สัปดาห์พระเครื่อง / อ.ราม วัชรประดิษฐ์ จากสุดยอด ‘พระเนื้อว่านหลวงปู่ทวดปี 2497’ มีเสียงเรียกร้องให้สร้างขึ้นอีก เพราะอิทธิปาฏิหาริย์ของพระเครื่องหลวงปู่ปรากฏให้เห็นเป็นที่อัศจรรย์ในบันทึกของ คุณอนันต์ คณานุรักษ์ เขียนไว้ว่า “พระเครื่องที่จะสร้าง (ดินผสมว่าน) อีกหรือไม่นั้นยังไม่แน่แล้วแต่ความจำเป็น ซึ่งท่านอาจารย์ทิมและผมเห็นสมควร เช่น จะทำพิธีปลุกเสกพระในวันที่ 16, 17, 18 เดือนนี้นั้น เป็นพระเครื่องหล่อด้วยโลหะ ความจริงแล้วผมตั้งใจจะพิมพ์กับดินว่านแบบเก่าแต่ท่านอาจารย์ทิมนั่งทางในขออนุญาตต่อพระวิญญาณขอท่าน ท่านบอกว่าดินว่านเหล่านั้นใช้แล้วแตกหักคงจะเสียใจ หากมีกำลังทุนพอก็ให้สร้างด้วยโลหะ เราจึงต้องปฏิบัติตาม” ซึ่งในการหล่อเนื้อโลหะนั้นจำเป็นจะต้องมีทุนรอนมากกว่าการหล่อแบบเก่า ซึ่งก็ได้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมพลทิฆัมพร หรือพระองค์ชายกลาง ทรงเป็นประธานอุปถัมภ์ในการจัดสร้าง ตามคำอนุญาตจากหลวงปู่ทวดผ่านพระอาจารย์ทิม มีการนำชนวนและมวลสารจากวัด นำไปหล่อพระร่วมกันที่กรุงเทพฯ ก่อนที่จะส่งไปให้อาจารย์สวัสดิ์ เดชพวง เป็นผู้หล่อ หล่อพระหลวงปู่ทวดเนื้อโลหะหลังเตารีดขึ้น 3 ขนาดคือ เล็ก กลาง ใหญ่ และยังทรงนำโลหะหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นก้อนเงินและทองคำใส่ลงในเบ้าหลอม ส่วนการเท“พระเนื้อเมฆพัด” ได้ใช้แม่พิมพ์เป็นเหล็กหยอดทีละองค์ มิได้ใช้วิธีเทเป็นช่อหรือตับอย่างพระเนื้อโลหะผสม นอกจากนี้ยังมีแบบหลังตัวหนังสือ พระกริ่ง ซึ่งจะพูดถึงในคราวหลัง ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่าการสร้างพระเครื่องหลวงปู่ทวด รุ่นหลังเตารีด มีการเททองหล่อกันนอกวัด โดยวัดเป็นสถานที่ประกอบพิธีปลุกเสกเนื้อโลหะและการลงแผ่นทอง ‘ชนวน’ รวมถึงพิธีปลุกเสกใหญ่ซึ่งพระองค์ชายกลางได้นำโลหะชนวนทั้งหมดที่ปลุกเสกแล้วนั้นไปหล่อกันที่วัดคอกหมู หรือวัด สิตาราม กรุงเทพฯ (อยู่เลยวัดสระเกศหรือภูเขาทองไปเล็กน้อย) พระหลวงพ่อทวด พิมพ์หลังเตารีดเล็ก (หน้าเชิด) ในการจัดสร้างพระเครื่องหลวงปู่ทวดครั้งนี้ ทางวัดได้ดำเนินการพร้อมกับงานสมโภชรูปเหมือนหลวงปู่ทวดองค์ใหญ่ประจำวัด ซึ่งต่อมาได้กำหนดให้เป็นงานประจำปีของวัดช้างให้ไปด้วย พิธีดังกล่าวจัดขึ้นถึง 3 วัน 3 คืน คือ วันพุธที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ.2505 ตรงกับวันขึ้น 13 ค่ำ เดือน 6 เวลา 09.00 น. อัญเชิญพระเครื่องหลวงปู่ทวดเข้าสู่โรงพิธีในพระอุโบสถ เพื่อให้พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ วันรุ่งขึ้น วันพฤหัสบดีที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ.2505 เวลา 09.00 