบเขียนจดหมายถึงญาติที่เป็นพี่ชายของพ่อ ชื่อลุงเดช เพราะเขาเคยมาเยี่ยมพ่อและแก้วก็ได้รู้จัก ซึ่งลุงเดชนี้ดีต่อแก้วและน้อง ๆ มาก ทั้งเมื่อมาเห็นสภาพที่อยู่ในบ้านกับแม่เลี้ยงแล้ว ก็ยังแอบบอกว่าถ้ามีปัญหาอะไรให้เขียนจดหมายมาบอกได้เลยนะ ซึ่งเมื่อแก้วเขียนจดหมายไปก็ได้รับคำแนะนำตอบกลับมาว่า ให้แจ้งมาในวันที่พ่อกับแม่เลี้ยงไปเที่ยวหรือออกไปต่างจังหวัด ลุงเดชจะเอารถไปรับเข้ามาอยู่ที่กรุงเทพฯ

วันที่ลุงเดชมารับนั้น แก้วบอกกับน้องทั้งสามว่าเดี๋ยวลุงเดชจะพาไปเที่ยวกรุงเทพฯ ขอให้แต่งตัวสวย ๆ และเอาเสื้อผ้าไปเปลี่ยนหลาย ๆ ชุด เพราะจะไปเที่ยวหลายวัน แต่ก็ไปอยู่กันเป็นนาน หลายวันผ่านไปจนเป็นสัปดาห์และเดือน น้อง ๆ เริ่มผิดสังเกต ลุงเดชเลยต้องบอกความจริงว่า พ่อของพวกเขารู้เรื่องแล้ว เพราะลุงเดชโทรศัพท์ไปคุยด้วยในวันต่อมาที่พาออกมาจากบ้านนั้น โดยพ่อก็ยินยอมให้ลุงช่วยเลี้ยงและส่งเสียให้ได้เรียนหนังสือต่อไป

บ้านลุงเดชเป็นบ้านหลังใหญ่อยู่กันหลายคน ลุงเดชเองก็มีลูก 4 คน แต่เป็นผู้ชายทั้งหมด อายุไล่เลี่ยกันกับแก้วและน้อง ๆ ของแก้ว โดยดูเหมือนว่าแก้วจะเป็นพี่ใหญ่สุดในบ้าน ป้าวิภาภรรยาของลุงเดชก็รักแก้วเหมือนลูกคนโต และดูเหมือนจะรักมากเป็นพิเศษเพราะไม่มีลูกสาว แก้วช่วยป้าวิภาทำงานบ้านอย่างเต็มใจและมีความสุข ป้าวิภามีงานประจำอยู่ด้วย คือช่วยลุงเดชที่เป็นผู้จัดการฝ่ายขายของจักรเย็บผ้ายี่ห้อดัง ที่ไม่ได้ขายแต่จักรเย็บผ้า แต่ยังขายเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านอื่น ๆ แบบผ่อนส่ง และมีลูกค้าเป็นจำนวนมาก ป้าวิภาต้องช่วยไปตามเก็บเงินที่ผ่อนงวดสินค้าเหล่านั้น แล้วเอามานับ ทำบัญชีส่งเข้าบริษัท ทำให้ไม่ค่อยมีเวลาดูแลบ้านเท่าใดนัก แก้วจึงได้เข้ามารับภาระในเรื่องงานบ้านนี้อย่างเต็มตัว แม้จะเป็นเพียงเด็กอายุ 14 - 15 แต่แก้วก็ทำงานได้อย่างผู้ใหญ่คนหนึ่ง ที่อาจจะเป็นด้วยต้องทำงานแบบนั้นมาตั้งแต่เด็ก ๆ

โรงเรียนมัธยมที่แก้วเรียนอยู่อีกฟากของแม่น้ำเจ้าพระยา แก้วต้องตื่นตั้งแต่ตีห้าเพื่อเตรียมกับข้าวให้น้อง ๆ และคนในบ้าน พอเจ็ดโมงอาบน้ำแต่งตัวเสร็จแล้ว ก็ออกจากบ้าน เดินผ่านตลาดหน้าบ้านไปขึ้นรถเมล์ที่ด้านหน้าตลาด ลงรถเมล์ที่ถนนทางลงท่าเรือ ขึ้นเรือข้ามฟากไปขึ้นรถเมล์ที่ฝั่งตรงข้าม จนไปถึงโรงเรียน ทั้งหมดนี้ใช้เวลา 40-45 นาที เพราะสมัยนั้นรถยังไม่ติด ไปไหนมาไหนสามารถกำหนดเวลาได้ ซึ่งแก้วก็จะไปถึงโรงเรียนก่อนเข้าแถวในเวลา 8 โมงเช้านั้นทุกวัน

เลิกเรียนบ่ายสามโมง แก้วก็ไม่เคยเถลไถล เว้นแต่วันไหนที่โรงเรียนมีกิจกรรมพิเศษก็อาจจะกลับช้าไปบ้างสัก 1 - 2 ชั่วโมง แต่แก้วก็ต้องรีบกลับบ้าน เพราะเมื่อลงรถเมล์ที่ตลาดหน้าบ้านแล้วก็ต้องแวะจ่ายตลาด ด้วยเงินที่ป้าวิภาให้มาวันละ 20 บาทนั้นทุกวัน เพื่อทำกับข้าวมื้อเย็นและมื้อเช้า สมัยนั้นเมื่อห้าสิบปีก่อน เนื้อหมูกิโลกรัมละ 7-8 บาท แบ่งทำได้หลายอย่าง ไข่เป็ดฟองละ 50 สตางค์ และผักกิโลกรัมละ 2-3 บาท ส่วนกะปิน้ำปลาพริกหอมกระเทียม ป้าวิภาก็จะให้ซื้อตุนไว้ใช้ได้ทีละเป็นเดือน ๆ

แก้วเองก็เป็นแม่ค้ามาตั้งแต่เด็ก ๆ นั้นด้วย คือตั้งแต่อยู่ชั้นประถมที่ต่างจังหวัด พ่อจะให้เงินไว้ใช้จ่ายกับแก้วและน้อง ๆ ให้แก้วเป็นคนดูแล แก้วก็ประหยัดใช้พอมีเงินเหลือก็เก็บใส่กระปุก พอสิ้นเดือนก็จะได้เงินสัก 5 บาท 10 บาท ก็จะเอาไปซื้อทอฟฟี่และขนมที่เด็ก ๆ ชอบกิน เอาไปขายที่โรงเรียน ได้กำไรครั้งละ 1-2 บาท แล้วกำไรนั้นไปซื้อไอศกรีมและขนมอร่อย ๆ มาเลี้ยงน้อง ๆ พอมาอยู่โรงเรียนมัธยมในกรุงเทพฯ ก็เอาเงินเก็บที่ป้ากับลุงจ่ายให้รายวันนั้น เอาไปซื้อของสวย ๆ งามพวกกิ๊บและโบติดผม ไปขายให้เพื่อน ๆ นักเรียนด้วยกัน ก็ขายได้ดีพอสมควร

แก้ววาดอนาคตว่าอยากจะเป็นคนรวย อยากเป็นแม่ค้าขายของได้เงินเยอะ ๆ เอาเงินนั้นเลี้ยงน้อง ส่งน้องเข้าเรียนมหาวิทยาลัย เพราะลุงกับป้าคงไม่ได้ส่งเสียแก้วกับน้อง ๆ จนถึงขั้นนั้น เพราะลูกของลุงกับป้าเองก็มีค่าใช้จ่ายมาก แก้วกับน้อง ๆ ก็ไม่อยากจะเป็นภาระอะไร แม้ว่าลุงกับป้าจะพูดอยู่เสมอว่า จะเลี้ยงดูแก้วกับน้อง ๆ ให้ได้ดีจนถึงที่สุด

ที่สำคัญลุงกับป้าก็ไม่ได้อยู่ค้ำฟ้า ที่สุดแก้วกับน้อง ๆ ก็ต้องพึ่งตัวของตัวเองต่อไป