กรมส่งเสริมสหกรณ์ ได้กำหนดวิสัยทัศน์ “สหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรเข้มแข็ง เป็นศูนย์กลางการพัฒนาและรักษาสมดุลทางเศรษฐกิจและสังคมในระดับฐานรากของประเทศ” เพื่อดำเนินการพัฒนาสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรมีความเข้มแข็ง และยั่งยืน

โดยต้นปี 2565 ที่ผ่านมา กรมส่งเสริมสหกรณ์ ได้ดำเนินงานตามนโยบายสำคัญของรัฐบาลและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ขับเคลื่อน ผลักดัน ส่งเสริม สร้างความรู้แก่สหกรณ์อย่างรอบด้าน ทั้งการผลิต การบริหารจัดการ การบริหารธุรกิจ การตลาด การนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ในการยกระดับการดำเนินงานของสหกรณ์ให้มีประสิทธิภาพ พัฒนาศักยภาพสหกรณ์ให้มีความเข้มแข็ง พร้อมตอบสนองความต้องการของสมาชิก

นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวว่า กรมฯ ได้ผลักดันสร้างสหกรณ์ระดับอำเภอที่มีคุณภาพมีความแข็งแกร่ง มีความพร้อมในการดูแลสมาชิกเกษตรกรในพื้นที่ รวมทั้งการจัดตั้งสหกรณ์ใหม่ พร้อมพัฒนาให้มีความเติบโตและเข้มแข็งเป็นปึกแผ่น ขับเคลื่อนได้ด้วยตัวเอง โดยจัดทีมงานลงพื้นที่ไปทำงานส่งเสริมสหกรณ์ให้มีความเข้มแข็งส่งผลให้สมาชิกมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น รวมถึงยกระดับการขับเคลื่อนบุคลากรกรมฯ ให้มีมาตรฐานสู่ความสำเร็จ และได้ดำเนินการสนับสนุนปัจจัยโครงสร้างพื้นฐาน สิ่งก่อสร้าง หรือวัสดุ อุปกรณ์ที่เกี่ยวเนื่องกับการแปรรูปให้แก่สหกรณ์ภาคการเกษตรและกลุ่มเกษตรกร ให้มีขีดความสามารถการดำเนินธุรกิจแปรรูป เพื่อให้เกิดการเชื่อมต่อกันเป็นห่วงโซ่อย่างครบวงจร ทั้งการผลิตการรวบรวม การแปรรูป และการตลาด

กรมฯ ยังได้พัฒนาเกษตรกรมีอาชีพที่ยั่งยืนและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ผ่านโครงการต่างๆ อาทิ

โครงการขับเคลื่อนนโยบายส่งเสริมการปรับโครงสร้างการผลิต การรวบรวม และการแปรรูปผลผลิตการเกษตรของสถาบันเกษตรกร ซึ่งตลอดปีที่ผ่านมา ผลลัพธ์ที่ได้ถือว่าเป็นที่น่าพึงพอใจ สหกรณ์และสถาบันเกษตรกรได้รับสนับสนุนอุปกรณ์การตลาด เพื่อนำไปใช้ดำเนินธุรกิจของสหกรณ์อย่างมีประสิทธิภาพ   

โครงการแก้ไขปัญหานี้ค้างชำระของสมาชิกสหกรณ์ โดยส่งเสริมให้สมาชิกสหกรณ์สามารถวางแผนทางการเงินมีการสร้างวินัยในตนเอง และพัฒนาอาชีพที่เหมาะสมกับสมาชิกเพื่อให้มีรายได้ที่มั่นคง สามารถลดปัญหาหนี้สินของสมาชิก จัดการอบรมให้ความรู้การบริหารธุรกิจสินเชื่อของสหกรณ์ภาคการเกษตรให้มีประสิทธิภาพ ส่งเสริมให้สมาชิกสหกรณ์สามารถวางแผนทางการเงิน มีการสร้างวินัยในตนเอง และพัฒนาอาชีพที่เหมาะสมกับตนเอง เพื่อมีรายได้ที่มั่นคง สามารถแก้ไขปัญหาหนี้สินของตนเองได้     

