นายพิพัฒน์ วรสิทธิดำรงค์ นายกสมาคมข้าราชการส่วนท้องถิ่นแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากรณีสมาคมข้าราชการส่วนท้องถิ่นฯ ร่วมกับ มูลนิธิปลัดอบต.แห่งประเทศไทย สมาคมลูกจ้างประจำองค์การบริหารส่วนจังหวัด สหพันธ์พนักงานจ้างท้องถิ่นแห่งประเทศไทย สมาพันธ์เครือข่ายวินัยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งประเทศไทย และชมรมพัฒนาชุมชนท้องถิ่นแห่งประเทศไทย ในนาม “สหพันธ์องค์การข้าราชการและลูกจ้างท้องถิ่นแห่งประเทศไทย” ได้จัดให้มีเวทีสัมมนาทางวิชาการเพื่อรับฟังความเห็นจากตัวแทนผู้บริหารท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น และข้าราชการส่วนท้องถิ่น ทั่วประเทศ เกี่ยวกับการปัญหาอุปสรรคในการปฏิบัติหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในอดีตและปัจจุบัน ในรอบปี 59-60 และข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะจากผู้บริหารท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น ข้าราชการส่วนท้องถิ่น ลูกจ้างประจำและพนักงานจ้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผ่านช่องทางสื่อออนไลน์ และได้รวบรวมสรุปเป็นข้อเสนอต่ออธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เพื่อประกอบการพิจารณาแก้ไขกฎหมาย ระเบียบ หลักเกณฑ์ สำหรับเป็นแนวทางปฏิบัติที่ถูกต้อง เหมาะสมกับสภาพการณ์ในปัจจุบันแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ นายพิพัฒน์ กล่าวต่อว่า โดยข้อเสนอดังกล่าว ประกอบด้วย 1.ด้านรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จากที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้รับการถ่ายโอนภารกิจจากกระทรวง ทบวง กรม ต่างๆ ตามพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ๒๕๔๒ โดยภารกิจส่วนใหญ่มิได้จัดสรรงบประมาณตามมาด้วย หรือจัดสรรแต่มีจำนวนน้อยไม่เพียงพอต่อการบริหารจัดการ ทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องรับภาระดังกล่าวเพิ่มเติม จึงขอให้ดำเนินการแก้ไข ดังนี้ 1.1ขอให้รัฐบาลจัดสรรงบประมาณในรูปของเงินอุดหนุนทั่วไปที่ไม่กำหนดวัตถุประสงค์เพิ่มมากขึ้น โดยให้ลดเงินอุดหนุนเฉพาะกิจลง 1.2 ขอให้รัฐบาลเร่งรัดแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับภาษีรายได้ที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดเก็บเอง ให้มีอัตราที่เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจที่มีการเปลี่ยนแปลงไป เช่น ภาษีบำรุงท้องที่ ภาษีโรงเรือน และภาษีป้าย เป็นต้น 1.3 ขอให้รัฐบาลได้ตัดโอนงบประมาณที่หน่วยงานส่วนกลางหรือส่วนภูมิภาคเคยได้รับในภารกิจที่ได้ถ่ายโอนให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแล้ว จัดสรรให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นๆ เพิ่มเติมอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี 2.ปัญหาการเลิกจ้างพนักงานจ้างและการปรับให้เป็นพนักงานจ้างเหมาบริการ ด้วยในห้วงปีงบประมาณ 2556-2560 ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน พนักงานจ้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจำนวนมากได้ร้องขอความเป็นธรรมต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) รัฐบาล กระทรวงมหาดไทย และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เพื่อขอให้แก้ไขเยียวยากรณีที่ถูกเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม หรือถูกปรับลดให้เป็นพนักงานจ้างเหมาบริการ โดยได้รับอัตราค่าจ้างและสิทธิประโยชน์อื่นต่ำกว่าที่เคยได้รับ จนไม่สามารถดำรงชีพอย่างปกติสุขเยี่ยงบุคคลทั่วไปได้ แต่ปริมาณงานและความรับผิดชอบยังคงเท่าเดิมหรือมากกว่าเดิม โดยบางคนปฏิบัติหน้าที่มาอย่างต่อเนื่องนับเป็นเวลากว่า 10-20 ปี เมื่อถูกเลิกจ้างหรือปรับลดไปเป็นพนักงานจ้างเหมาบริการ พนักงานจ้างเหล่านั้นเห็นว่าตนเองไม่ได้รับการปฏิบัติจากหน่วยงานของรัฐอย่างเป็นธรรมเท่าเทียมกัน เนื่องจากข้าราชการชั้นผู้น้อยได้รับการปรับขึ้นเงินเดือนหรือค่าตอบแทน แต่พนักงานจ้างเหล่านี้กลับถูกปรับลดตำแหน่งหรือถูกเลิกจ้าง ฉะนั้น เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่พนักงานจ้างในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และมิให้เกิดผลกระทบต่อการให้บริการแก่พี่น้องประชาชนในแต่ละท้องถิ่น จึงขอให้พิจารณาดำเนินการดังนี้ 2.1 สั่งการให้ท้องถิ่นจังหวัดในฐานะฝ่ายเลขานุการก.