สัปดาห์พระเครื่อง / อ.ราม วัชรประดิษฐ์ “หลวงพ่อพรหมสร (รอด) ‘เทพเจ้าแห่งเมืองโคราช’ ที่เคารพศรัทธาและเลื่อมใสของชาวเมืองโคราชและจังหวัดใกล้เคียง รักสมถะ พอเพียง ไม่ยินดียินร้ายต่อลาภ ยศ สรรเสริญ มุ่งมั่นเผยแผ่ธรรมะต่อสาธุชนให้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ และสร้างวัดวาอารามเพื่อสืบทอดพระบวรพุทธศาสนาให้ยั่งยืน ด้วยบารมีและวิทยาอาคมที่ได้ร่ำเรียนมา ส่งให้วัตถุมงคลของท่านสูงส่งด้วยพุทธคุณเป็นที่ลือเลื่อง โดยเฉพาะด้านแคล้วคลาดและคงกระพันชาตรีเป็นเลิศยิ่ง” หลวงพ่อพรหมสร เป็นชาวจังหวัดนครราชสีมา ‘เมืองย่าโม’ โดยกำเนิด เกิดเมื่อปี พ.ศ.2414 เดิมชื่อ รอด วัยเด็กอยู่กับป้าที่บ้านกระถิน ช่วยดูแลฝูงวัว จนอายุครบบวชในปี พ.ศ.2436 ได้กลับไปอุปสมบทที่วัดบ้านสะพาน ต.ขามเฒ่า ซึ่งเป็นบ้านเกิดของมารดา โดยมี พระอุปัชฌาย์อยู่ เป็นพระอุปัชฌาย์ หลวงพ่อพรหมสร(รอด) วัดบ้านไพ พระภิกษุรอด สนใจใฝ่ศึกษาทั้งธรรมะและวิปัสสนาธุระจนแตกฉาน จากนั้นจึงเริ่มออกธุดงควัตรไปตามสถานที่ต่างๆ และศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมจากพระเกจิอาจารย์ผู้ทรงพุทธาคมมากมายหลายรูป จนมีความรอบรู้และเชี่ยวชาญสูง แต่ด้วยท่านเป็นพระที่เคร่งครัดในวัตรปฏิบัติ ไม่ยินดียินร้ายต่อลาภ ยศ และสมณศักดิ์ต่างๆ มุ่งเพียงเผยแผ่และสั่งสอนธรรมะแก่พุทธศาสนิกชน เพื่อให้รู้ดีรู้ชั่ว มีความเพียงพอเป็นที่ตั้ง พร้อมกันนั้นยังมุ่งสร้างศาสนสถานวัดวาอาราม เพื่อให้กุลบุตรได้มีโอกาสได้บวชเรียนศึกษาหาความรู้ และพุทธศาสนิกชนได้เข้าวัดทำบุญฟังเทศน์ฟังธรรมได้โดยสะดวก ไม่ต้องเดินทางไปวัดไกลๆ ด้วยบารมีบุญ หลวงพ่อรอดได้สร้างวัดถึง 5 วัด อันได้แก่ วัดดอนผวา ในปี พ.ศ.2443, วัดบ้านขามเฒ่า ปี พ.ศ.2453, วัดบ้านหนองเคลือขุด ปี พ.ศ.2467, วัดบ้านหนองพลอง ปี พ.ศ.2470 และ วัดบ้านไพ ในปี พ.ศ.2490 ซึ่งในการสร้างวัดแต่ละวัด ท่านได้รับความร่วมมือทั้งกำลังทรัพย์และกำลังแรงกายจากบรรดาลูกศิษย์ลูกหาและชาวบ้านในละแวกนั้นๆ ทั้งสิ้น โครงการที่จะสร้างวัดต่อไปได้สิ้นสุดลง เพราะหลังจากสร้างโบสถ์วัดนุกแล้วเสร็จ ท่านก็มรณภาพเสียก่อนในปี พ.