บทความพิเศษ / ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น)
สว่างทั่วถิ่นด้วยแสงไฟโซล่าทุกหย่อมหญ้า ทำให้ท้องถิ่นไทยสว่างโชติช่วงชัชวาลด้วยโคมไฟฟ้านวัตกรรมสุดๆ เป็นนวัตกรรม เป็นประติมากรรม ประหยัดพลังงาน ใช้พลังงานทดแทน เป็นพลังงานสะอาด เพื่อลดโลกร้อน ลดมลภาวะ ฯลฯ ตามนโยบายภาครัฐส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนทดแทน (Renewable Energy) โซล่าเซลล์ (Solar Cell) มีแบบนี้ทั่วประเทศ โดยงบกองทุนพลังงาน
นวัตกรรมไทย หรือบัญชีนวัตกรรมไทย คืออะไร
จากข่าวเรื่องเสาไฟกินรี ไฟฟ้าจากโซล่าเซลล์ ที่มีปัญหาเรื่องความเหมาะสมและราคาในการติดตั้งใช้งานของ อปท.ด้วยข้อวิพากษ์ดุดันว่า เสาไฟกินรีแสนสวยแต่ ประโยชน์ไม่คุ้มค่าเงินที่เสียไป มันเป็นงานศิลป์ ที่ไม่มีความจำเป็นต้องจ่าย ศิลปะราคาแพง เกินฐานะ เกินความจำเป็น อีกทั้งหน่วยตรวจสอบ ป.ป.ช. ป.ป.ท. สั่งสอบเสาไฟฟ้ากินรีทุกจังหวัด ทำให้คนหันมาสนใจคำว่า “นวัตกรรมไทย” (Innovation) และ “บัญชีนวัตกรรมไทย”
หมายถึง บัญชีของผลิตภัณฑ์หรือบริการนวัตกรรม ซึ่งมีนวัตกรรมของคนไทยเป็นองค์ประกอบอย่างมีนัยสำคัญ มีคุณภาพตรงตามที่ระบุในเอกสารกำกับผลิตภัณฑ์หรือบริการและพร้อมผลิตจำหน่ายเชิงพาณิชย์ หรือ ซึ่งมีความหมายใกล้เคียงกับ “บัญชีสิ่งประดิษฐ์ไทย” ดำเนินการโดย สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ซึ่งสิ่งประดิษฐ์ในบัญชียังต้องการการพัฒนาให้พร้อมสำหรับการผลิตจำหน่ายเชิงพาณิชย์ ที่อาจอยู่ระหว่างการทดสอบเพื่อมาใช้งาน โดย วช. อาจพิจารณาจัดสรรทุนสนับสนุนให้พัฒนาต่อยอดให้พร้อมสำหรับการขึ้นทะเบียนบัญชีนวัตกรรมไทยได้
ความน่าสนใจของผลิตภัณฑ์หรือบริการที่ขอขึ้นบัญชีนวัตกรรมไทยนั้น เป็นผลิตภัณฑ์หรือบริการใหม่ที่พัฒนาขึ้นจากกระบวนการวิจัย พัฒนา หรือการปรับปรุงผลิตภัณฑ์หรือบริการเดิมด้วยองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในประเทศไทย โดยคนไทยมีส่วนร่วม ซึ่งอาจเป็นผลิตภัณฑ์หรือบริการที่มีความคล้ายคลึงกับสิ่งที่มีอยู่แล้วก็ได้
แยกนวัตกรรมเป็น 2 ส่วน คือ (1) รูปแบบธุรกิจการให้บริการ (Business model) ที่ต้องมีความใหม่ มีความแตกต่าง จากการให้บริการในปัจจุบัน ซึ่งลูกค้าหรือผู้รับบริการจะได้คุณค่า (Value) ที่ดีขึ้น เช่น สะดวกขึ้น รวดเร็วขึ้น ค่าใช้จ่ายน้อยลง เป็นต้น โดยต้องสามารถวัดผลและวิเคราะห์ได้อย่างน่าเชื่อถือทางสถิติ และดำเนินการโดยหน่วยงานที่น่าเชื่อถือ (2) เครื่องมือ (Tool) ที่นำมาใช้ในการให้บริการ จะต้องเป็นผลมาจากการวิจัยหรือการพัฒนาทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อย่างมีนัยสำคัญ โดยคนไทย ซึ่งสามารถผลิตและนำมาให้บริการได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย และ มีผลการวิเคราะห์ทดสอบคุณภาพและความปลอดภัยในการนำมาใช้งานให้บริการ ซึ่งดำเนินการโดยหน่วยงานที่น่าเชื่อถือ