จังหวัด ได้เอาใจใส่ดูแลกรณีที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้เสนอให้มีการบอกเลิกสัญญาจ้าง การไม่ต่อสัญญาจ้าง การยุบกรอบอัตราตำแหน่งพนักงานจ้าง ให้มีการตรวจสอบข้อมูลอย่างละเอียด รอบคอบ และควรให้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนเสนอให้คณะกรรมการข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่นระดับจังหวัด (ก.จังหวัด) พิจารณาให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบก่อนทุกครั้ง กรณีพนักงานจ้างถูกบอกเลิกสัญญาจ้าง หรือ ไม่ต่อสัญญาจ้าง หรือเพื่อให้มีการยุบเลิกกรอบอัตราตำแหน่ง โดยการอ้างค่าใช้จ่ายเกินร้อยละ ๔๐ ตามมาตรา ๓๕ ของพระราชบัญญัติระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ๒๕๔๒ ควรให้มีการตรวจสอบในเชิงลึกด้วย หากพนักงานจ้างไม่ได้รับความเป็นธรรมจริง ควรให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นแก้ไขหรือดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมาย ระเบียบ หลักเกณฑ์ ที่เกี่ยวข้อง อย่างเคร่งครัด 2.2ควรให้มีการแต่งตั้งคณะทำงานแก้ไขปัญหาเรื่องดังกล่าวขึ้นอย่างเร่งด่วน ประกอบด้วย ผู้แทนกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ผู้แทนผู้บริหารท้องถิ่น ผู้แทนข้าราชการส่วนท้องถิ่น และผู้แทนของพนักงานจ้าง โดยเชิญตัวแทนจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้องมาร่วมให้ข้อมูล เช่น สำนักงานประกันสังคม สำนักงบประมาณ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เป็นต้น เพื่อร่วมหารือให้การแก้ไขปัญหาดังกล่าวในระยะสั้นและระยะยาวต่อไป 3.ปัญหาความเสมอภาคระหว่างหน่วยงานของรัฐกับหน่วยงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จากที่กระทรวงมหาดไทยได้วางระเบียบว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมและการเข้ารับการฝึกอบรมของเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น พ.ศ. 2557 ในข้อ 28 ได้แบ่งแยกระหว่างหน่วยงานผู้จัดซึ่งเป็นหน่วยงานราชการกับหน่วยงานอื่น ซึ่งหมายรวมถึงสมาคมของข้าราชการ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้วย โดยกำหนดให้หน่วยงานราชการของรัฐสามารถเรียกเก็บค่าลงทะเบียนฝึกอบรมไม่มีขอบเขตจำกัด แต่สำหรับหน่วยงานที่เป็นองค์กรซึ่งขับเคลื่อนส่งเสริมการบริหารงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นโดยตรง เช่น สมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย สมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย สมาคมข้าราชการส่วนท้องถิ่นแห่งประเทศไทย สมาคมข้าราชการองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย และสมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย เป็นต้น กลับสามารถเก็บอัตราค่าลงทะเบียนได้เพียงวันละ 300-600 บาทเท่านั้น อันเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เสมอภาคตามหลักการของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2560 และเป็นการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมกับองค์กรที่มีบทบาทในการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นโดยตรง รวมทั้งไม่สอดคล้องกับระเบียบของกระทรวงการคลังว่าด้วยการดังกล่าวด้วยที่ไม่ได้กำหนดวงเงินและแบ่งแยกหน่วยงาน ฉะนั้น เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม มีความเสมอภาคกันระหว่างหน่วยงานผู้จัด ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานของรัฐ หรือหน่วยงานที่ทำหน้าที่ส่งเสริมสนับสนุนการดำเนินงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งหมายรวมถึงผู้บริหารท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น ข้าราชการส่วนท้องถิ่น ลูกจ้างประจำ และพนักงานจ้าง จึงขอความอนุเคราะห์ให้มีการศึกษาและแก้ไขอัตราค่าลงทะเบียนฝึกอบรมภายในประเทศของหน่วยงานผู้จัดให้มีความเสมอภาคกันโดยไม่กำหนดวงเงิน โดยให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรม และให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้มีอิสระในการตัดสินใจว่าหน่วยงานผู้จัดใดมีความน่าเชื่อถือและเหมาะสมจะส่งบุคลากรของตนเองเข้าร่วมฝึกอบรม ประชุมสัมมนา ซึ่งจะเป็นการสอดคล้องกับระเบียบของกรมบัญชีกลางซึ่งได้แก้ไขไปก่อนหน้านี้แล้ว โดยมิได้กำหนดในเรื่องดังกล่าวไว้แต่อย่างใด 4.)การสนับสนุนการดำเนินงานขององค์กรข้าราชการส่วนท้องถิ่น 4.1ขอให้แก้ไขระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยรายจ่ายขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเกี่ยวกับค่าบำรุงสมาคม พ.ศ. 2555 ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยรายจ่ายขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเกี่ยวกับค่าบำรุงสมาคม พ.ศ. 2555 ได้กำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอาจมีรายจ่ายเป็นค่าบำรุงสมาคมได้ แต่มีขอบเขตจำกัดเพียงสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย สมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย และสมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย เท่านั้น ซึ่งมีความไม่เป็นธรรมและไม่เสมอภาค เนื่องจากสมาคมที่จัดตั้งขึ้นโดยข้าราชการส่วนท้องถิ่นมีความมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของข้าราชการส่วนท้องถิ่น ลูกจ้างประจำ และพนักงานจ้าง เป็นส่วนรวม ทั้งนี้ โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ข้าราชการส่วนท้องถิ่นฯมีองค์ความรู้ มีศักยภาพเพียงพอในการบริการประชาชนในเขตพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ฉะนั้น จึงเห็นควรได้มีการพิจารณาให้มีการปรับปรุงแก้ไขระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยรายจ่ายขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเกี่ยวกับค่าบำรุงสมาคม พ.ศ. ๒๕๕๕ ให้ครอบคลุมถึงสมาคมของฝ่ายข้าราชการส่วนท้องถิ่น ซึ่งได้รับการจดทะเบียนเป็นภาพรวมของประเทศ เช่น สมาคมข้าราชการส่วนท้องถิ่นแห่งประเทศไทย สมาคมข้าราชการองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย และสมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย เป็นต้น 4.2การสนับสนุนให้องค์กรข้าราชการส่วนท้องถิ่นมีความเข้มแข็ง เนื่องจากข้าราชการส่วนท้องถิ่น ลูกจ้างประจำ และพนักงานจ้าง มีต้นสังกัดที่หลากหลายแตกต่างกัน ซึ่งทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำกันในหลายมิติ ทั้งมิติในด้านความเป็นธรรม มิติความเท่าเทียมด้านความก้าวหน้าในสายงาน มิติการได้รับโอกาสในการเรียนรู้ ทำให้มีความจำเป็นต้องมีองค์กรที่คอยให้การดูแล ส่งเสริม สนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ และคุ้มครองสิทธิประโยชน์ที่พึงได้รับตามกฎหมาย ระเบียบ หลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง จึงทำให้มีการรวมตัวของข้าราชการส่วนท้องถิ่น ลูกจ้างประจำ และพนักงานจ้าง ในรูปแบบ “สมาคม” หรือ “สมาพันธ์” หรือ “สหพันธ์” เพิ่มมากขึ้น ฉะนั้น จึงเห็นควรที่กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นควรช่วยเหลือให้ความอนุเคราะห์แก่ข้าราชการส่วนท้องถิ่น ลูกจ้างประจำ และพนักงานจ้าง โดยการสนับสนุนให้องค์กรที่ข้าราชการส่วนท้องถิ่น หรือลูกจ้างประจำ หรือพนักงานจ้าง เกิดความเข้มแข็ง เช่น (1) วางระเบียบให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถให้การสนับสนุนงบประมาณแก่ องค์กรของข้าราชการส่วนท้องถิ่น ลูกจ้างประจำ และพนักงานจ้าง ซึ่งได้รับการจดทะเบียนถูกต้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (2) ให้การอนุเคราะห์ในการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ แจ้งเวียน ไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กรณีที่องค์กรของข้าราชการส่วนท้องถิ่น