น. ทำพิธีประกาศโองการตามหลักไสยศาสตร์และอัญเชิญดวงจิตหลวงปู่ทวดเข้าประทับในพิธีเวลา 21.00 น. นั่งปรกและสวดพุทธาภิเษกไปตลอดทั้งคืน และวันศุกร์ที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ.2505 เวลา 09.00 น. กระทำประทักษิณเวียนเทียนวิสาขบูชา และปิดท้ายด้วยเทศนา 1 กัณฑ์ และสุดท้ายในวันเสาร์ที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ.2505 เวลา 06.00 น. พระอาจารย์ทิมแจกพระเครื่องหลวงปู่ทวดเป็นปฐมฤกษ์ มีข้อน่าสังเกตเกี่ยวกับ ‘พระหลวงปู่ทวดเนื้อโลหะปี 2505’ ดังนี้ หลังเตารีดที่นิยมเรียกนั้น ความจริงเป็นกลีบบัวในพิมพ์กลาง ปลายจะมน พิมพ์อื่นปลายแหลมเหมือนเตารีด พระหลวงพ่อทวด พิมพ์หลังเตารีดเล็ก (หน้าแหงน) พระองค์เจ้าเฉลิมพลฯ ทรงควบคุมการเทโลหะด้วยพระองค์เอง ครั้งแรกทรงเทเนื้อทองคำ 99 องค์ ต่อมาเทเนื้อเมฆพัดซึ่งเป็นโลหะเกิดจากทองแดงผสมตะกั่วซัดด้วยกำมะถันสีออกดำมันวาวเปราะด้านหลังเป็นแอ่ง เนื่องจากเปราะจึงไม่นำมาเจียแต่งมากนัก เทได้ไม่ถึง 1,000 องค์ โลหะหมด อาจารย์สวัสดิ์เลยให้หยุดเท เส้นข้างสังฆาฏิจะมีริ้วจีวรในแนวนอนเป็นบั้งๆ ไม่เป็นแนวเฉียง ต่อมาได้เทเนื้อนวโลหะโดยเสด็จพระองค์ชายกลาง ใส่ทองคำผสมลงไปเป็นจำนวนมาก ก่อนที่จะเทเนื้อโลหะผสม (ทองแดง+ทองเหลืองและโลหะอื่นๆ ที่ประชาชนมาร่วมบริจาค) ในส่วนพิมพ์ใหญ่ทั้ง 2 เนื้อนับได้ประมาณ 6,000 องค์ พระหลวงพ่อทวด พิมพ์หลังเตารีดเล็ก หน้าอาปาเช่ หลวงปู่ทวดเนื้อโลหะ เป็นการเทแบบเป็นช่อ ยกเว้นเนื้อเมฆพัด จึงมีคราบเบ้าและดินขี้เบ้าจับอยู่ ด้านใต้ฐานปรากฏเป็นรอยแต่งช่อและตะไบ เมื่อเทเสร็จมีการส่งไปให้ช่างโรงงานแสงฟ้าแต่งพิมพ์ เนื่องจากเป็นช่างมีฝีมือรอยตะไบที่ปรากฏจะเป็นไปในทิศทางเดียวกันดูเรียบร้อยและช่างยังคัดองค์ที่เทไม่สวยออกมาให้ทำแม่พิมพ์ปั๊มซ้ำอีกเป็นจำนวนมากเป็นที่มาแห่ง“พิมพ์ปั๊มซ้ำ” ความจริงแล้วรูปแบบหลวงปู่ทวดเนื้อโลหะปี 2505 ที่ทำเป็นพิมพ์ใหญ่ พิมพ์กลาง พิมพ์เล็กนั้นล้วนแล้วแต่จำลองแบบมาจากหลวงปู่ทวดเนื้อว่าน ปี 2497 ทั้งสิ้น เนื่องจากการเทประเภทโลหะผสมระหว่างเนื้อทองแดงกับทองเหลือง บางส่วนผสมโลหะไม่เท่ากัน บางองค์จะมีกระแสออกแดงเนื่องจากทองแดงมาก บางองค์กระแสออกเหลืองเนื่องจากทองเหลืองมาก สมัยก่อนคนเห็นองค์ทองเหลืองแล้วตกใจ แต่ปัจจุบันทราบกันดีแล้วว่าเกิดกระแสทั้งสองชนิด ตอนขนส่งพระโลหะที่หล่อเสร็จไปวัดช้างให้ อาจารย์สวัสดิ์ใช้น้ำยาชนิดหนึ่งสี ออกดำๆ ชุบรักษาเนื้อองค์พระ ก่อนขนส่งทางรถไฟไปวัดช้างให้ ส่งผลให้องค์พระเนื้อโลหะมีคราบคล้ายน้ำมันผนึกติดแน่นอยู่ในซอก และหากดูให้ดีองค์หลวงปู่จะดูเหมือนเป็นมันเยิ้ม เนื้อไม่แห้งกระด้าง พระหลวงพ่อทวด พิมพ์หลังเตารีดเล็ก หากพบบางองค์มีรอยตอกคำว่า ‘หลวงปู่ทวดวัดช้างให้’ ด้านหลัง หรือมีตัว ‘ฉ’ ด้านหน้าที่ใดที่หนึ่ง ไม่ต้องตกใจ เพราะเสด็จฯ พระองค์ชายกลางทรงให้ตอกไว้ แต่ตัวอักษรจะมีลักษณะเป็นเหลี่ยมลึกชัดเจน พระพิมพ์ใหญ่เนื้อโลหะผสมและพิมพ์กลางถูกนำไปปั๊มซ้ำจำนวนมาก โดย เฉพาะพิมพ์กลางเกือบทั้งหมดเป็นพระปั๊มซ้ำ ให้สังเกตจากรอยเขยื้อนของการปั๊ม และให้ดูที่ฐานบัวแทนที่จะเป็นฐานบัวคว่ำบัวหงายแล้วมีเส้นขีดกึ่งกลางกลับมีเส้นพาดแบ่งบัวตอนบนออกอีก ความจริงเป็นเส้นระหว่างบัวแต่เขยื้อนเลยแบ่งบัวออกกลายเป็นบัวสามชุดปรากฏชัดเจนในพระพิมพ์กลาง ซึ่งพิมพ์กลางมีขนาดหลังแต่งประมาณ 1.5 x 3 ซ.ม. และเป็นพิมพ์เดียวแยกเป็นไม่ปั๊ม (มีน้อยมาก) กับพิมพ์ปั๊ม แต่ในพิมพ์เล็กไม่ปรากฏการปั๊มซ้ำ พระหลวงพ่อทวด พิมพ์หลังเตารีดใหญ่ เอกลักษณ์ของพระโลหะชุดนี้จะคล้ายปี 2497 มาก เช่น หูพระด้านซ้ายขององค์พระจะไม่กางมากและจะแนบติดกับศีรษะมากกว่าหูขวา และทุกพิมพ์จะเห็นก้อนชายจีวรมือซ้ายย้วยนูนชัดเจน อีกทั้งช่างจะแต่งรอยต่อระหว่างชายจีวรหน้าแข้งกับหน้าแข้งให้เห็นเด่นชัด และนิ้วเท้าก็จะเห็นเป็นนิ้วๆ อีกด้วย เข้าใจว่าคงจะเอาแม่พิมพ์ที่ใช้หล่อกับองค์หลวงปู่ทวดเนื้อว่านปี 2497 มาเป็นแบบให้ช่างแต่งแม่พิมพ์ หลวงปู่ทวดน่าจะเป็นพระภิกษุองค์เดียวที่ปรากฏในองค์พระเครื่องว่านั่งอยู่บนบัลลังก์บัวคว่ำบัวหงาย เนื่องจากท่านได้รับความเคารพในลักษณะขององค์พระโพธิสัตว์ด้วย แม้คำสวดสรรเสริญท่านยังขึ้นด้วย ‘นโม โพธิสัตโต…’ พระหลวงพ่อทวด รุ่นแรก เนื้อว่าน ปี 2497 พิมพ์ใหญ่ พิมพ์เล็กนั้นเป็นพิมพ์ที่ไม่ผ่านการปั๊มซ้ำมีขนาดประมาณ 1.6 x 2.8 ซ.ม. แบ่งเป็นพิมพ์หน้าใหญ่ (หน้าแหงน) และพิมพ์หน้าเล็ก (หน้าอาปาเช่) พิมพ์หน้าใหญ่เนื่องจากมีจำนวนน้อยจึงนิยมสู้หน้าอาปาเช่ไม่ได้ คำว่า Apache เป็นชื่อเผ่าอินเดียนแดง อยู่แถบตะวันตกเฉียงใต้ของอเมริกา แล้วก็เป็นยี่ห้อแป้งทำขนมและไอศกรีมที่เข้ามาขายในประเทศไทยโดยพิมพ์รูปอินเดียนแดงทาหน้าเป็นเส้นๆ ด้วยสีสันต่างๆ ใส่หมวกขนนก เมื่อคนเห็นริ้วรอยของหน้าหลวงปู่ซึ่งช่างหล่อและแต่งเป็นรอยย่น (ซึ่งได้ต้นเค้ามาจากพิมพ์ใหญ่กรรมการ 2497) เลยเรียกตามกันว่า ‘หน้าอาปาเช่’ พระชุดนี้จะมีน้ำหนักและความแกร่งหนาในตัวไม่บอบบาง รวมทั้งชัดลึกทั้งเส้นหน้าผากและริ้วจีวร ขอบข้างมีรอยเจียและแต่งด้วยตะไบ ดูของแท้มากๆ ก็จะคุ้นตาสามารถพิจารณา แล้วอย่าลืมว่าพระคาถาบูชาหลวงปู่ ‘นะโม โพธิสัตโต อาคันติมายะ อิติภควา’ จะโชคดีมีชัยไม่สิ้นสุด อ้อลืมกระซิบไปอย่านิมนต์ท่านขึ้นคอไปเที่ยวเล่นการพนันนะครับ อันนี้เขาบอกต่อกันมาแต่โบราณแล้ว ท่านไม่ชอบ แต่ถ้าใครทำมาหากินละก็รับรองรวยไม่รู้เรื่องเลยละครับผม พระหลวงพ่อทวด หลังเตารีด พิมพ์กลางปั๊มซํ้า