ตามประกาศที่อ้างถึง คณะกรรมการกลางการสอบแข่งขันพนักงานส่วนท้องถิ่น (กสถ.) ได้ประกาศรับสมัครสอบแข่งขันเพื่อบรรจุบุคคลเป็นข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่น ประจำปี ๒๕๖๐ ลงวันที่ ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๖๐ จำนวน ๘๕ ตำแหน่งรวม ๒๑,๖๐๕ อัตรา และจัดสอบทั้งภาค ก. และภาค ข. ทั้งประเภททั่วไป และประเภทวิชาการ รวมทั้งตำแหน่งครูผู้ช่วย เมื่อวันที่ ๒๔ กันยายน ๒๕๖๐ พร้อมกันทั่วประเทศ โดย กสถ.ได้ว่าจ้างมหาวิทยาลัยบูรพาเป็นสถาบันกลางในการดำเนินการจัดสอบในครั้งนี้นั้น นาย พิพัฒน์ วรสิทธิดำรง นายกสมาคมข้าราชการส่วนท้องถิ่นแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สมาคมฯได้รับการร้องขอจากผู้สมัครสอบและเข้าสอบแข่งขันในวันดังกล่าวจำนวนมาก ให้ร้องขอให้มีการตรวจสอบความมีมาตรฐานของการออกข้อสอบดังกล่าวว่าเป็นไปตามประกาศของ กสถ.หรือไม่ โดยมีข้อสังเกตในการสอบครั้งนี้ว่าอาจเป็นไปโดยไม่สุจริต โปร่งใส เที่ยงธรรม เป็นมาตรฐาน "ประกอบด้วย ๑)ข้อสอบภาค ก. สายงานประเภทวิชาการ เหมือนกันทั้งคำถามและคำตอบกับแนวข้อสอบของสำนักติวสอบหลายสำนักติว และในสื่ออินเตอร์เน็ต ๒)ข้อสอบภาค ข. ของตำแหน่งนักประชาสัมพันธ์ปฏิบัติการ เหมือนกันทั้งคำถามและคำตอบกับแนวข้อสอบที่เผยแพร่ในอินเตอร์เน็ต ๓)ข้อสอบภาค ก. (ภาษาไทย และภาษาอังกฤษ) ของสายงานประเภทวิชาการ ไม่ครอบคลุมตามประกาศ เลือกออกเฉพาะบางส่วน และวิชาภาษาอังกฤษตรงกับเอกสารที่เผยแพร่ทางอินเตอร์เน็ต ๔)ข้อสอบภาค ข. ของตำแหน่ง นักทรัพยากรบุคคลปฏิบัติการ มีบางส่วนออกข้อสอบไม่ตรงตามประกาศ (นำพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน มาออกข้อสอบโดยไม่มีในประกาศรับสมัครสอบ) ๕)ข้อสอบภาค ข. ของตำแหน่ง นิติกรปฏิบัติการ ออกข้อสอบเน้นไปที่วิชาการหนึ่งวิชาใดมากจนผิดปกติและอาจไม่เป็นไปตามมาตรฐาน (เน้นการออกประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และประมวลกฎหมายอาญา มากถึงร้อยละ ๗๐ ของข้อสอบทั้งหมด)" นาย พิพัฒน์ กล่าวอีกว่า จากข้อมูลเบื้องต้นนี้ สมาคมข้าราชการส่วนท้องถิ่นแห่งประเทศไทย ได้พิจารณาแล้วเห็นว่า เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการกลางการสอบแข่งขันพนักงานส่วนท้องถิ่น ที่มีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงในประเด็นดังกล่าว เนื่องจากการสรรหาบุคคลเข้ารับราชการในครั้งนี้ ท่านได้รับมอบอำนาจและความไว้วางใจจากหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ตามคำสั่งของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๘/๒๕๖๐ ลงวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐ ซึ่งมีความประสงค์ต้องการให้การสอบแข่งขันเข้ารับราชการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีความสุจริต โปร่งใส ยุติธรรม และได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย จึงได้มอบอำนาจการสอบแข่งขันซึ่งแต่เดิมเป็นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มาเป็นของคณะกรรมการกลางการสอบแข่งขันพนักงานส่วนท้องถิ่น หรือ กสถ. "ฉะนั้น หากกระบวนการสรรหาไม่ชอบด้วยกฎหมาย ระเบียบ หลักเกณฑ์ ที่เกี่ยวข้อง เมื่อได้บุคคลเข้าสู่ราชการอาจสร้างความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อระบบราชการโดยรวม โดยเฉพาะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีอำนาจหน้าที่กว้างขวางที่มีผลต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องให้ข้อกล่าวหาดังกล่าวมีการพิสูจน์ข้อเท็จจริงก่อนการประกาศผลการสอบข้อเขียนเพื่อมิให้เกิดความเสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง ดังที่มีการยกเลิกการสอบแข่งขันภายหลังการบรรจุแต่งตั้งไปแล้วขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่คณะกรรมการกลางข้าราชการ/พนักงานส่วนท้องถิ่น (ก.กลาง) ประกาศยกเลิกไปก่อนหน้านี้ เช่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดมหาสารคาม กาฬสินธุ์ และอุดรธานี เป็นต้น หรือ กรณีของสำนักงาน ป.ป.ท. ในการยกเลิกการสอบเมื่อปี ๒๕๕๙ เมื่อตรวจสอบพบว่าข้อสอบบางส่วนเหมือนกับหนังสือของสำนักติวแห่งหนึ่ง" นายกสมาคมข้าราชการส่วนท้องถิ่นแห่งประเทศไทย กล่าว ว่า ด้วยเหตุนี้สมาคมข้าราชการส่วนทท้องถิ่นแหงประเทศไทย จึงขอให้ประธานคณะกรรมการกลางการสอบแข่งขันพนักงานส่วนท้องถิ่น เร่งดำเนินการตรวจสอบมาตรฐานในการออกข้อสอบแข่งขันเข้ารับราชการในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไปอย่างเร่งด่วน