มิติสุนทรียศาสตร์ งานศิลป์เสาไฟฟ้าประติมากรรมรูปสัตว์สัญลักษณ์ต่างๆ
จากยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่ได้กำหนดไว้เกี่ยวกับการพัฒนาประเทศไว้มาเกี่ยวข้องกับคำว่า “ประติมากรรม” หรือ รูปปั้นต่างๆ ที่นอกเหนือจากพระพุทธรูป (เรียกประติมากรรม)
งานนวัตกรรมท้องถิ่น (Local Innovation) ประติมากรรมเสาไฟฟ้าโซล่าเซลล์รูปกินรี เทพนม หงส์ ปลา พญานาค สิงห์ มโนราห์ เครื่องบิน เรือสุพรรณหงส์ รูปสัตว์ต่างๆ หรืออื่นๆ ฯลฯ ที่สื่อถึงพื้นถิ่น ใช้งบประมาณท้องถิ่นจำนวนมหาศาล ด้วยเป็นนวัตกรรมที่ได้ขึ้นบัญชีนวัตกรรม เป็นมิติทางสุนทรียศาสตร์ งานศิลปะ ประติมากรรม รูปสัตว์สัญลักษณ์ต่างๆ ซึ่งผู้เสนอขายพัสดุต้องได้รับการขึ้นบัญชีนวัตกรรมไทยไว้แล้ว
ตามระเบียบฯ พัสดุเปิดช่องไว้ให้มีราคาที่กระโดดสูง ด้วยเป็นงานศิลปะ หน่วยงานราชการสามารถจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีพิเศษได้ เพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการไทยในการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ นอกจากหัวเสาไฟฟ้าแล้ว ก็มีทั้งป้ายชื่อถนน ป้ายซอยด้วย โดยเฉพาะ อปท. หรือส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เป็นประติมากรรมที่มีใช้มานานแล้ว ที่ใดมีของเด่นดัง ก็จะปรากฏออกมาในรูปของประติมากรรมงานศิลปะ เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์องค์กร หรือสร้างความสวยงาม แหล่งท่องเที่ยวดึงดูดความสนใจผู้คน และนักท่องเที่ยว ปกติจะเป็นรูปสัญลักษณ์ของ อปท. หรือ รูปเอกลักษณะของแต่ละพื้นที่ อปท. (เทศบาล อบต. อบจ.) นั้นๆ
สำหรับสินค้าประเภทโคมไฟถนนพลังงานแสงอาทิตย์แบบประกอบในชุดเดียวกัน (All In One Solar Street Light) เช่น แบบเสากิ่งเดี่ยว เอกชนผู้ขายต้องได้รับการขึ้นทะเบียนนวัตกรรมไทย ตามมติคณะรัฐมนตรี ปี 2558 ที่มอบหมายสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ตรวจสอบคุณสมบัติ สำนักงบประมาณ ตรวจสอบราคาและจัดทำบัญชีนวัตกรรมไทย โดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นมีหนังสือแจ้งสามารถนำบัญชีนวัตกรรมไทยไปใช้ประกอบการพิจารณาจัดหาสินค้าและบริการโดยวิธีเฉพาะเจาะจงได้
