โดยเขตที่มีผู้สมัครส.ก.มากสุด จำนวน 9 คน มี 3 เขต ได้แก่ ธนบุรี จอมทอง วังทองหลาง และเขตที่มีผู้สมัครส.ก.น้อยสุด จำนวน 5 คน ได้แก่ ดุสิต ป้อมปราบศัตรูพ่าย / เตือนผู้สมัครยื่นกกต.กทม.แจ้งช่องทาง-สถานที่เวทีหาเสียง-รายชื่อจำนวนผู้ช่วยหาเสียง / ย้ำติดป้ายหาเสียงยึดตามประกาศ กกต.ทถ.กทม.-ประกาศ กฟน. (31 มี.ค.65) เวลา 15.50 น. ณ อาคารไอราวัตพัฒนา นายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร ในฐานะผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร แถลงสรุปภาพรวมการรับสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร ในวันแรก เป็นไปด้วยความเรียบร้อยดี มีผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. รวมจำนวน 20 คน ดังนี้ นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร หมายเลข 1 พันโทหญิง ฐิฏา รังสิตพล มานิตกุล หมายเลข 2 นายสกลธี ภัททิยกุล หมายเลข 3 ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ หมายเลข 4 นายวีรชัย เหล่าเรืองวัฒนะ หมายเลข 5 พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง หมายเลข 6 นางสาวรสนา โตสิตระกูล หมายเลข 7 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ หมายเลข 8 นางสาววัชรี วรรณศรี หมายเลข 9 ดร.ศุภชัย ตันติคมน์ หมายเลข 10 น.ต.ศิธา ทิวารี หมายเลข 11 ดร.ประยูร ครองยศ หมายเลข 12 นายพิศาล กิตติเยาวมาลย์ หมายเลข 13 นายธเนตร วงษา หมายเลข 14 พล.อ.ต.ทูตปรีชา เลิศสันทัดวาที หมายเลข 15 น.ส.ศศิกานต์ วัฒนจันทร์ หมายเลข 16 นายอุเทน ชาติภิญโญ หมายเลข 17 นางสาวสุมนา พันธุ์ไพโรจน์ หมายเลข 18 นายไกรเดช บุนนาค หมายเลข 19 นางอมรพรรณ อุ่นสุวรรณ หมายเลข 20 ในส่วนของ ส.ก. 50 เขตเลือกตั้ง มีผู้มาสมัคร รวมจำนวน 343 คน โดยเขตที่มีผู้สมัครมากสุด จำนวน 9 คน มี 3 เขต ได้แก่ ธนบุรี จอมทอง วังทองหลาง และเขตที่มีผู้สมัครน้อยสุด จำนวน 5 คน ได้แก่ ดุสิต ป้อมปราบศัตรูพ่าย การรับสมัครฯ จะมีถึงวันที่ 4 เมษายน 2565 เวลา 16.30 น. หลังจากการรับสมัครเสร็จสิ้น ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร จะตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัครฯ และประกาศรายชื่อผู้สมัครฯ ณ สถานที่เลือกตั้ง ภายใน 7 วัน ทั้งนี้ ในเรื่องของการหาเสียง ผู้สมัครฯ จะต้องแจ้งช่องทางการหาเสียงสื่ออิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงรายชื่อจำนวนผู้ช่วยหาเสียง ตลอดจนสถานที่และเวทีหาเสียง เพื่อใช้ในการคำนวณงบในการหาเสียงเลือกตั้ง โดยยื่นต่อ คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำกรุงเทพมหานคร (กกต.กทม.) ที่ ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ อาคาร B เพื่อให้เป็นไปตามระเบียบการเลือกตั้ง โดยงบในการหาเสียงของผู้สมัครฯผู้ว่าฯกทม. ไม่เกิน 49 ล้านบาท และ ส.ก. ไม่เกิน 0.8-1.2 ล้านบาท ขึ้นกับขนาดพื้นที่เขตและประชากร โดยผู้สมัครฯทุกคนต้องทำบัญชีรายจ่ายตลอดการหาเสียง และยื่นค่าใช้จ่ายทั้งหมดต่อ คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำกรุงเทพมหานคร หลังการเลือกตั้งภายใน 90วัน นอกจากนี้ ยังได้ย้ำเรื่องของการติดประกาศป้ายหาเสียงของผู้สมัครฯ ให้ยืดตามประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร (กกต.ทถ.กทม.) และประกาศการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) กรณีติดป้ายหาเสียงที่เสาไฟฟ้า โดยให้ผู้สมัครฯปฏิบัติตามระเบียบของ กฟน. หากไม่เป็นไปตามระเบียบที่กำหนด กฟน.จะรื้อถอนป้ายของผู้สมัครนั้น