ลีลาชีวิต / ทวี สุรฤทธิกุล

ความฝันไม่สามารถสร้างตัวมันเองได้ ต้องสร้างขึ้นด้วยคน และบางครั้งก็ต้องร่วมกันหลายคน

ตอนที่อยู่สวนผักที่ตลิ่งชัน เฮ้งเล่าว่าในฤดูฝนเป็นฤดูที่เหนื่อยและ “ทารุณ” ที่สุด พออายุสัก 5 ขวบที่เขาจำความได้ พ่อกับแม่ต้องทำงานหนักตลอดวัน เพราะฝนตกหนักตลอดวันตลอดคืนอยู่เป็นช่วง ๆ พ่อต้องไปดูร่องผักไม่ให้น้ำท่วม ต้องคอยระบายน้ำด้วยการวิดออกด้วยพวยที่ทำจากกาบหมากหรือกาบมะพร้าว เพราะสมัยนั้นยังไม่มีเครื่องสูบน้ำ ในบ้านก็ถูกฝนสาดเปียกนองเข้ามา หลังคาก็รั่ว เด็ก ๆ ต้องคอยเอาปี๊บมารองน้ำหรือหาใบไม้กับใบตองมาอุดปิด ขณะเดียวกันก็ต้องเก็บผักส่งพวกเรือที่มารับผักในตอนบ่าย ชีวิตจึงวุ่นวายมาก แต่ที่แย่ไปกว่านั้นคือการใส่ปุ๋ย เพราะปุ๋ยที่ใช้คือขี้หมู ที่สุดขยะแขยงทั้งหน้าตาและกลิ่น

ขี้หมูนี้จะมีคนงานที่เป็นคนจีนเหมือนกัน หาบขึ้นมาจากเรือจากคอกหมูที่อยู่อีกลำคลองหนึ่งใกล้ ๆ กัน มาเทไว้ในบ่อขนาดใหญ่ริมคลอง แล้วคนงานในสวนที่มีอยู่หลายคนรวมถึงพ่อกับแม่ของเฮ้งด้วยนี้ ก็ต้องหาบไปผสมน้ำให้ลดความข้นลงสักหน่อย เพื่อให้สาดราดไปที่แปลงผักได้ง่ายและทั่วถึง ขี้หมูที่เอามาเทกองไว้ในบ่อนี้ บางวันก็ไม่ได้รดเพราะฝนตกหนัก พอโดนน้ำฝนเข้ามาผสมก็ยิ่งส่งกลิ่นรุนแรง แต่ที่น่าขยะแขยงไปกว่านั้นก็คือตัวหนอนที่ยั้วเยี้ย เฮ้งบอกว่าพอได้เห็นก็ถึงกับกินข้าวไม่ได้ไปเลยในวันนั้น

พ่อมีวิธีแก้ปัญหากลิ่นขี้หมูนี้อย่างง่าย ๆ ด้วยการเผาทางมะพร้าวไว้ที่ปากหลุมที่เขาเอาขี้หมูมาเท นอกจากจะพอกลบกลิ่นขี้หมูได้บ้างแล้ว ก็ยังไล่แมลงวันที่เป็นตัวมาวางไข่แล้วทำให้เกิดหนอนได้อีกด้วย ทำให้มีหนอนน้อยลง รวมทั้งในเวลากลางคืนก็ยังไล่ยุงได้อีกด้วย ส่วนพวกเด็ก ๆ ที่ทนกลิ่นขี้หมูไม่ได้ แม่ก็เอายาหม่องบ้าง ยาหอมบ้าง มาทาและให้สูดดม ก็พอช่วยให้ทุกคนนอนหลับได้ทุกคืน แต่กระนั้นกลิ่นขี้หมูนี้ก็เป็นฝันร้ายของเฮ้งมาโดยตลอด จนถึงเวลาที่เฮ้งอยากจะมีบ้านสวน เขาก็ยังผวาถึงเรื่องนี้

