" การที่คนสมัยใหม่บอกว่าคนสมัยเก่ามีความรู้น้อยก็อาจเป็นจริง
แล้วคนสมัยใหม่ดูถูกหรือเหยียดหยามคนสมัยเก่าก็มีสิทธิ์
แต่ถ้าพูดตามความจริงแล้ว สิทธิ์ที่จะเหยียดหยามคนรุ่นเก่าไม่ควรจะมี
ด้วยเหตุว่า .. คนรุ่นเก่านี้เองทำให้คนรุ่นใหม่เกิดขึ้นมาได้ "
พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
พระราชทานแก่ คณะบุคคลต่างๆ
เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 4 ธันวาคม 2531
สิ้นเสียงแถลงการณ์จากสำนักพระราชวังในคืนวันที่ 13 ตุลาคม พุทธศักราช 2559 ความระทมทุกข์จากการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้ยังความเศร้าโศกให้แก่พสกนิกรไทยทั่วหล้า .. ทว่าในฐานะ "พสกนิกรไทย" ที่ได้เกิดมาภายใต้ร่มพระบรมโพธิสมภาร สิ่งที่ยังพอกระทำได้คือการ "ทำความดี" และน้อมดำเนินชีวิตตามรอยเบื้องพระยุคลบาท ให้สมกับการเป็นข้าพระบาทในแผ่นดิน "พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามมินทราธิราช บรมนาถบพิตร"
หนึ่งในพระจริยวัตรงดงามสำคัญแห่งองค์กษัตริย์ ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช คือทรงดำรงพระองค์ด้วย "ทศพิธราชธรรม" หรือ "ราชธรรม 10" มาตลอดรัชสมัย ... เพื่อร่วมถวายอาลัย "ทีมข่าวนิวเจนเนอเรชั่น" ขออัญเชิญพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่เกี่ยวเนื่องด้วยทศพิธราชธรรม (คุณธรรม 10 ประการของพระเจ้าแผ่นดิน) ซึ่งบุคคลทั่วไปโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่สามารถน้อมนำมาประพฤติและปฏิบัติเพื่อความเป็นมงคลแก่ชีวิตได้ ดังนี้
1. ทาน (ทานํ) คือ การให้
... " คุณธรรม ข้อหนึ่งที่ยังมีอยู่อย่างบริบูรณ์ในจิตใจของคนไทยก็คือ การให้ การให้นี้ไม่ว่าจะให้สิ่งใด แก่ผู้ใดโดยสถานใดก็ตาม เป็นสิ่งที่พึงประสงค์อย่างยิ่ง เพราะเป็นเครื่องประสานไมตรีอย่างสำคัญ ระหว่างบุคคลกับบุคคลและให้สังคมมี ความมั่นคงเป็นปึกแผ่นด้วยสามัคคีธรรม "
พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
เนื่องในโอกาสวันขึ้นปีใหม่
31 ธันวาคม 2549
2. ศีล (สีลํ) คือ ความประพฤติที่ดีงาม ทั้ง กาย วาจา และใจ
... " การทำความดีนั้น โดยมากเป็นการเดินทวนกระแสความพอใจและความต้องการของมนุษย์ จึงทำได้ยากและเห็นผลช้า แต่ก็จำเป็นต้องทำ เพราะหาไม่ ความชั่ว ซึ่งทำได้ง่ายจะเข้ามาแทนที่ แล้วจะพอกพูนขึ้นอย่างรวดเร็วโดยไม่ทันรู้สึกตัว "
พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ในพิธีพระราชทานกระบี่และปริญญาบัตรแก่ว่าที่ร้อยตำรวจตรีฯ