ในที่นี้เริ่มจากเสาไฟส่องสว่างพร้อมประติมากรรมที่สวยงาม เป็นหลักการที่มีมาแต่เดิมแล้ว ต่อมาก็พัฒนาเป็น “เสาไฟฟ้าโซล่าเซลล์” ที่เริ่มติดตั้งย้อนหลังไปสักกว่าสิบปีที่ผ่านมา ไปๆ มาๆ เป็นติดหมดทั้งซอยเล็กซอยน้อย แบบถี่ยิบ เป็นโคมไฟสวยตระการตา แม้ในถนนซอยที่แย่ ก็มีเสาไฟหรูคู่ถนน มีเสาไฟโซล่าเซลล์อยู่ท่ามกลางสายไฟที่ระโยงระยาง ที่ปิดบังความสวยงามของประติมากรรม มันย้อนแย้งไร้ค่าหมดราคาประติมากรรมไปทันที แม้จะอ้างเป็นแหล่งท่องเที่ยวก็ฟังยาก
ตัวอย่างประเด็นข้อวิพากษ์
มีข้อวิพากษ์เกี่ยวกับความจำเป็น รูปลักษณ์ ความเหมาะสม ความถูกต้อง ความพอเพียง ในกรณีของ เสาไฟฟ้าโซล่าเซลล์รูปประติมากรรม ดังเช่น อบต.ราชาเทวะ อบต.หนองปรือ อบจ.อ่างทอง เทศบาลตำบลหันคา ฯลฯ เป็นต้น
(1) หน้าที่และอำนาจของ อปท. กฎหมายให้ อปท.จัดให้มีไฟส่องสว่าง แต่ไม่ได้กำหนดว่า ให้มีประติมากรรมด้วย
(2) ความเหมาะสม ในการใช้งาน และการติดตั้งตามถนน ตามที่สาธารณะ ฯลฯ ติดตั้งในพื้นที่ที่ประชาชนไม่ได้ใช้ประโยชน์ ไม่ใช่ทางหลักสัญจรฯ
(3) ความคุ้มค่า ประหยัดงบประมาณ เพราะเสาไฟโคมธรรมดาที่ไม่มีประติมากรรมอะไร ไม่ต่างกับเสาไฟประติมากรรมในความสว่างเหมือนกัน แต่ราคาต่างกันมาก (4) การละเมิดของเจ้าหน้าที่ หากต้องรับผิดทางละเมิดใครต้องรับผิดบ้าง
(5) การฮั้วประมูลงานซื้องานจ้างพัสดุ คดี ป.ป.ช. ภายในอายุความอาญาฯ ปกติ 15-20 ปี
(6) ผลประโยชน์ทับซ้อน ความมีส่วนได้เสียฯ ทั้งฝ่ายผู้ขายผู้รับจ้าง นักการเมืองท้องถิ่น เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติ ผู้กำกับดูแล ฯลฯ
(7) ปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์ในอนาคตจำนวนมากจะตามมามหาศาล เพราะอายุการใช้งานแผงโซล่าเซลล์ ปกติประมาณ 20-25 ปี
(8) ประเด็น One size fit all (ตัดเสื้อโหลตัวเดียวใช้ได้หมด) ใช้กับท้องถิ่นไม่ได้ เพราะท้องถิ่นแต่ละแห่งไม่เหมือนกัน แถมมีรายได้แตกต่างกัน และท้องถิ่นถือเป็นทบวงการเมืองที่เป็นนิติบุคคล ย่อมมีอำนาจอิสระในการจัดการตนเองได้ตามกรอบหน้าที่และอำนาจแห่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560
สเปกนวัตกรรมวิพากษ์
จากกรณีตัวอย่างศึกษาเสาไฟกินรีและที่เกี่ยวข้อง เสาไฟประติมากรรมดังกล่าวมีลักษณะพิเศษเฉพาะตัว คือ (1) การจัดซื้อจัดจ้างใช้บัญชีนวัตกรรม (2) บัญชีสินค้านวัตกรรมจ้างโดยวิธีเฉพาะเจาะจง วิธีพิเศษได้ (3) ราคาวัสดุหาที่เทียบยากเหมือนรวมหัวกันผูกขาดสินค้าโดยบัญชีนวัตกรรม (4) เบ้าแบบประติมากรรมแต่ละแบบมีลักษณะยากง่ายต่างกัน ไม่เหมือนกัน ซึ่งจำนวนการผลิต การผลิตทำรูปสัตว์ไว้ขายล่วงหน้าตามปกติเป็นจำนวนมากๆ จะไม่มีผู้มาซื้อ ไม่อาจกระทำได้ ต้องมีผู้สั่งผลิต สั่งซื้อสั่งจ้างเสียก่อน จึงมีผลต่อราคาต่อชิ้น ข้อสังเกต