ตอนที่พ่อกับแม่พาเฮ้งและพี่ ๆ ย้ายจากสวนผักมาอยู่ที่โบ๊เบ๊ เขาก็นึกว่าสภาพแวดล้อมก็คงจะดีกว่าที่ตลิ่งชันนั้นมาก แต่เขาก็คาดผิด เพราะ “กลิ่นน้ำคลอง” ของคลองผดุงกรุงเกษมนั้นก็สุดทารุณไม่เบาเหมือนกัน ห้องแถวที่พ่อแม่ย้ายมาอยู่นั้นอยู่ติดริมคลอง ปลูกเป็นเพิงไม้มุงสังกะสีเรียงรายไปเป็นสิบ ๆ ห้อง มีหลายหลัง สภาพแออัดมากแบบหลังคาซ้อนหลังคา อย่างที่ภาษาราชการเรียกว่า “สลัม” ทุกคนก็ใช้คลองนี่แหละทำ “กิจวัตร” ทุกอย่าง มีแต่น้ำดื่มและหุงข้าวเท่านั้นที่ให้คนหาบมาขายให้เป็นปี๊บ ๆ เพราะประปายังไม่มีมาถึงห้องแถวให้เช่าเหล่านั้น คลองนั้นจึงสกปรกมาก ๆ แถมเวลาที่เรือหางยาววิ่งไปมา นอกจากเสียงที่แสบแก้วหูแล้ว คลื่นน้ำที่ซัดเข้ามาตามฝาห้องแถวริมคลองนั้นก็ดำคล้ำและส่งกลิ่นแสบจมูก ดังนั้นถ้ามีเรือหางยาวลำไหนวิ่งมาตอนกลางคืน ก็มักจะมีคนเอาหนังสติ๊กไปดักยิง จนเรือเหล่านั้นเลิกวิ่งหรือเงียบเสียงไป

พี่ชายกับพี่สาวที่ทำงานโรงงานยาหม่องแถวยศเส ส่งเงินมาให้พ่อกับแม่เป็นประจำ พ่อเปลี่ยนฐานะจากกรรมกรแบกหามลังผ้าถุงผ้าไปขึ้นรถบรรทุก เป็นคนถีบสามล้อบรรทุกของ อย่างที่เรียกว่า “ซาเล้ง” ทำให้ทุ่นแรงและเพิ่มรายได้ขึ้นมาก ส่วนแม่ก็ได้ลูกมือเป็นคนอีสาน ๒ คนมาช่วยเย็บเสื้อโหล ทำให้รับงานได้มากขึ้น ซึ่งก็หมายถึงรายรับที่มากขึ้น สำหรับพี่ ๆ อีก ๓ คน รวมกับเฮ้งด้วยเป็น ๔ คนนั้น ไม่ได้ทำงานเหนื่อยเหมือนเมื่อครั้งที่อยู่ในสวน แต่ก็ช่วยกันไปขอเศษผ้าและเก็บเศษผ้าที่โรงงานแถวนั้นไม่เอา มาให้แม่กับคนงานของแม่ทำที่เช็ดเท้า หรือถ้าเป็นผ้าดี ๆ หน่อยก็ทำที่รองจานชาม เพิ่มรายได้ได้พอสมควรเหมือนกัน

ตอนที่เฮ้งเข้าโรงเรียนชั้นมัธยม ครอบครัวของเขาก็มีฐานะดีขึ้นมาก พ่อกับแม่ย้ายจากห้องแถวริมคลองมาอยู่บน “ตึกแถว” ด้านในตลาด เพราะชั้นล่างถูกเช่าเป็นร้านขายส่ง ส่วนชั้นบนก็แบ่งเป็นห้องให้เช่า พ่อกับแม่เช่าอยู่บนชั้นสามจำนวน 2 ห้อง แบ่งห้องเป็นที่อยู่ซึ่งกั้นฝาให้เป็นห้องนอนของลูก ๆ 4 คน ส่วนอีกห้องเป็น “โรงเย็บผ้า” ของแม่กับคนงานที่ตอนนี้มีเพิ่มมาอีก 2 คน กับกั้นมุมห้องเป็นที่นอนของพ่อแม่นั้นด้วย เมื่อพี่ ๆ เรียนจบมหาวิทยาลัย ก็ทยอยออกไปทำงานทีละคน ๆ จนในปีที่เฮ้งเข้ามหาวิทยาลัย พ่อกับแม่ก็พากันไปอยู่ที่บ้านจัดสรรแถวสำโรง ซึ่งพี่ ๆ ลงขันกันดาวน์และช่วยกันผ่อนให้พ่อแม่ และให้พ่อแม่พักจากงานที่เหน็ดเหนื่อยมาตลอดชีวิต กระนั้นพ่อกับแม่ก็ยัง “แอบ” ทำมาค้าขายอยู่บ้าง โดยช่วยพี่สาวคนรองที่ผู้จัดการโรงงานการ์เม้นต์ขายเสื้อผ้าไปตามต่างจังหวัด รวมถึงในเวลาต่อมาที่มีลูกค้าในต่างประเทศ ก็ช่วยหาคนงานไปทำงานในโรงงานต่าง ๆ เพื่อขยายการผลิตของโรงงานเหล่านั้นด้วย