ลูกจ้างประจำ และพนักงานจ้าง ร้องขอความช่วยเหลือหรือขอความอนุเคราะห์ กรณีที่มีการจัดกิจกรรม ฝึกอบรม ประชุมสัมมนา ผ่านช่องทางต่างๆ ของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และสำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัด (3) กรณีที่กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น มีการกำหนดระเบียบ หลักเกณฑ์ ประกาศใดๆ ที่กระทบต่อสิทธิประโยชน์ สวัสดิการ ความก้าวหน้าของข้าราชการส่วนท้องถิ่น ลูกจ้างประจำ และพนักงานจ้าง ขอให้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นได้เชิญตัวแทนของสมาคม สมาพันธ์ สหพันธ์ ของข้าราชการส่วนท้องถิ่น ลูกจ้างประจำ และพนักงานจ้าง ซึ่งได้รับการจดทะเบียนถูกต้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาซักซ้อม มาชี้แจง หรือรับฟังความเห็นก่อนที่จะมีการบังคับใช้ เพื่อสร้างบรรยากาศการมีส่วนร่วมระหว่างกัน 5.การส่งเสริมและสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่นจังหวัด (ก.จังหวัด) ด้วยในห้วงเวลาที่ผ่านมา คณะกรรมการกลางข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่น (ก.กลาง) ได้มีการออกประกาศมาตรฐานทั่วไป หลักเกณฑ์ และมติต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารงานบุคคลจำนวนมาก ซึ่งบ่อยครั้งการนำไปสู่ภาคปฏิบัติไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกันทั่วประเทศ จึงทำให้เกิดความลักลั่นในมาตรฐานการปฏิบัติที่แตกต่างกันระหว่างคณะกรรมการข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่นจังหวัด ในแต่ละจังหวัด ฉะนั้น จึงเห็นควรที่กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น จะได้พิจารณาจัดให้มีการประชุมสัมมนาระหว่างฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการกลางข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่น (ก.กลาง) กับ กรรมการข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่นจังหวัด (ก.จังหวัด) ซึ่งมาจากฝ่ายของข้าราชการส่วนท้องถิ่นทุกประเภท ทุกๆ ๓ เดือน เพื่อเป็นการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเจตนารมณ์แห่งการออกประกาศ มาตรฐาน หลักเกณฑ์ หรือมติของคณะกรรมการกลางข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่น (ก.กลาง) รวมทั้งรับทราบปัญหาอุปสรรคในการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการฯในระดับจังหวัดด้วย 6.การแก้ไขปัญหาการโอนย้ายระหว่างข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่น เนื่องจากปัจจุบัน ประกาศมาตรฐานของคณะกรรมการกลางข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่น ยังมิได้กำหนดให้มีการโอนย้ายสับเปลี่ยนระหว่างข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่นต่างประเภทได้ จึงทำให้หลายจังหวัดประสบปัญหาการโอนย้าย เพื่อให้ข้าราชการส่วนท้องถิ่นได้มีโอกาสศึกษาเรียนรู้ในการบริหารงานในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นคนละประเภทกัน อีกทั้งเพื่อการแก้ไขปัญหากรณีเกิดความขัดแย้งขึ้นระหว่างผู้บริหารท้องถิ่นกับข้าราชการส่วนท้องถิ่น จึงเห็นควรให้มีการปรับปรุงแก้ไขประกาศมาตรฐานทั่วไป เพื่อให้ข้าราชการส่วนท้องถิ่นต่างประเภทกันสามารถย้ายสับเปลี่ยนในตำแหน่งและระดับเดียวกันได้ โดยไม่ต้องรอการแก้ไขกฎหมายบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น ซึ่งได้มีการกล่าวอ้างเช่นนี้มาโดยตลอด ๑๐ ปีที่ผ่านมาของข้าราชการในสังกัดกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นที่รับผิดชอบ เนื่องจากการตรากฎหมายมิได้อยู่ในอำนาจของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นที่จะกำหนดโดยตนเองได้ แต่การแก้ไขประกาศสามารถริเริ่มและดำเนินการได้โดยตรง 7.