นอกจากเป็น “พื้นที่อ่อนไหว” ยังกลายเป็น “แม่เหล็ก” พื้นที่ดึงดูดเหล่าชาติมหาอำนาจให้มาเข้าสู่วังวนวงจรแห่งความขัดแย้งเข้าให้เสียด้วย นั่นคือ “ทะเลจีนใต้” น่านน้ำทะเลฟากตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิก คาบเกี่ยวกินอาณาบริเวณระหว่างภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออุษาคเนย์ เรา กับภูมิภาคเอเชียตะวันออก โดยแต่เดิมก็เป็นพื้นที่พิพาท ที่หลายประเทศของสองฟากภูมิภาคข้างต้น จากการที่ต่างฝ่ายอ้างกรรมสิทธิ์ครอบครองหมู่เกาะสแปรตลีย์ - พาราเซล ที่มีเกาะแก่งต่างๆ ใหญ่น้อย จนกลายเป็นหมู่เกาะเจ้าปัญหา ซึ่งบรรดาประเทศที่พิพาท ก็ประกอบด้วยชาติคู่ปรปักษ์หลักอย่าง “จีนแผ่นดินใหญ่” เจ้าของฉายา “พญามังกร” เป็นตัวยืน กับเหล่าชาติอื่นๆ ที่ล้วนอ้างว่าพื้นที่แห่งนั้น ก็เป็นของตนเช่นกัน ได้แก่ บรูไน มาเลเซีย ไต้หวัน เวียดนาม และฟิลิปปินส์ ซึ่งที่นับว่า สากรรจ์มากที่สุด ก็เห็นจะเป็นรายของ “เวียดนาม” ที่เผชิญหน้าทางทหารกับจีนแผ่นดินใหญ่กันหลายครั้ง และ “ฟิลิปินส์” ที่ถึงขั้นหยิบยกขึ้นสู่กระบวนการยุติธรรมระหว่างประเทศ ทั้งนี้ การแสดงออกต่างๆ เหล่านี้ เพื่อตอบโต้ที่พญามังกรจีน ได้สยายกางกรงเล็บ ด้วยสารพัดปฏิบัติการ ในอันที่จะหวังการครอบครองหมู่เกาะ ตลอดจนพื้นที่น่านน้ำรายรอบเป็นประการสำคัญ เช่น การก่อสร้างเกาะเทียมรุกคืบกินแดนกัน เป็นต้น ก่อนที่ในเวลาต่อมา บรรดาชาติมหาอำนาจใหญ่น้อยต่างๆ พากันตบเท้าเข้าสู่สังเวียนความขัดแย้งบนพื้นที่นี้กันอย่างคึกคัก ไล่ไปตั้งแต่ “สหรัฐอเมริกา” พญาอินทรี ที่ส่งกองเรือรบ ฝูงบินทางทหาร เข้ามาย่างกรายเฉียดใกล้ ตลอดจนการซ้อมรบตามแบบจำลองยุทธการต่างๆ ด้วยหวังช่วงชิงอิทธิพลที่ตนเคยยิ่งใหญ่นับแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ให้หวนคืนกลับมา ก็ถึงขั้นทำให้พญามังกรจีนต้องควันออกหู ด้วยความกราดเกรี้ยวโกรธา ตามมาด้วยมหาอำนาจชาติคู่หูของสหรัฐฯ อย่าง ผู้ดีอังกฤษ ก็ส่งกองเรือรบมาเพ่นพ่านน่านน้ำทะเลจีนใต้ด้วยเช่นกัน ไม่เว้นแม้แต่ “รัสเซีย” พญาหมีขาว ที่ไม่ยอมตกขบวน โดยได้ “กางอุ้งเล็บ” อิทธิพลทั้งทางทหารและเศรษฐกิจ นอกเหนือจากส่งกองเรือรบ เรือดำน้ำ และฝูงบินทางทหาร มาอวดโฉม รุกเข้ามาย่านน่านน้ำเจ้าปัญหาแห่งนี้กับเขาเหมือนกัน ล่าสุด ก็เป็น “คู่หู ดูโอ” สองชาติพี่เบิ้มของสองฟากภูมิภาคเอเชีย หนึ่งคือ “ญี่ปุ่น” เจ้าของฉายา “ซามูไร” แห่งเอเชียบูรพา คือ เอเชียตะวันออก และ “อินเดีย” ถิ่น “โรตี” แห่งอนุทวีป “เอเชียใต้” อันเป็นสองชาติมหาอำนาจทางเศรษฐกิจระดับ “บิ๊กไฟว์” ได้จับมือ ร่วมไม้ ในการที่จะกอดคอกันเข้ามายังน่านน้ำทะเลจีนใต้เจ้าปัญหาแห่งนี้ โดยทั้งคู่ได้เน้นย้ำถึงสัญญาณที่เคยส่งออกมา ช่วงกลางสัปดาห์ที่ผ่านมานี่เอง ภายหลังจากการเดินทางเยือนอินเดียแดนภารตะของ “นายชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น” และได้พบปะหารือกับ “นายนเรนทรา โมทิ นายกรัฐมนตรีอินเดีย” ก่อนที่ทั้งสองไปเจรจาแบบสามเส้า คือ 3 ฝ่าย กับ “นายเร็กซ์ ทิลเลอร์สัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ” ระหว่างที่พวกเขาร่วมประชุมสุดยอด “สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ” หรือ “ยูเอ็นจีเอ” ครั้งที่ 72 ประจำปี 2017 ณ สำนักงานใหญ่ของสหประชาชาติ หรือยูเอ็น มหานครนิวยอร์ก รัฐนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐฯ ที่เหล่าบรรดาผู้นำกำลังโชว์ปาฐกถากันอยู่ ณ ชั่วโมงนี้ เนื้อหาหลักของการเจรจา ก็เป็นการแสดงความจำนงของสามฝ่ายที่ต้องการให้มีเสรีภาพการเดินเรือ และการเคารพต่กฎหมายทางทะเล ในพื้นที่ทะเลจีนใต้ พร้อมกับเน้นย้ำถึงสัญญาณของทั้งอินเดียและญี่ปุ่นที่มีมาก่อนหน้าว่า ต้องการขยายกิจกรรมทั้งทางทหารและเศรษฐกิจในทะเลเจ้าปัญหาแห่งนั้น ภายใต้ชื่อ “ขยายการร่วมมือความมั่นคงทางทะเล (Enhancing Maritime Security Cooperation)” ในพื้นที่ทะเลจีนใต้ แม้ว่าทั้งญี่ปุ่น และอินเดีย ไม่ได้เป็นหนึ่งในประเทศคู่ขัดแย้งชิงพื้นที่อ้างกรรมสิทธิ์ครอบครองหมู่เกาะใดๆ ในทะเลจีนใต้กันก็ตาม มีเพียงความขัดแย้งข้อพิพาทในพื้นที่พรมแดนที่ติดกับจีนแผ่นดินใหญ่เท่านั้น อย่างญี่ปุ่น ก็มีปัญหากับจีนแผ่นดินใหญ่ เรื่องการอ้างกรรมสิทธิ์ครอบครองหมู่เกาะเตียวหยู (ภาษาจีน) หรือเซนกากุ (ภาษาญี่ปุ่น) ในทะเลจีนตะวันออก ส่วนอินเดียก็มีปัญหากับจีนแผ่นดินใหญ่ เรื่องการอ้างกรรมสิทธิ์ครอบครองพื้นที่ “ดอกลัม” ทางตะวันตกของเทือกเขาหิมาลัย อันเป็นพื้นที่คาบเกี่ยวพรมแดนระหว่างอินเดียกับจีนและภูฏาน จนล่าสุด ถึงขั้นที่ทหารของอินเดียว กับจีนแผ่นดินใหญ่ ปะทะกันด้วยการขว้างก้อนหินเข้าใส่แต่ละฝ่าย จนบาดเจ็บไปตามๆ กัน เมื่อช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา สำหรับปฏิบัติการที่อินเดียและญี่ปุ่น หมายมุ่งสู่ทะเลจีนใต้ ตามสัญญาณที่ส่งมานี้ ก็จะเป็นรุกคืบทางการทหาร ด้วยการที่ทั้งสองประเทศจำหน่าย จ่ายแจก และบริจาคอาวุธยุทโธปกรณ์ ตลอดจนร่วมฝึกซ้อมรบด้วยกับเหล่าชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่กำลังมีปัญหาพิพาทกับจีนแผ่นดินใหญ่ จำแนกแยกเป็น “ญี่ปุ่น” จะมอบเรือลาดตระเวน จำนวน 6 ลำ ให้แก่ “เวียดนาม” เพื่อในการตรวจตราน่านน้ำ และกับ “ฟิลิปปินส์” ทาง “ญี่ปุ่น” ก็จะให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ เพื่อซื้อเรือยามฝั่งจำนวน 10 ลำ ขณะที่ ทาง “อินเดีย” ก็เตรียมที่จะจัดหา “พราห์โมส” ขีปนาวุธเร็วเหนือเสียง ที่พวกเขาพัฒนาร่วมกับ “รัสเซีย” ให้แก่ “เวียดนาม” ร่วมกับขีปนาวุธมหาประลัยรุ่นอื่นๆ เพื่อใช้เป็นเขี้ยวเล็บแก่กองทัพของเวียดนาม นอกจากนี้ ก็ยังมีเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำที่ทางการนิวเดลี ให้แก่รัฐบาลฮานอย เพื่อใช้เป็นทุนรอนในการจัดซื้ออุปกรณ์ “ฮาร์ดแวร์ทางการทหาร” อีกจำนวนกว่า 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อีกด้วย ใช่แต่เท่านั้น “อินเดีย” ก็มีโครงการความร่วมมือสำรวจแหล่งพลังงานร่วมกับเวียดนาม ในน่านน้ำทะเลจีนใต้ ภายใต้เนื้อที่ 3.5 ล้านตารางกิโลเมตร อันอุดมไปด้วยน้ำมันและก๊าซธรรมชาติอีกต่างหาก ผ่านกิจการพลังงานของทางการอินเดีย นั่นคือ “โอเอ็นจีซี” กับ “โครงการปิโตรเวียดนามเอ็กซ์โพลเรชั่น โปรดักชัน คอร์ปอเรชัน” ของทางการเวียดนาม ก็ส่งผลให้ยิ่งเพิ่มความอ่อนไหวในพื้นที่มากขึ้นเป็นทวีคูณ หากเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงทางทหารในพื้นที่นี้ขึ้นไปโดยปริยาย เพราะมิใช่การเผชิญแต่เฉพาะทางการทหารระหว่างกันแต่เพียงเท่านั้น ทว่า ยังมีพลเรือนอยู่ในพื้นที่ขัดแย้งนั้นด้วย นอกจากนี้ ทั้งนิวเดลีและโตเกียว ก็มีโครงการที่จะฝึกซ้อมรบร่วมกันในทะเลจีนใต้กันอีกต่างหากด้วย ที่มาที่ไปของการจับไม้ ร่วมมือข้างต้น ก็เพื่อหวังสกัดกั้นอิทธิพลของพญามังกรจีนแผ่นดินใหญ่ ที่ขยายเพิ่มมากขึ้น จนกระทบกับดุลแห่งอำนาจในภูมิภาคเอเชีย ที่ทั้งอินเดียและญี่ปุ่น ก็รู้สึกวิตกหวั่นเกรง