(1) บัญชีนวัตกรรมไทย และการกำหนดสเปก (TOR) เอื้อกันมาจากส่วนกลาง เพราะราคาที่ซื้อจ้างสูงแพงมาก ที่ อปท.ทั่วประเทศก็ถือปฏิบัติเพราะว่ากำหนดไว้ในบัญชีเป็น “นวัตกรรม” ที่ไม่ทราบเหตุผลรองรับชัดเจน แค่เพียงอ้างว่าเป็นงานศิลปะ งานอันมีลิขสิทธิ์ คงไม่เพียงพอ ซึ่งน่าจะเรียกว่า "บัญชีนิรโทษกรรม" มากกว่า จึงเอาผิดใครไม่ได้
(2) กรมบัญชีกลางควรตรวจสอบประกาศนวัตกรรมไทยเสาไฟฟ้าโซล่าเซลล์และนวัตกรรมที่เกี่ยวข้อง เช่น เรื่องราคาไม่ควรสูง การขึ้นบัญชีของผู้ประกอบการฯ ไม่ผูกขาดล็อกสเปก กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นกรณีงบประมาณเงินอุดหนุนเฉพาะกิจต้องขจัดขบวนการเสนอขอโครงการที่มีผลประโยชน์ทับซ้อน ธุรกิจนายทุนผูกขาด ฯลฯ เป็นต้น
(3) แบบนี้มันจะเป็นเหมือนวัวหายแล้วล้อมคอก เพราะเมื่อมีผิดพลาดกันก็หาทางปกป้องและป้องกันทีหลัง ที่ไม่เป็นผลดีนักในระยะยาว เกิดในทุกจังหวัด เมื่อมีความเสียหายเกิดขึ้นตามกฎหมายความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ต้องเรียกเงินคืน แถมมีวินัยหวดตามหลังเจ้าหน้าที่อีก และเมื่อถึงเวลานั้น ระเบียบ มท.ว่าด้วยการรับเงินฯ ข้อ 103 ในอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัดก็จะไม่คุ้มครองการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ฯ เป็นต้น
(4) ฝากในเรื่องความเหมาะสมในการติดตั้งระบบไฟฟ้าโซล่าเซลล์นั้น ควรใช้ในพื้นที่ที่การไฟฟ้าเข้าไม่ถึง ลากสายไปใหม่ไม่คุ้มค่าในงบประมาณการลงทุน
(5) การแก้ไขการใช้งบประมาณที่สิ้นเปลือง ไม่สอดคล้องเหมาะสม เพราะ อปท.แห่งอื่นๆ อีกหลายแห่งไม่ได้มีรายได้งบประมาณมากมายเช่นนี้ เป็นความเหลื่อมล้ำของ อปท.ที่อยู่ตามชนบท บ้านนอก ป่าเขา ห่างไกล ขาดแคลน ยากจนฯ ข้ออ้างว่า นโยบายภาครัฐส่งเสริมการท่องเที่ยว และการใช้พลังงานโซล่าเซลล์ต้องให้พอดี เหมาะสม เพราะนั่นอาจเป็นภาพลวงตา ที่มีผลประโยชน์ทับซ้อนมหาศาลซ่อนอยู่มักออกมาในรูปมือใครยาวสาวได้สาวเอา การทุจริต ฮั้วประมูล นอมินี ผลประโยชน์ต่างตอบแทนฯ ถือเป็นความเหลื่อมล้ำของระบบราชการท้องถิ่นไทยที่มองเห็นๆ