โครงการซูเปอร์มาร์เก็ตสหกรณ์ ปัจจุบันมีร้านสหกรณ์เข้าร่วมโครงการกระจายอยู่ในพื้นที่ 64 จังหวัด 171 แห่ง โดยนำสินค้าจากเครือข่ายสหกรณ์มาจำหน่ายในซูเปอร์มาร์เก็ตสหกรณ์แล้ว 137 แห่ง โดยสหกรณ์ผู้ผลิตนำสินค้าและผลิตภัณฑ์ อาทิ ข้าว ไข่ เนื้อสัตว์แปรรูป ผลิตภัณฑ์นม กาแฟ ผักผลไม้ และสินค้าประมงแปรรูป มาจำหน่ายในรูปแบบซูเปอร์มาร์เก็ตสหกรณ์ ซึ่งยอดจำหน่ายสินค้าในซูเปอร์มาร์เก็ตสหกรณ์ ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564-พฤษภาคม 2565 มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 246,282,919 บาท

โครงการสนับสนุนเงินทุนเพื่อพัฒนาอาชีพสมาชิกสหกรณ์ ส่งเสริมทำการเกษตรแบบผสมผสาน ได้แก่ การปลูกพืชแบบผสมผสาน การปลูกพืชผสมผสานกับการเลี้ยงสัตว์ และการผสมผสานการเลี้ยงสัตว์ รวมทั้งการประกอบอาชีพเสริมอื่นๆ เช่น การเพาะเห็ดฟางจากทะลายปาล์มในสวนยาง การเพาะจิ้งหรีด การเลี้ยงกบในบ่อซีเมนต์ บ่อพลาสติก การปลูกผักในโรงเรือน โดยสนับสนุนเงินกู้ให้กับสหกรณ์กู้ไม่เกินสหกรณ์ละ 5 ล้านบาท อัตราร้อยละ 1 ต่อปี นำไปให้สมาชิกกู้ยืมรายละไม่เกิน 50,000 บาท อัตราดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 1 ต่อปี

โครงการสนับสนุนเงินทุนเพื่อส่งเสริมอาชีพในยุค New Normal เพื่อช่วยเหลือสมาชิกสหกรณ์ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ให้มีเงินทุนหมุนเวียนในการประกอบอาชีพ พัฒนาอาชีพ ฟื้นฟูอาชีพ เพื่อก่อให้เกิดรายได้ โดยสนับสนุนเงินทุนดอกเบี้ยต่ำให้สหกรณ์กู้ไม่เกินสหกรณ์ละ 5 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1 ต่อปี ระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี  นำไปให้สมาชิกกู้รายละไม่เกิน 30,000 บาท อัตราดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 1 ต่อปี ระยะเวลากู้ยืม 1 ปี

นอกจากนี้ ยังขับเคลื่อน โครงการนำลูกหลานเกษตรกรกลับบ้าน สานต่ออาชีพการเกษตร สนับสนุนให้ลูกหลานสมาชิกสหกรณ์หรือบุคคลทั่วไปที่จากบ้านไปประกอบอาชีพในกรุงเทพฯ หรือต่างจังหวัด กลับมาทำการเกษตรที่บ้านเกิด เพื่อสานต่ออาชีพการเกษตร โดยมีการพัฒนาทักษะในการประกอบอาชีพเพื่อสร้างรายได้ ปัจจุบันมีจังหวัดที่ดำเนินโครงการแล้วเสร็จ 41 จังหวัด มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 512 ราย และอยู่ในระหว่างการดำเนินโครงการฯ อีก 36 จังหวัด ในปี 2565 เกษตรกรเป้าหมายได้จัดทำแผนการผลิตแล้ว จำนวน 756 ราย เข้าร่วมกิจกรรมกับหน่วยงานต่างๆ ที่บูรณาการร่วมกัน จำนวน 635 ราย สมัครเป็นสมาชิกสหกรณ์แล้ว จำนวน 271 ราย สามารถลดต้นทุนการผลิต รวม 279,085 บาท เกษตรกรมีรายได้จากการเกษตร รวมทั้งสิ้น 17.14 ล้านบาท          

