สหกรณ์ที่ทำธุรกิจสินเชื่อโดยเฉพาะสหกรณ์ภาคการเกษตร สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน และสหกรณ์บริการ ประสบปัญหาเดียวกัน คือ เรียกเก็บหนี้จากสมาชิกสหกรณ์ไม่ได้ มีลูกหนี้ค้างชำระเพิ่มขึ้นทุกปี ทำให้ผลการดำเนินงานของสหกรณ์ขาดทุนจากการดำเนินงานในด้านบัญชีจะถูกหักค่าเผื่อลูกหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มขึ้นตามอัตราส่วนของลูกหนี้ค้างชำระ สหกรณ์บางแห่งขาดทุนสะสมมากกว่ามูลค่าหุ้นที่ชำระแล้ว สหกรณ์บางแห่งติดตามเร่งรัดหนี้ไม่ได้เลยจนทำให้สหกรณ์ถูกสั่งเลิกตามาตรา 71 (3) “สหกรณ์ไม่อาจดำเนินกิจการให้เป็นผลดี หรือการดำเนินกิจการของสหกรณก่อให้เกิดความเสียหายแก่สหกรณ์หรือประโยชน์ส่วนรวม” ซึ่งผลเกิดมาจากการบริหารจัดการที่ไม่สามารถขับเคลื่อนการดำเนินธุรกิจของสหกรณ์ได้ ประกอบกับสภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ซ้ำเติมด้วยโรคระบาด Covid-19 ทำให้เกษตรกรผู้เป็นสมาชิกสหกรณ์ มีรายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย จึงไม่สามารถชำระหนี้ให้กับสหกรณ์ได้ และมีปัญหาอื่นอีกมากมายที่สมาชิกผู้เป็นลูกหนี้เงินกู้ไม่สามารถชำระหนี้ให้สหกรณ์ได้ 

สหกรณ์ที่มีลูกหนี้ค้างนานต้องการให้สำนักงานสหกรณ์จังหวัดช่วยเหลือในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ซึ่งสาเหตุที่ก่อให้เกิดปัญหาหนี้ค้างนานมีหลายสาเหตุ เช่น สหกรณ์ขาดการบริหารจัดการตอนการอนุมัติเงินกู้ สหกรณ์ไม่มีการติดตามการใช้เงินกู้ของสมาชิกให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการกู้ยืมเงิน สหกรณ์ขาดการควบคุมภายในที่ดี ไม่มีการติดตามเร่งรัดหนี้ตามระยะเวลา เป็นต้น ดังนั้น เพื่อเป็นการช่วยเหลือสหกรณ์ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว รวมทั้งเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาดังกล่าว เจ้าหน้าที่ส่งเสริมสหกรณ์ที่กำกับดูแลสหกรณ์  ที่ประสบปัญหาหนี้ค้างนานได้ร่วมกันระดมความคิด แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และสรุปเป็นองค์ความรู้ที่นำไปใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติงานต่อไป 

แนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้ค้างนานเบื้องต้น 

เมื่อสหกรณ์มีหนี้ค้างชำระ ควรหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาเบื้องต้นเพื่อทราบปัญหาของสมาชิกแต่ละราย โดยใช้วิธีการเจรจา ดังนี้ 

1) การเจรจา ต้องในบุคลที่มีศิลปะ ความสามารถ และไหวพริบ ในการเจรจา ซึ่งไม่มีกฎเกณฑ์ สามารถยืดหยุ่นได้ตลอดเวลา ซึ่งก่อนเจรจาต้องมีข้อมูลเกี่ยวกับหนี้ของสมาชิกผู้กู้ที่ชัดเจน เช่น เงินต้น ดอกเบี้ย ค่าปรับ หรืออื่นๆ  

2) การแก้ไขกรณีประสบปัญหา  เป็นการหาสาเหตุของปัญหาที่แท้จริงว่าสมาชิกมีปัญหาเกิดจากปัจจัยภายนอกหรือภายใน ชั่วคราวหรือถาวร  

3) มาตรการหรือแนวทางแก้ไขปัญหา เป็นแนวทางการเจรจาและยืดหยุ่นได้ตามสถานการณ์ การเจรจาต่อรอง ต้องไม่ทำให้สหกรณ์เสียหาย และเป็นการแก้ไขปัญหาให้เร็วที่สุด 

4) การประนีประนอม  ใช้กับลูกหนี้ที่มีแนวโน้มว่าจะให้ความร่วมมือพร้อมที่จะให้สหกรณ์ช่วยแก้ไขปัญหา สหกรณ์ต้องเปิดโอกาสให้สมาชิกเสนอเงื่อนไขการชำระหนี้ และเจรจาให้นำเข้าไปสู่เป้าหมายที่สหกรณ์ต้องการและหรืออาจปรับมาตรการได้ อาจเป็นเงื่อนไขการชำระหนี้ที่ตกลงกันทั้งสองฝ่ายที่สามารถปฏิบัติได้ (ปลอดดอกเบี้ย  ลดอัตราดอกเบี้ย ผลักการชำระหนี้ไม่เกิน 3 เดือน (ยังไม่มีการตั้งค่าเผื่อหนี้สูญ) หรือสมาชิกมาทำหนังสือรับสภาพหนี้ 