(6) เป็นกรณีศึกษาว่า หากผลของจุดจบของการตรวจสอบและสอบสวนฯ ของผู้มีอำนาจมีผลที่ต่างกันทั้งที่เป็นการกระทำด้วยข้อเท็จจริงอย่างเดียวกัน จะมีความเปลี่ยนแปลงอะไรเกิดขึ้นต่อสังคมไทยหรือไม่ กล่าวคือ ถือเป็นบทเรียนที่ต้องมีการลงโทษผู้กระทำผิดเพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่าง หรือหน่วยงานรับผิดชอบตรวจสอบต้องประสานการปฏิบัติปิดช่องว่างของระเบียบกฎหมายนั้นๆ เพื่อให้ฝ่ายปฏิบัติทำงานด้วยความถูกต้องสบายใจ และมีประสิทธิภาพประสิทธิผล หรือนิ่งเฉยผ่านลืมเรื่องไป เพราะเป็นเรื่องปกติทั่วไป ไม่มีใครผิด หรือจะปล่อยให้เรื่องเดิมเกิดซ้ำๆ แล้วค่อยตามไปแก้ ฯลฯ ทั้งนี้เพื่อระบบที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ มีธรรมาภิบาล (Transparency, Integrity, Good Governance) ที่ถึงเวลาต้องปฏิรูปราชการไทยกันทั้งระบบ
เลี่ยงการล็อกสเปกและกฎหมายการฮั้วประมูล
ประเด็นน่าสนใจในพฤติกรรมผู้เกี่ยวข้องที่อยู่ในขอบข่ายที่อาจถูกสอบสวนดำเนินการทางวินัย ทางวินัย ละเมิดและทางอาญา เช่น
(1) มีส่วนได้เสียในสัญญาทั้งทางตรงทางอ้อมฯ ที่สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น มักเข้าไปมีส่วนได้เสียอยู่เนืองๆ และข้าราชการฝ่ายประจำก็ยังปฏิบัติตามคำสั่งนั้นๆ ทั้งที่รู้ว่าเป็นนโยบายที่ผิดระเบียบกฎหมาย ปกติบรรดาฝ่ายนักการเมืองมักจะรอด แต่ข้าราชการอาจไม่ต้องรับผิดในมูลละเมิด เมื่อมีข้อต่อสู้ว่า ผู้บังคับบัญชาได้มอบหมายหน้าที่ให้ทำแล้ว หากผู้บังคับบัญชาไม่ได้มอบหน้าที่ก็ทำไม่ได้ ฉะนั้น จึงไม่มีความผิดต่อหน้าที่ เป็นต้น
(2) การจงใจทอดทิ้งหรือละเลยไม่ปฏิบัติการตามอำนาจหน้าที่ฯ โดยเฉพาะการละเลยไม่กำกับตรวจสอบการปฏิบัติงานตามกฎหมายและตามระเบียบแบบแผนราชการ รวมถึงการไม่ตั้งใจปฏิบัติงานด้วยความอุตสาหะ ก่อให้เกิดผลดีแก่ราชการ ไม่จงใจประมาทเลินเล่อฯ
(3) ปฏิบัติการไม่ชอบด้วยอำนาจหน้าที่ การใช้อำนาจโดยไม่ชอบ กรณีนี้ อปท.ส่วนใหญ่อ้างขาดความรู้ความเข้าใจในด้านระเบียบกฎหมาย ประกอบกับกับนโยบายที่สุ่มเสี่ยงต่อการผิดกฎหมายการทุจริต
(4) การฝ่าฝืนต่อกฎหมายหรือคำสั่งของผู้บังคับบัญชาหรือผู้กำกับดูแลฯผู้มีอำนาจถอดถอน ที่สั่งการฯ เนื่องจากระบบราชการท้องถิ่นไทยเป็นระบบอุปถัมภ์มาก การปฏิบัติตามกฎหมายและคำสั่งฯ มีปัญหาเพื่อพวกพ้อง อุ้มชู ต่างตอบแทนกัน โดยเฉพาะการช่วยเหลือกันในทางที่ผิด การดำเนินการตามระเบียบกฎหมายของข้าราชการฝ่ายประจำมักมีปัญหาการรับคำสั่งที่ไม่ชอบมาปฏิบัติเสียมากกว่า ส่วนการฝ่าฝืนคำสั่งแทบไม่มี จะมีก็เพียง “การฝ่าฝืนกฎหมายและระเบียบฯ” เท่านั้น โดยเฉพาะฝ่ายการเมืองท้องถิ่น
ผู้เขียนไม่มีเจตนาดิสเครดิตติเตียนต่อว่าว่าร้ายกล่าวหาต่อหน่วยงานอื่นใด แต่เพื่อเป็นกรณีศึกษาเท่านั้น