โรงเรียนนายร้อยตำรวจฯ
10 มีนาคม 2529
3. บริจาค (ปริจาคํ) คือ การเสียสละความสุขสวนตนเพื่อความสุขส่วนรวม
... " สังคม ใดก็ตาม ถ้ามีความเอื้อเฟื้อเกื้อกูลกัน ด้วยความมุ่งดีมุ่งเจริญต่อกัน สังคมนั้นย่อมเต็มไปด้วยไมตรีจิต มิตรภาพ มีความร่มเย็นเป็นสุข น่าอยู่ "
พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
เพื่ออัญเชิญลงพิมพ์ในนิตยสารที่ระลึกครบรอบ 36 ปี ของสโมสรไลออนส์กรุงเทพฯ
31 มีนาคม 2538
4. ความซื่อตรง (อาชฺชวํ) คือ การสุจริตต่อหน้าที่การงานของตน ต่อมิตรสหาย ต่อองค์กรหรือหลักการของตน
... " ถ้าทำงานด้วยความตั้งใจที่จะให้เกิดผลอันยิ่งใหญ่ คือความเป็นปึกแผ่นของประเทศชาติ ด้วยความสุจริตและด้วยความรู้ความสามารถด้วยจริงใจ ไม่นึกถึงเงินทองหรือนึกถึงผลประโยชน์ใดๆ ก็เป็นการทำหน้าที่โดยตรงและได้ทำหน้าที่โดยเต็มที่ "
พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
พระราชทานแก่ ศึกษาธิการจังหวัดทั่วประเทศ
13 ธันวาคม 2511
5. ความอ่อนโยน (มทฺทวํ) คือ การมีอัธยาศัยอ่อนโยน
... " คนเราอยู่คนเดียวไม่ได้ จะต้องอยู่เป็นหมู่คณะ และถ้าหมู่คณะนั้นมีความสามัคคี คือเห็นอกเห็นใจ ซึ่งกันและกัน ช่วยเหลือในทุกเมื่อ ช่วยกันคิดว่าสิ่งใดควร สิ่งใดไม่สมควร สิ่งใดที่จะทำให้นำมาสู่ความเจริญ ความมั่นคง ความสุขก็ทำ สิ่งใดที่นำมาซึ่งหายนะหรือเสียหายก็เว้น และช่วยกันปฏิบัติทั้งหน้าที่ทางกายทั้งหน้าที่ทางใจ "
พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ในพิธีพระราชทานธงประจำรุ่นลูกเสือชาวบ้าน จ.สระบุรี
16 เมษายน 2519
6. ความเพียร (ตปํ) คือ ความเพียร
... " การดำรงชีวิตที่ดีจะต้องปรับปรุงตัวตลอดเวลา การปรับปรุงตัวจะต้องมีความเพียรและความอดทน เป็นที่ตั้ง ถ้าคนเราไม่หมั่นเพียร ไม่มีความอดทน ก็อาจจะท้อใจไปโดยง่าย เมื่อท้อใจไปแล้ว ไม่มีทางที่จะมีชีวิตเจริญรุ่งเรืองแน่ๆ "
พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
พระราชทานแก่ครูและนักเรียน โรงเรียนจิตรลดา
27 มีนาคม 2523
7. ความไม่โกรธ (อกฺโกธํ) คือ การไม่แสดงอาการโกรธ
... " ความสามัคคีนั้น อาจหมายความถึงเห็นชอบเห็นพ้องกันโดยไม่แย้งกัน ความจริงงานทุกอย่างหรือการอยู่ เป็นสังคมย่อมต้องมีความขัดแย้งกัน ความคิดต่างกัน ซึ่งไม่เสียหาย แต่อยู่ที่จิตใจของเรา ถ้าเราใช้หลักวิชา และความปรองดองด้วยการใช้ปัญญา การแย้งต่าง ๆ ย่อมเป็นประโยชน์ หากมีรากฐานของความคิดอย่างเดียวกัน รากฐานของความคิดนั้นคือ แต่ละคนจะต้องทำให้บ้านเมืองมีความมีความเป็นปึกแผ่น "
พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพรเจ้าอยู่หัว
พระราชทานแก่ผู้เข้าเฝ้าฯ มีพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ฯ
29 ตุลาคม 2517
8. ความไม่เบียดเบียน (อวิหิงสา) คือ การดำเนินชีวิตไปตามทางสายกลาง
... " การมีเสรีภาพนั้น เป็นของที่ดีอย่างยิ่ง แต่เมื่อจะใช้ จำเป็นต้องใช้ด้วยความระมัดระวัง ตามความรับผิดชอบ มิให้ล่วงละเมิดเสรีภาพของผู้อื่นที่เขามีอยู่เท่าเทียมกัน ทั้งมิให้กระทบกระเทือนถึงสวัสดิภาพและความเป็นปกติสุข ของส่วนร่วมด้วย "
พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
พระราชทานแก่ผู้บังคับบัญชาลูกเสือ
9 กรกฎาคม 2514
9. ความอดทน (ขนฺติ) คือการรักษาปกติภาวะของตนไว้ได้ ไม่ว่าจะถูกกระทบกระทั่งด้วยสิ่งอันเป็นที่พึงปรารถนาหรือไม่พึงปรารถนาก็ตาม มีความมั่นคงหนักแน่นไม่หวั่นไหว
... " ความเข้มแข็งในจิตใจนี้เป็นสิ่งที่สำคัญที่จะต้องฝึกฝนแต่เล็กเพราะว่าต่อไป ถ้ามีชีวิตที่ลำบาก ไปประสบอุปสรรคใดๆ ถ้าไม่มีความเข้มแข็ง ไม่มีความรู้ ไม่มีทางที่จะผ่านอุปสรรคนั้นได้ เพราะว่าถ้าไม่เจออุปสรรคอะไร ก็ไม่มีอะไรที่จะมาช่วยเราได้แต่ถ้ามีความรู้ มีอัธยาศัยที่ดี และมีความเข้มแข็ง ในกาย ในใจ ก็สามารถที่จะผ่านพ้นอุปสรรคต่างๆ นั้นได้ "
พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
พระราชทานแก่คณะครูและนักเรียนโรงเรียนราชวินิต
31 ตุลาคม 2518
10. ความเที่ยงธรรม (อวิโรธนํ) คือ ความหนักแน่น ถือความถูกต้อง เที่ยงธรรมเป็นหลัก
... " ความเจริญของคนทั้งหลาย ย่อมเกิดมาจากประพฤติชอบและการหาเลี้ยงชีพชอบ เป็นหลักสำคัญ ผู้ที่จะสามารถประพฤติชอบและหาเลี้ยงชีพชอบได้ด้วยนั้น ย่อมจะมีทั้งวิชาความรู้ ทั้งหลักธรรมทางศาสนา เพราะสิ่งแรกเป็นปัจจัยสำหรับใช้กระทำการทำงาน สิ่งหลังเป็นปัจจัยสำหรับส่งเสริมความประพฤติ และการปฏิบัติงานให้ชอบคือให้ถูกต้องและเป็นธรรม "
พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
พระราชทานแก่ครูโรงเรียนราษฎร์สอนศาสนาอิสลาม
4 จังหวัดภาคใต้ จังหวัดปัตตานี
24 สิงหาคม 2519
ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้
ข้าพระพุทธเจ้า "ทีมข่าวนิวเจนเนอเรชั่น"
Cr. : ภาพ
1- "ธรรมะ" (ศิลปิน : ระฐาพัชร์ พิชิตศิลปธำรง)
2- "จักรีนฤบดินทร์ นวมินทราชา" (ศิลปิน : อดิศักดิ์ พานิชกุล)
3- "แผนที่ กล้อง ดินสอ ของพระเจ้าอยู่หัวของชาวไทย" (ศิลปิน : สุวิทย์ หลีดุลย์)
อ้างอิงภาพจาก : www.bloggang.com/mainblog.php?id=haiku&group=22&month=05-09-2012&gblog=23