ศ.2500 สิริอายุได้ 86 ปี65 พรรษา หลวงพ่อพรหมสร หรือที่มักเรียกกันติดปากว่า หลวงพ่อรอด ได้จัดสร้างวัตถุมงคล เพื่อแจกจ่ายแก่ศิษยานุศิษย์และสาธุชน เพื่อไว้สักการบูชาและปกป้องภยันตรายต่างๆ มีทั้ง พระรูปหล่อ, เหรียญรูปเหมือน, พระปิดตา รวมถึงเครื่องรางของขลัง อาทิ ขี้ผึ้ง, นางกวัก และผ้ายันต์รอยมือ-รอยเท้าของหลวงพ่อ ซึ่งทั้งหมดล้วนปรากฏพุทธคุณเป็นเลิศในด้านแคล้วคลาดและอยู่ยงคงกระพันชาตรี จนเป็นที่เลื่องลือและรับรู้ของชาวเมืองโคราชแทบทุกคน ที่ต่างเสาะแสวงหาเพื่อให้ได้มาครอบครอง โดยเฉพาะ “เหรียญรูปเหมือน” ที่มีการจัดสร้างด้วยกันถึง 3 รุ่น เหรียญรูปเหมือนหลวงพ่อพรหมสร รุ่นแรก ไม่มีโค้ด R เหรียญรูปเหมือนรุ่นแรก คหบดีชาวลพบุรี เป็นผู้สร้างให้ ในราวปี พ.ศ.2492 ตอนที่ท่านจำพรรษาอยู่ที่วัดบ้านไพ ลักษณะเป็นเหรียญรูปไข่ หูเชื่อม พิมพ์ด้านหน้ายกขอบโดยรอบ 2 เส้น ตรงกลางเป็นรูปหลวงพ่อหน้าตรง ครึ่งองค์ ด้านล่างจารึกชื่อ ‘หลวงพ่อพรหมสร (รอด)’ ด้านหลังเรียบ ตรงกลางมียันต์ ‘นะ ทรหด’ แต่ไม่ระบุปี พ.ศ.ที่สร้างในเหรียญ เหรียญรุ่นสอง ลักษณะพิมพ์ทรงเป็นแบบเดียวกับรุ่นแรก แต่แกะบล็อกใหม่ไม่ได้ใช้ของเดิม สร้างในราวปี พ.ศ.2498 ที่วัดดอนผวา สำหรับ เหรียญรุ่นสาม นั้น สร้างที่วัดนุก เพื่อแจกในงานศพหลวงพ่อรอด ถ้าถามว่ารุ่นไหนฮอตสุด โดยส่วนใหญ่แทบทุกสำนักก็มักเป็น ‘เหรียญรุ่นแรก’ ทั้งนั้น ดังนั้นการเช่าหาต้องระวังให้ดี เพราะเหรียญไม่ระบุปี พ.ศ. ´เหรียญรุ่นแรก´ ให้สังเกตแม่พิมพ์ด้านหน้า ที่ใต้จมูกด้านขวาของหลวงพ่อจะมีเส้นขนแมวเล็กๆ 3 เส้น ตรงตัว “ห” ตัวแรกจะมีรอยพิมพ์แตกเป็นเส้นนูน ส่วนด้านหลัง บริเวณพื้นช่วงหูเชื่อมด้านซ้ายจะเป็นรอยลึกรูปตัว ‘R’ และตรงส่วนบนของยันต์ “นะ ทรหด” จะมีรอยพิมพ์แตกเป็นเส้นนูน เหรียญรูปเหมือนหลวงพ่อพรหมสร รุ่นแรก บล็อกนิยม โค้ด R เหรียญรูปเหมือนหลวงพ่อพรหมสร (รอด) รุ่นแรก นับเป็นเหรียญที่ได้รับความนิยมที่สุดเป็นอันดับหนึ่งของโคราช ถ้าไม่นับรวม “หลวงพ่อคูณ” ถือว่ามีค่านิยมสูงสุดเวลานี้ แต่ด้วยจำนวนการสร้างน้อยมากไม่เกิน 1,000 เหรียญ ผู้ครอบครองบูชาก็ต่างหวงแหน จึงหาดูหาเช่ากันได้ยากมากๆ ในปัจจุบัน มีการทำเทียมเลียนแบบ หรือนำรุ่นสองมาปรับเปลี่ยน จึงต้องมีความสังเกตและพิจารณาให้ดีทีเดียวครับผม