5) จิตวิทยา  ใช้กับลูกหนี้ที่มีแนวโน้มว่า ไม่ให้พร้อมให้ความร่วมมือที่จะแก้ไขปัญหา หรือคาดว่าการเจรจาไม่ประสบความสำเร็จ  การเจรจากับสมาชิก ควรวางตัวเป็นแบบทางการ แสดงความเห็นใจ และชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นที่สหกรณ์จะต้องดำเนินการแก้ไขปัญหา เพื่อประโยชน์ทั้งสมาชิกและสหกรณ์ ต้องควบคุมอารมณ์ในระหว่างเจรจา เสนอเงื่อนไขเพื่อโน้มน้าวใจให้สมาชิกรับเงื่อนไข ถ้าประสบความสำเร็จในการเจรจาให้มาชำระหนี้ หรือให้สมาชิกทำหนังสือรับสภาพหนี้ในทันที 

6) เชิญผู้ค้ำประกันร่วมเจรจา เพื่อเป็นการสร้างบรรยากาศในการเจรจา ความเกรงใจของสมาชิกกับผู้ค้ำประกัน ความเห็นใจของผู้ค้ำประกัน หากสมาชิกไม่ชำระหนี้ ผู้ค้ำประกันต้องเดือดร้อนเช่นกัน 

7) ชี้ให้เห็นถึงผลเสียหายที่จะเกิดขึ้น ชี้แจงให้สมาชิกและผู้ค้ำประกัน เห็นถึงผลเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับสหกรณ์หากสหกรณ์ต้องดำเนินการทางกฎหมาย เช่น สูญเสียโอกาสที่สหกรณ์จะได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยงานราชการ หรือสถาบันการเงินที่สหกรณ์ต้องกู้ยืมเงินมาให้สมาชิกกู้  การเสียเวลา ค่าใช้จ่ายทางศาล ขาดความเชื่อถือไว้วางใจในอนาคต ความล่มสลายของระบบสหกรณ์ที่เป็นที่พึ่งยามยากของสมาชิกสหกรณ์ 

8) อบรมเกี่ยวกับการวางแผนการเงิน การพัฒนาอาชีพหลักและส่งเสริมอาชีพเสริม จัดอบรมให้แก่ลูกหนี้ในเรื่องของการวางแผนทางการเงิน การจัดทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย เพื่อให้มีการจัดการทางการเงินที่เป็นระบบและสามารถชำระหนี้ค้างได้ รวมถึงแนะนำการพัฒนาอาชีพหลักและส่งเสริมอาชีพเสริมเพื่อเป็นการเพิ่มรายได้ให้แก่ลูกหนี้ 

เมื่อเจรจาให้สมาชิกมาชำระหนี้ไม่ประสบความสำเร็จ สหกรณ์ควรมีแนวทางแก้ไขปัญหา ดังนี้ 

1) จัดเวทีประชุม/อบรม ให้ความรู้กับสมาชิก ให้มีความเข้าใจในบทบาทและหน้าที่ของตนเอง 

2) ผ่านการรับรองการกู้เงินจากประธานกลุ่ม/หน่วย (แล้วแต่กรณี)  คณะกรรมการต้องกำหนดไว้ในเงื่อนไขการพิจารณาเงินกู้ว่าสมาชิกที่กู้เงินจะต้องผ่านการรับรองจากประธานกลุ่มทุกครั้งที่ยื่นขอกู้เงินจากสหกรณ์ 

3) คณะกรรมการ /ฝ่ายจัดการ  ต้องเข้าใจเงื่อนไข และข้อมูลของสหกรณ์ และต้องรู้หน้าที่ความรับผิดชอบ ปฏิบัติงานด้วยความเข้าใจในกฎระเบียบ ข้อบังคับ และขั้นตอนการปฏิบัติงาน ต้องมีความมุ่งมั่น และตั้งใจที่จะทำงานด้วยความอดทน อดกลั่น และมั่นติดตามเร่งรัดหนี้เมื่อมีโอกาส พร้อมที่ร่วมกันแก้ไขปัญหาให้สหกรณ์ผ่านวิกฤตไปด้วยกัน 

4) ขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทีมเข้ามาแนะนำแนวทางในการแก้ไขปัญหาหนี้ค้างชำระตามประเภทของลูกหนี้ที่ได้มีการจัดกลุ่มไว้