วันที่ 17 เม.ย.65 นายเฉลิมพล โชตินุชิต รองปลัดกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า จากกรณีมีการตั้งข้อสังเกตในช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่มีคนเร่ร่อนไร้ที่พึ่งเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่เขตวัฒนา บริเวณถนนราชดำเนิน ถนนอโศกฯ และถนนสุทธิสาร คาดว่าเป็นผลสืบเนื่องที่ทำให้เกิดผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ การถูกเลิกจ้าง การขาดรายได้ ปัญหาสุขภาพ ความเครียด ซึ่งบางคน อาจจะอยู่ในครอบครัวที่ได้รับผลกระทบและไม่สามารถจัดการกับปัญหาดังกล่าวได้จึงออกมาเร่ร่อน กรุงเทพมหานครจึงได้เพิ่มมาตรการการช่วยเหลือดูแล ส่งเสริมการฝึกอาชีพสร้างรายได้ทุกชุมชน และมีการทำงานกับครอบครัวมากขึ้น โดยประสานความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดระเบียบและแก้ไขปัญหาคนเร่ร่อน ในพื้นที่กรุงเทพฯ ผ่านศูนย์ประสานงานและช่วยเหลือคนเร่ร่อนไร้ที่พึ่งในพื้นที่สาธารณะของกรุงเทพมหานคร เพื่อรองรับการแก้ไขปัญหาและให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ใช้ชีวิตในพื้นที่สาธารณะ เป็นการสนับสนุนการสร้างโอกาสทางสังคมและขับเคลื่อนงานด้านคนเร่ร่อนไร้ที่พึ่ง ทั้งนี้ในการดำเนินงานมีการประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามภารกิจอำนาจหน้าที่ของแต่ละหน่วยงาน ทั้งของภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กร NGO เพื่อให้การช่วยเหลือคนเร่ร่อนได้ครอบคลุมในทุกมิติ นอกจากนี้ กรุงเทพมหานครได้จัดการจัดทำแผนช่วยเหลือและสนับสนุนการจ้างงานคนเร่ร่อน คนไร้ที่พึ่งในพื้นที่กรุงเทพฯ กรณีที่พบคนเร่ร่อนไร้ที่พึ่งจะมีการคัดกรอง ให้คำปรึกษาแนะนำ ให้ความช่วยเหลือ การส่งต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การหางานทำ การทำบัตรประจำตัวประชาชน ส่งกลับภูมิลำเนา การส่งเสริมการฝึกอาชีพ โดยจัดทำโครงการ สพส. สร้างงาน สร้างอาชีพ สู่ชุมชน เพื่อช่วยให้มีรายได้ สามารถช่วยเหลือตนเองได้ตามศักยภาพ พร้อมทั้งสนับสนุนเงินทุนฝึกอาชีพให้ผู้ที่มีความพร้อมเพื่อเพิ่มรายได้ และลดจำนวนผู้ที่ออกมาใช้ชีวิตในที่สาธารณะ สำหรับสถานการณ์คนเร่ร่อนในพื้นที่เขตวัฒนา ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งมีคนเร่ร่อนไร้ที่พึ่งเพิ่มมากขึ้น สำนักงานเขตวัฒนาได้ดำเนินการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ โดยประสานกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เพื่อจัดหาที่อยู่อาศัยให้คนเร่ร่อน ประสานเพื่อส่งต่อไปยังบ้านอิ่มใจของสำนักพัฒนาสังคม ประสาน สน.ในพื้นที่ ร่วมกับเจ้าหน้าที่เทศกิจในการจัดระเบียบ อีกทั้งจัดเจ้าหน้าที่ฝ่ายพัฒนาชุมชนฯร่วมลงพื้นที่ตรวจสอบข้อมูลพร้อมให้คำแนะนำส่งต่อไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประสานเพื่อส่งกลับภูมิลำเนา ส่วนสถานการณ์คนเร่ร่อนในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยเฉพาะบริเวณถนนสุทธิสาร ซึ่งมีระยะทางประมาณ 4,500 เมตร อยู่ในพื้นที่รับผิดชอบของสำนักงานเขต 3 เขต ดังนี้ 1. สำนักงานเขตพญาไท ตั้งแต่ถนนพหลโยธิน – ถนนวิภาวดีรังสิต 2. สำนักงานเขตดินแดง ตั้งแต่ถนนวิภาวดีรังสิต – ถนนรัชดาภิเษก และ 3. สำนักงานเขตห้วยขวาง ตั้งแต่ถนนรัชดาภิเษก – สะพานข้ามคลองลาดพร้าว จากการสำรวจถนนสุทธิสารในพื้นที่เขตห้วยขวาง มีระยะทางประมาณ 1,700 เมตร เป็นถนน 2 ช่องจราจร (ขาเข้า 1 ช่องจราจร และขาออก 1 ช่องจราจร) ได้จัดเจ้าหน้าที่ออกตรวจตรา กวดขันคนเร่ร่อนในถนนสุทธิสารอย่างต่อเนื่อง เมื่อสำนักงานเขตห้วยขวางได้รับทราบปัญหาผ่านทางสื่อ จึงได้มอบหมายเจ้าหน้าที่ตรวจสอบในระหว่างวันที่ 9 – 11 เมษายน 2565 ทั้งในช่วงเวลากลางวันและกลางคืน ขณะตรวจสอบไม่พบบุคคลเร่ร่อนแต่อย่างใด ซึ่งจากการสอบถามประชาชนที่อาศัยอยู่ 2 ฝั่งถนนสุทธิสารทราบว่า ช่วงเวลาก่อนหน้านี้เคยมีบุคคลเร่ร่อนผ่านมาในถนนเส้นนี้ ซึ่งบุคคลกลุ่มนี้จะอยู่ไม่เป็นหลักแหล่งถาวร ด้านเขตพระนครได้ประสานงานกับศูนย์บริการสาธารณสุข 9 ประชาธิปไตย ศูนย์บริการสาธารณสุข 1 สะพานมอญสถานีตำรวจนครบาลในพื้นที่ อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร. เขตพระนคร) ศูนย์เอราวัณ สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช (โรงพยาบาลชิรพยาบาล) เพื่อนำส่งคนไร้ที่พึ่งเข้ารับการรักษา จัดระเบียบจุดรับบริจาคอาหารและสิ่งของ เพื่อมอบให้แก่คนไร้ที่พึ่ง บริเวณใต้สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า เป็นประจำทุกวัน และจัดเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ประชาสัมพันธ์เชิญชวนกลุ่มคนไร้บ้านหรือผู้ใช้ชีวิตในพื้นที่สาธารณะ ฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) จัดตั้งหน่วยบริการฉีดวัคซีนเคลื่อนที่กรุงเทพมหานคร (BKK Mobile Vaccination Unit:BMV) บริเวณแยกคอกวัว ถนนราชดำเนินกลาง