ขสมก. ยันความพร้อมให้บริการระบบ E-Ticket ในรถเมล์ 1 ต.ค.นี้ ระบุ ระยะแรกระบบเก็บค่าโดยสารแบบ E-Ticket มี 2 แบบ พร้อมให้บริการ 800 คันใน ต.ค.นี้แน่นอน ขณะที่กรมบัญชีกลางแจ้งปรับเวลารับบัตรแมงมุมของผู้มีสิทธิใน 7 จังหวัด เป็นวันที่ 17 ต.ค. 2560 โดยจะขยายเวลาการใช้บัตรให้เพิ่มเติมเพื่อความเป็นธรรม
นายประยูร ช่วยแก้ว รองผู้อำนวยการฝ่ายการเดินรถ องค์การ รักษาการแทนผู้อำนวยการ ขสมก. ยืนยันความพร้อมระบบ E-Ticket บนรถโดยสารธรรมดาของ ขสมก.จำนวน 800 คัน สำหรับการเริ่มต้นให้บริการในวันที่ 1 ตุลาคมนี้ โดยได้ทยอยติดตั้งเครื่องอ่านบัตร E-Ticket บนรถโดยสารธรรมดาแล้ว 200 คัน และจะทยอยติดตั้งให้ครบ 800 คัน ซึ่งระหว่างการติดตั้ง จะนำระบบ Mobile E-Ticket มาใช้แสกนบัตรโดยสารไปก่อน เพื่อให้สามารถรองรับการใช้งานของประชาชนที่ถือบัตรสวัสดิการของรัฐ ซึ่งจะยังต้องมีพนักงานประจำรถเพื่อให้คำแนะนำการใช้งานต่อไปในช่วง 2 ปีแรก ขณะที่ตัวรถจะมีสติ๊กเกอร์สีเขียว ที่ระบุชัดเจนว่า “รถคันนี้ใช้ระบบเก็บเงินอัตโนมัติ” แทนที่ข้อความ “รถเมล์ฟรีภาษีจากประชาชน” ที่กระจกทั้งด้านหน้า ด้านข้างและด้านหลังรถโดยสาร โดยขสมก.ยืนยันความพร้อมในระบบและตัวรถ แม้ว่าจะมีการปรับเลื่อนเวลาการรับบัตรสวัสดิการของรัฐในส่วนของผู้มีรายได้น้อยในพื้นที่กรุงเทพฯ และ ปริมณฑล จะเลื่อนไปเป็นวันที่ 17 ตุลาคมก็ตาม
สำหรับกำหนดการติดตั้งเครื่องอ่านบัตร E-Ticket จะแล้วเสร็จ 800 คันแรก ภายใน 15 พ.ย. นี้ และ ธ.ค.นี้ จะติดตั้งได้ 1,500 คัน และจะครบจำนวน 2,600 คันภายในมิ.ย.61 ทั้งนี้ในอนาคต ขสมก. มีแผนจะจัดทำบัตรโดยสารอิเล็คทรอนิคส์ (E-Ticket) เองประมาณ 500,000 ใบ ซึ่งต้องศึกษาความเหมาะสมอีกระยะ
ขณะที่กรมบัญชีกลาง แจ้งว่า เนื่องจากผู้มีสิทธิที่ลงทะเบียนใน 7 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร จังหวัดนนทบุรี จังหวัดปทุมธานี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดสมุทรปราการ จังหวัดนครปฐม และจังหวัดสมุทรสาคร จำนวนประมาณ 1.3 ล้านคน ซึ่งจะได้รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (แบบ Hybrid 2 Chips/บัตรแมงมุม) เพื่อใช้ชำระค่าสินค้าและค่าโดยสารตามรายการและวงเงินที่กำหนดแต่การชำระค่าโดยสารรถ ขสมก./รถไฟฟ้า ต้องเป็นไปตามมาตรฐานกลางระบบตั๋วร่วม (แมงมุม) ของสำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ทำให้ต้องเพิ่มขั้นตอนการผลิตบัตรดังกล่าว และต้องควบคุมคุณภาพการผลิตให้ได้ตามมาตรฐานที่กำหนด กล่าวคือ ต้องบันทึกข้อมูลสำคัญลงใน chip ของบัตร ทีละใบ ก่อนนำไปทดสอบกับเครื่องอ่านบัตร (e-Ticket) ที่จะติดตั้งบนรถโดยสาร ขสมก. จึงทำให้ต้องใช้ระยะเวลา ในการดำเนินการค่อนข้างมากรวมทั้งมีข้อจำกัดทางเทคนิคทำให้ไม่สามารถเพิ่มกำลังการผลิตบัตรทั้งหมดให้แล้วเสร็จทันการใช้งานในวันที่ 1 ตุลาคม 2560 ได้ อย่างไรก็ดี ขณะนี้สามารถผลิตบัตรและทยอยจัดส่งให้หน่วยงานรับลงทะเบียนไปบางส่วนแล้ว
ดังนั้น เพื่อให้การผลิต การจัดส่ง และการแจกจ่ายบัตรสวัสดิการแห่งรัฐของทั้ง 7 จังหวัด เป็นไปด้วยความเรียบร้อย จึงเห็นสมควรให้หน่วยงานรับลงทะเบียนใน 7 จังหวัดข้างต้น นำบัตรสวัสดิการแห่งรัฐออกแจกจ่ายให้ผู้มีสิทธิพร้อมกัน ตั้งแต่วันที่ 17 ตุลาคม 2560 เป็นต้นไป และเพื่อเป็นการลดผลกระทบอันเนื่องมาจากขั้นตอนการผลิตบัตรที่ทำให้ผู้มีสิทธิได้รับบัตรภายหลังวันที่ 1 ตุลาคม 2560 กรมบัญชีกลางจะยกยอดวงเงินแต่ละประเภทสวัสดิการที่คงเหลือจากการใช้จ่ายในเดือนตุลาคม 2560 ให้ไปใช้ต่อได้ในเดือนพฤศจิกายน 2560 เพื่อชดเชยเวลาให้ผู้มีสิทธิสามารถใช้วงเงินคงเหลือดังกล่าวได้
กรมบัญชีกลาง กล่าวย้ำว่า บัตรสวัสดิการแห่งรัฐเป็นการให้ความช่วยเหลือประชาชนใน 2 ส่วนคือ ลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน และลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง เพื่อให้ความช่วยเหลือตรงกับกลุ่มเป้าหมาย พร้อมทั้ง สามารถติดตามประเมินผลการให้สวัสดิการแต่ละประเภทมาปรับปรุงให้มีความเหมาะสม สอดคล้องกับความต้องการในแต่ละพื้นที่ และรัฐบาลพร้อมที่จะดูแลผู้มีสิทธิทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน