ในการก้าวสู่ประเทศอุตสาหกรรมทั่วโลกจำเป็นต้องมีการสร้างความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยในห้องปฏิบัติการ โดยประเทศไทยได้นำมาตรฐานมอก.2677-2558 เป็นกรอบชี้วัดในส่วนของสถาบันอุดมศึกษา ก็มีความจำเป็นจะต้องสร้างความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของห้องปฏิบัติการ
มหาวิทยาลัยมหิดล โดยศูนย์บริหารความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน (Center for Occupational Safety Health and Workplace Environment Management; COSHEM) ภายใต้การกำกับดูแลโดย รศ.ดร.กิติกรจามรดุสิต รองอธิการบดีฝ่ายสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน มหาวิทยาลัยมหิดล คือ เบื้องหลังความสำเร็จในการจัดทำ "Peer Evaluation" หรือ มาตรฐานระบบตรวจประเมินและรับรองห้องปฏิบัติการปลอดภัยในรูปแบบการยอมรับร่วม โดยมุ่งเน้นให้เกิดเครือข่ายความร่วมมือด้านความปลอดภัยของห้องปฏิบัติการ ขับเคลื่อนการพัฒนามาตรฐานห้องปฏิบัติการปลอดภัยที่เป็นมาตรฐานเดียวกันในระดับประเทศ และนับเป็นสถาบันอุดมศึกษาที่ได้รับการรับรอง Peer Evaluation มากที่สุดของประเทศ
รศ.ดร.กิติกร จามรดุสิต รองอธิการบดีฝ่ายสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เปิดเผยถึงสาเหตุที่ มหาวิทยาลัยมหิดล สามารถครองแชมป์Peer Evaluation ของประเทศไทย จากการมีห้องปฏิบัติการที่ได้มาตรฐาน และปลอดภัยมากที่สุด เนื่องจากเป็นสถาบันอุดมศึกษาที่มีการดำเนินงานด้านความปลอดภัยมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2558 และได้มีการลงมือปฏิบัติอย่างจริงจังโดย วช. กำหนดเกณฑ์รับรองห้องปฏิบัติการปลอดภัย โดยมีคะแนนองค์ประกอบรวมไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 คิดแยกตามองค์ประกอบไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ในแต่ละองค์ประกอบและจะต้องมีอย่างน้อย 1 องค์ประกอบที่ได้คะแนนเต็ม 100% อายุการรับรอง 3 ปี นอกจากมาตรฐานห้องปฏิบัติการปลอดภัย มหาวิทยาลัยมหิดลได้ตั้งเป้าหมายที่จะลดอุบัติเหตุให้เท่ากับศูนย์ ตั้งแต่ปี2560 และได้จัดงาน MU Safety Day เพื่อการรณรงค์อย่างต่อเนื่องในทุกปี
ในปีนี้ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้จัดงาน MU Safety Day ประจำปี 2565 ขึ้นเป็นปีที่ 6 ภายใต้แนวคิด "Safety Future" เพื่อเชื่อมโยงวัฒนธรรมความปลอดภัยให้ครอบคลุมในทุกระดับ ร่วมกับกิจกรรม "การมอบรางวัลห้องปฏิบัติการต้นแบบ" 122 ห้องปฏิบัติการ จาก 17 ส่วนงาน โดยมีส่วนงานที่เข้ารับการประเมินและผ่านเกณฑ์ ESPReL ครบทั้งหมด 100% จำนวน 4 ส่วนงาน ได้แก่ คณะทันตแพทยศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล และ สถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ และจะขยายผลให้ครบทุกส่วนงาน ภายในปี 2566
ด้าน รศ.ดร.สพญ.วลาสินี ศักดิ์คำดวงคณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะส่วนงานที่เข้ารับการประเมินมาตรฐานความปลอดภัยห้องปฏิบัติการวิจัย ESPReL ในปี 2565 ได้กล่าวถึง บทบาทของคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่มีความโดดเด่นด้านงานวิจัย จนได้รับการตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติย้อนหลัง 3 ปีเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยปัจจุบันนักวิจัยของคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เป็นชื่อแรก (Q1) คิดเป็นร้อยละ 70 และล่าสุดได้รับการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลก Academic Research by Subject เป็นอันดับ 1 ของภูมิภาคอาเซียน และอันดับ 58 ของโลก
"ความสำเร็จดังกล่าว ส่วนหนึ่งมาจากการมีห้องปฏิบัติการวิจัยที่ได้มาตรฐานและความปลอดภัย โดยที่คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มีห้องปฏิบัติการชีวนิรภัยระดับ 3 สำหรับสัตว์ (ABSL3) ที่ใช้สำหรับวิจัยโรคติดเชื้อ รวมทั้งทำการทดลองกับสัตว์ทดลองได้ด้วย ซึ่งครอบคลุมการวิจัยทั้งในคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อม ตามแนวทาง One Health โดยเริ่มเปิดใช้ตั้งแต่เมื่อครั้งที่ประเทศไทยได้มีการแพร่ระบาดของ "ไข้หวัดนก" เรื่อยมาจนกระทั่งมีการแพร่ระบาดของ COVID-19 ถึงปัจจุบัน"
ทั้งนี้ห้องปฏิบัติการชีวนิรภัย ระดับ 3 สำหรับสัตว์ (ABSL3) เปิดให้บริการสำหรับนักวิจัยของคณะฯ ตลอดจนหน่วยงานต่างๆ ทั้งภายใน และภายนอกมหาวิทยาลัยมหิดล โดยได้เริ่มสร้างขึ้นที่ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตศาลายา ก่อนสร้างเพิ่มเติม ณ วิทยาเขตกาญจนบุรี ในปัจจุบัน
ขณะที่รศ.ดร.ชลัท ศานติวรางคณา ผู้อำนวยการสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็นส่วนงานที่เข้ารับการประเมินในปีนี้เช่นกัน โดยมีความโดดเด่นจากการมีบทบาทในการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร และตรวจสอบคุณค่าทางโภชนาการในระดับประเทศ โดยสถาบันฯ เป็นหน่วยงานแรกในประเทศไทยที่ให้บริการวิเคราะห์และจัดทำฉลากโภชนาการของสหรัฐอเมริกาและประเทศไทยครบทั้งฉบับ รวมทั้งได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) สำนักงานคณะกรรมการอาหารแห่งชาติ และ มูลนิธิส่งเสริมโภชนาการในพระบรมราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี (ม.ส.ภ.) ร่วมกำหนดสัญลักษณ์โภชนาการ "ทางเลือกสุขภาพ" ของประเทศ และเป็นเครื่องมือใช้สำหรับการวิเคราะห์ตัดสินใจเลือกผลิตภัณฑ์อาหารของผู้บริโภค เพื่อลดการบริโภคน้ำตาลโซเดียม และ ไขมัน
"เราเน้น "ป้องกัน" มากกว่า "แก้ไข" และทำให้ "ยั่งยืน" โดยการสร้าง "Safety Culture" หรือวัฒนธรรมความปลอดภัยซึ่งสอดคล้องกับมาตรการความปลอดภัยของมหาวิทยาลัยมหิดลอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ทุกคนในองค์กรเกิดความตระหนักในเรื่องความปลอดภัย ซึ่งจะนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่จะต้องคำนึงถึงเรื่องความปลอดภัยอยู่เสมอ" รศ.ดร.ชลัท ศานติวรางคณา ผู้อำนวยการสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวทิ้งท้าย