เฮ้งมักได้ยินพ่อกับแม่พูดกับลูก ๆ เสมอ ๆ มาตั้งแต่เขายังเล็ก ๆ ว่า ลูกคนโน้นลูกคนนี้ “ให้โชค” รวมถึงการตั้งชื่อให้กับเขา แต่แรกก็ตั้งชื่อว่า “เฮง” แต่เพื่อน ๆ มักจะเรียกว่า “เฮ้ง” เขาก็เลยมีชื่อว่าเฮ้งมาโดยตลอด ชื่อจริงนั้นพ่อกับแม่ให้เถ้าแก่ที่เป็นเจ้าของสวนตั้งให้ ก็ตั้งให้ว่า “สวัสดิ์” และใช้ชื่อนี้มาจนจบมหาวิทยาลัย แต่อยู่ ๆ วันหนึ่งเขาก็อยากจะนำคำว่า “เฮง”ที่พ่อแม่ตั้งให้ มารวมใส่ไว้กับชื่อ “สวัสดิ์” โดยคิดเอาเองว่าน่าจะเพิ่มความเป็นสิริมงคลกับชีวิต พอเขามีอายุได้ 20 ปี ที่เขาสามารถทำนิติกรรมต่าง ๆ ได้ด้วยตนเอง เขาก็แอบไปเปลี่ยนชื่อที่อำเภอเป็น “เฮงสวัสดิ์” จนเมื่อเขาจบมหาวิทยาลัยในปีต่อมา เขาจึงไปบอกกับพ่อแม่ แต่ก็ต้องแปลกใจที่พ่อแม่ไม่ตำหนิเขาเลยสักคำ แถมยังอวยชัยให้พรให้เจริญรุ่งเรืองมาก ๆ ขึ้นไปอีกด้วย และก็เป็นไปดั่งพรจากปากของพ่อแม่นั้นจริง ๆ

พ่อกับแม่พอรู้ว่าเขาสอบเข้าเรียนในคณะบัญชีได้ก็ดีใจมาก แม่เที่ยวเอาไปคุยกับใครต่อใครไปทั้งตลาด รวมถึงเถ้าแก่โรงงานที่แม่รับจ้างเย็บผ้านั้นด้วย พอดีกับเถ้าแก่ก็มีบริษัทส่งออกเสื้อผ้าไปต่างประเทศที่เพิ่งเปิดได้ไม่นาน กำลังต้องการนักบัญชี เลยขอให้แม่เอาลูกชายมาทำงานให้ด้วย เพราะคนจีนจะเชื่อถือในเรื่องของ “สายเลือด” ว่า ถ้าพ่อแม่หรือผู้ใหญ่ในตระกูลเป็นคนดี ลูกหลานก็จะเป็นคนดีด้วย นายเฮ้งหรือ “เฮงสวัสดิ์” ในชื่อใหม่ จึงได้เริ่มต้นทำงานในงานที่ดีและมั่นคง เขาจึงเชื่อว่าส่วนหนึ่งน่าจะเป็นด้วยชื่อใหม่ที่เขาเปลี่ยนมานี้ด้วย

แต่ความเฮงหรือโชคดีของเขาไม่ได้มีเพียงแค่นั้น เพียงปีแรกที่เขาทำงานเขาก็ได้พบกับ “คู่ชีวิต” หรือผู้หญิงที่จะอยู่ด้วยกันกับเขาไปจนตลอดชีวิต เพราะต่อมาเธอได้เป็นคู่ชีวิตที่เขาพอใจมาก ๆ ไม่เพียงแต่ทำให้ตัวเขามีความสุขมากขึ้นแล้ว ยังช่วยให้ความฝันต่าง ๆ ในชีวิตของเขาเป็นจริง โดยเฉพาะความฝันเกี่ยวกับครอบครัว ที่รวมตั้งแต่ครอบครัวคู่ของเขา กับครอบครัวของพี่น้องรอบข้าง รวมถึงพ่อแม่ของเขาด้วย

แต่เมื่อความฝันต่าง ๆ มาผสมกัน บางทีความฝันเดิมก็พลาดเพี้ยนไปได้ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับเราจะยอมรับ “ฝันที่เปลี่ยนไป” นั้นได้หรือไม่