ขณะที่สหกรณ์นอกภาคการเกษตร เช่น สหกรณ์ออมทรัพย์ สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน จะเน้นเรื่องเสถียรภาพทางการเงิน โดยการออกกฎกระทรวง เพื่อใช้กำกับดูแลการดำเนินงานของสหกรณ์ ทั้งการให้สินเชื่อที่ดีแก่สมาชิก การก่อหนี้ของสหกรณ์ การบริหารจัดการด้านการเงินไม่ก่อให้เกิดหนี้เสีย หรือการก่อหนี้จนเกินตัวของสมาชิก ซึ่งได้นำระบบเครดิตบูโรมาประกอบการปล่อยเงินกู้แก่สมาชิก พร้อมทั้งกรมฯ ได้มีการจัดโครงการอบรมให้ความรู้เรื่องการเงิน การบัญชีแก่คณะกรรมการสหกรณ์ เพื่อป้องกันปัญหาการทุจริตสหกรณ์ ดำเนินการอบรมไปแล้ว 5,000 ราย รวมทั้งส่งเสริมสหกรณ์จัดทำระบบแจ้งเตือนสมาชิกถึงสภาวะการเงินที่ดีของสหกรณ์ ผ่าน App และสามารถเข้าถึงบริการต่างๆ ของสหกรณ์ โดยนำร่องที่สหกรณ์ออมทรัพย์ที่มีอยู่ 1,400 แห่ง ได้ดำเนินการจัดทำ App แจ้งเตือนสมาชิกแล้วประมาณ 15% และจะตั้งเป้าดำเนินการให้ถึง 25% ภายในสิ้นปีนี้

อย่างไรก็ตาม จากนี้ไปจะเน้นหนักให้สหกรณ์ภาคการเกษตร ผลิตสินค้าเกษตรให้ตรงตามความต้องการของตลาด ตามนโยบาย “ตลาดนำการผลิต” โดยให้สหกรณ์เป็นศูนย์กลางในการรวบรวม แปรรูป เพื่อจำหน่าย โดยเฉพาะพืชหลัก 5 ชนิด ได้แก่ ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง ปาล์ม ข้าวโพด พร้อมส่งเสริมจัดทำตลาดล่วงหน้า ส่วนสหกรณ์นอกภาคเกษตร จะเข้มข้นเรื่องการดูแลเงินทุนสหกรณ์ และที่สำคัญหลายสหกรณ์มีเงินล้นระบบ จะแนะนำให้มีการลงทุนที่เหมาะสมกับสหกรณ์ เพื่อไม่ให้เกิดความเสี่ยง

“อยากฝากถึงสมาชิกสหกรณ์ทั่วประเทศ สหกรณ์เป็นองค์กรของผู้ที่มีความด้อยโอกาสในด้นต่างๆ เมื่อเราร่วมตัวจัดตั้งสหกรณ์ขึ้นมาแล้ว สมาชิกต้องมาใช้บริการสหกรณ์ที่ตัวเองเป็นเจ้าของ และช่วยกันเป็นหู เป็นตา ช่วยกันดูแลการดำเนินงานของสหกรณ์ และที่ผ่านมาได้เน้นย้ำสหกรณ์มาตลอดว่า การให้สินเชื่อแกสมาชิก ไม่ใช่แสวงหาผลประโยชน์จากสมาชิก แต่ต้องส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ไม่ใช่ให้สมาชิกเป็นหนี้ตลอดชีวิต ซึ่งไม่ใช่เป็นการช่วยสมาชิกตามหลักการ วิธีการ และอุดมการณ์สหกรณ์ที่แท้จริง”อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าว