การสนับสนุนการดำเนินงานของเครือข่ายคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยพนักงานส่วนท้องถิ่น เนื่องจากกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นได้จัดให้มีผู้แทนเครือข่ายคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยพนักงานส่วนท้องถิ่นมาตามลำดับ แต่ในปัจจุบันปรากฏว่าไม่มีการส่งเสริมและสนับสนุนบทบาทของคณะกรรมการเครือข่ายฯให้มีความเข้มแข็ง โดยไม่มีการจัดประชุมหรือสัมมนาเป็นประจำเช่นทุกปี เพื่อทบทวนความรู้ ทักษะ ประสบการณ์ ดังนั้น จึงขอให้มีการสนับสนุนการดำเนินงานของเครือข่ายคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยพนักงานส่วนท้องถิ่นให้มีความต่อเนื่องดังนี้ 7.2การดำเนินการจัดอบรมหลักสูตรการดำเนินการทางวินัยพนักงานส่วนท้องถิ่น (หลักสูตร 5 วัน) หลักสูตรคณะกรรมการสอบสวนทางวินัย (หลักสูตร 7 วัน) และหลักสูตร พัฒนาและเพิ่มทักษะคณะกรรมการสอบสวนทางวินัย (หลักสูตร 15 วัน) เพื่อสนับสนุนให้บุคลากรขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีความรู้ ความเชี่ยวชาญด้านการสอบสวนทางวินัยตามนัยข้อ 49 วรรคสอง ของประกาศ ก.จ. ก.ท. และ ก.อบต. เรื่อง มาตรฐานทั่วไปเกี่ยวกับวินัยและการรักษาวินัยและการดำเนินการทางวินัย พ.ศ. 2558 7.2การจัดประชุมสัมมนาทางวิชาการเครือข่ายคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยพนักงานส่วนท้องถิ่น และผู้แทนเครือข่าย ปีละ 1-2 ครั้ง เพื่อทบทวนความรู้ ทักษะ ประสบการณ์ และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกันในทางการสอบสวนทางวินัย หรือเรื่องอื่นที่เกี่ยวข้อง 7.3การส่งเสริมให้เครือข่ายคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยมีทักษะความรู้ความเชี่ยวชาญด้านการสอบสวนความรับผิดทางละเมิด เพื่อให้เป็นอีกหนึ่งภารกิจของผู้ที่ผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรพัฒนาและเพิ่มทักษะคณะกรรมการสอบสวนทางวินัย (หลักสูตร 15 วัน) 7.4การส่งเสริมและสนับสนุนให้แต่ละจังหวัดมีคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยพนักงานส่วนท้องถิ่น ประจำจังหวัดอย่างน้อยจังหวัดละ 3-5 ชุดๆ ละ 3 คน พร้อมพัฒนาบุคลากรดังกล่าวให้มีทักษะ ความรู้ความเชี่ยวชาญด้านการสอบสวนทางวินัย และความรับผิดทางละเมิด เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นภายในจังหวัดนั้นๆ ขอสนับสนุนจากต้นสังกัดหรือโดยความเห็นชอบของ ก.จังหวัด แต่งตั้งเป็นคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยทั้งร้ายแรง และไม่ร้ายแรง รวมทั้งคณะกรรมการสอบสวนทางละเมิดด้วย 7.5การเสริมสร้างขวัญและกำลังใจแก่เครือข่ายคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยที่ได้รับการแต่งตั้งให้ปฏิบัติหน้าที่ตามข้อ 7.4 โดยการประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติ การให้ความดีความชอบเป็นกรณีพิเศษ (การเลื่อนขั้นเงินเดือนประจำปี) การพัฒนาทักษะความรู้ความเชี่ยวชาญอย่างต่อเนื่อง โดยการจัดหลักสูตรพัฒนาทักษะ ความเชี่ยวชาญ ร่วมกับหน่วยงานของรัฐอื่นที่มีความเชี่ยวชาญ เช่น สำนักงานข้าราชการพลเรือน สำนักงานข้าราชการตำรวจแห่งชาติ สำนักงานศาลปกครอง เป็นต้น “อนึ่ง เพื่อให้แก้ไขปัญหาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นไปอย่างเป็นรูปธรรม โดยการมีส่วนร่วมของผู้ที่เกี่ยวข้อง กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นพึงจัดตั้งคณะทำงานแก้ไขปัญหาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในแต่ละด้าน โดยการมีส่วนร่วมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจากผู้แทนสมาคม สมาพันธ์ สหพันธ์ ชมรม ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีการขับเคลื่อนกิจกรรมอย่างต่อเนื่องในระดับประเทศทั้งฝ่ายการเมืองและฝ่ายข้าราชการประจำ ร่วมกับผู้แทนของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และผู้ทรงคุณวุฒิที่มาจากนักวิชาการด้านการเมืองการปกครองท้องถิ่น อันจะเป็นการลดช่องว่างความรู้สึกที่มีต่อกันระหว่างข้าราชการในสังกัดกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นและสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้อีกทางหนึ่งด้วย” นายกสมาคมข้าราชการส่วนท้องถิ่นแห่งประเทศไทย กล่าว ++++++++++