ประกาศราคาแนะนำของไข่ไก่คละ ณ หน้าฟาร์มเกษตรกร โดยสมาคมผู้ผลิต ผู้ค้า และส่งออกไข่ไก่ ที่ปรับลงมาอยู่ที่ราคา 2.30 บาทต่อฟองนั้น ถือเป็นระดับราคาต่ำสุดในรอบ 1 ปี กลายเป็นทุกข์หนักของคนเลี้ยงที่ต้องเผชิญ ปัญหาที่ถาโถมในปัจจุบัน เริ่มจากปริมาณไข่ไก่ที่ล้นตลาด ด้วยปริมาณแม่ไก่ไข่ยืนกรงทั่งประเทศประมาณ 50 ล้านตัว ให้ผลผลิตไข่ไก่ประมาณ 41–42 ล้านฟองต่อวัน ขณะที่อัตราการบริโภคไข่ไก่ในประเทศที่ปกติมีราว 39–40 ล้านฟองต่อวัน กลับลดลงเหลือเพียง 38 ล้านฟองต่อวัน เนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่ลดน้อยลงอย่างต่อเนื่อง ด้วยปัญหาการระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้อัตราการบริโภคไข่ไก่ภายในประเทศลดลงมาโดยตลอด ขณะเดียวกัน ผู้บริโภคไข่ไก่กลุ่มใหญ่ที่สุดคือ นักเรียน กำลังอยู่ในช่วงปิดภาคเรียน การบริโภคก็ยิ่งลดลงไปอีก ที่สำคัญ ในช่วงนี้ปริมาณไข่ไก่ขนาดเล็กเบอร์ 3-5 ออกสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก เนื่องจากมีแม่ไก่สาวขึ้นมาเลี้ยงทดแทนเพิ่มขึ้น ขณะที่สภาพอากาศร้อนและอุณหภูมิที่สูงขึ้นกระทบกับความเป็นอยู่ของแม่ไก่ไข่ และส่งผลให้แม่ไก่กินอาหารน้อยลง ขนาดฟองไข่ที่ออกมาจึงมีขนาดเล็กจึงจำหน่ายได้ในราคาต่ำ นอกจากนี้ เกษตรกรยังต้องแบกรับภาระต้นทุนสูงถึง 2.68 บาทต่อฟอง ส่วนหนึ่งมากจากวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่มีราคาสูง โดยเฉพาะกากถั่วเหลืองและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่เป็นวัตถุดิบสำคัญ โดยกากถั่วเหลืองจากเมล็ดถั่วเหลืองนำเข้า ราคาปรับขึ้นไปถึงกิโลกรัมละ 19.05 บาท ส่วนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ณ ไซโลโรงงานอาหารสัตว์ราคาซื้อขายอยู่ที่ 9.35 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งถือว่าเป็นราคาที่สูงกว่าราคาในตลาดโลก แต่เกษตรกรต้องแบกรับภาระเพื่อเดินหน้าอาชีพต่อ แม้ว่าปัญหาไข่ไก่ล้นตลาดจนราคาตกต่ำนี้ กรมปศุสัตว์ ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการนโยบายพัฒนาไก่ไข่และผลิตภัณฑ์หรือ เอ้กบอร์ด (Egg Board) จะเร่งเข้ามาดำเนินการแก้ปัญหา ทั้งมาตรการเร่งรัดรวบรวมไข่ส่งออก 200 ล้านฟอง และการขอความร่วมมือปรับลดปริมาณการเลี้ยงไก่ไข่ยืนกรงในฟาร์มผู้ผลิตรายใหญ่ทั่วประเทศ รวม 3 ล้านตัว ภายใน 1 เดือน ซึ่งเป็นมาตรการล่าสุดที่ออกมาเสริมควบคู่กัน เพื่อเร่งปรับสมดุล Demand–Supply ในประเทศให้เหมาะสม สู่การรักษาเสถียรภาพราคาไข่ไก่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลที่รวดเร็วขึ้น วันนี้เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่ทั้งประเทศต้องเดินหน้าให้ความร่วมมือช่วยกันแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะการปลดแม่ไก่แก่ยืนกรงที่อายุ 75 สัปดาห์ ตามกำหนดของภาครัฐ และต้องเดินตามมาตรฐานนี้อย่างเคร่งครัด อย่าแหกกฎ ด้วยการเก็บแม่ไก่แก่เอาไว้ ที่จะกลายเป็นตัวปัญหาวนไปไม่จบสิ้น หากเดินหน้าควบคู่กับไปกับการเร่งส่งออกไข่ไก่ และการขอแรงฟาร์มใหญ่เร่งปลดแม่ไก่เพื่อตัดวงจรแม่ไก่ให้ได้โดยเร็ว เชื่อว่าช่วยแก้ปัญหาได้เร็วขึ้น เพื่อไม่ให้ผู้เลี้ยงทั้งประเทศต้องประสบภาวะขาดทุนจนต้องเลิกอาชีพ ซึ่งจะกระทบกับอุตสาหกรรมการผลิตไข่ไก่ในภาพรวม ส่วนผู้บริโภคก็เป็นอีกแรงสำคัญที่จะช่วยสนับสนุนการแก้ปัญหา และร่วมสร้างเสถียรภาพราคาไขไก่ให้กับประเทศได้ ด้วยการบริโภคไข่ให้มากขึ้น เพราะคนไทยกินไข่ไก่เพียง 226 ฟองต่อคนต่อปี ซึ่งถือว่ายังอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับนานาประเทศ อาทิ เม็กซิโก มากกว่า 400 ฟองต่อคนต่อปี จีน มากกว่า 370 ฟองต่อคนต่อปี ญี่ปุ่น มากกว่า 330 ฟองต่อคนต่อปี มาเลเซียและสหรัฐอเมริกา มากกว่า 300 ฟองต่อคนต่อปี สมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่เคยประเมินว่าหากคนไทยทุกคนกินไข่ไก่เพิ่มขึ้นเพียง 20 ฟองต่อคนต่อปี ก็สามารถช่วยขจัดปัญหาไข่ล้นตลาดและราคาตกต่ำให้หมดไปได้ แค่เพียงคนไทยรับประทานไข่เพิ่ม ก็จะช่วยกระตุ้นปริมาณการบริโภคของทั้งประเทศให้เพิ่มขึ้น และช่วยเกษตรกรได้เดินหน้าอาชีพต่อ และยังได้สุขภาพดีจากไข่ไก่ อาหารที่ปรุงง่าย เมนูหลากหลาย สะดวก มีประโยชน์ และเป็นแหล่งโปรตีนคุณภาพดีราคาถูก สามารถบริโภคได้ทุกคน ทุกวัย และทุกวัน ที่สำคัญกรมปศุสัตว์ได้เข้มงวดระบบมาตรฐานฟาร์ม ทำให้ไข่ไก่ของไทยมีมาตรฐานการผลิตสูง คุณภาพระดับสากล สามารถส่งออกไปจำหน่ายได้ทั่วโลก ..วันนี้คุณกินไข่แล้วหรือยัง โดย : นางสาวรัชนีวรรณ สุขสำราญ นักวิชาการด้านปศุสัตว์