ลีลาชีวิต / ทวี สุรฤทธิกุล อาชีพ “นกน้อยในไร่ส้ม” คือจุดหมายที่ใฝ่ฝันของหนุ่มสาวยุคมิลเลนเนียม สุณิศาที่ใคร ๆ เรียกกันว่า “น้องนิ” เข้าเรียนปริญญาโทที่คณะนิเทศศาสตร์ในมหาวิทยาลัยที่ผมทำงาน ในปีที่ผมเพิ่งจะเริ่มทำงานเป็นปีแรก ที่หากนับเป็นคริสตศักราชก็จะเป็น ค.ศ. 1987 แต่กว่าจะมาได้เจอกันก็ตอนที่ผมต้องประสานงานกับสื่อมวลชน อย่างที่เรียกว่า “แจกข่าว” ใน พ.ศ. 2542 ที่กำลังจะมีการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารของมหาวิทยาลัย และผมเป็นคนหนึ่งในกลุ่มที่นำในการเรียกร้องครั้งนั้น ปีต่อมา พ.ศ. 2543 มีความวุ่นวายไปทั่วโลก เพราะคนตื่นกลัวเรื่องการเปลี่ยนสหัสวรรษ ที่ได้เข้าสู่ ค.ศ. 2000 ที่เรียกว่า “มิลเลนเนียม” แต่ก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น (โดยเฉพาะกับระบบคอมพิวเตอร์ที่หลาย ๆ คนกลัวว่า “นาฬิกาดิจิทัล” จะทำงานผิดพลาด เพราะระบบการนับเวลาแบบดิจิตอลได้ถูกตั้งไว้บนฐานตัวเลขถึง ค.ศ. 1999 แต่ปรากฏว่าคอมพิวเตอร์สามารถปรับแก้ได้อย่างอัตโนมัติ) ผู้คนที่เติบโตมาในยุคนั้นจึงเรียกกันว่าเป็น “คนยุคมิลเลนเนียม” ไปด้วย แต่กระนั้นการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ก็เกิดขึ้นตามมา เพราะสิ่งที่เป็นอะนาล็อกที่ต้องเปลี่ยนมาเป็นดิจิทัล ได้ทำให้เกิดการ “พลิกโฉม” ที่ฝรั่งเรียกว่า Disruption คือเปลี่ยนแปลงโลกนี้อย่างหน้ามือเป็นหลังมือ ที่รวมถึงโลกของการสื่อสาร ที่มาสู่ยุค “นิวมีเดีย” คือโซเชียลมีเดียทั้งหลาย ได้เข้ามาแทนที่ “โอลด์มีเดีย” ที่ก็ได้แก่ วิทยุ โทรทัศน์ และสิ่งพิมพ์ ในสมัยที่ผ่านมานั่นเอง สุณิศาก็เหมือนกับหนุ่มสาวในยุคนั้น ที่ปัจจุบันจัดว่าเป็นคนในเจเนนเรชั่นเอ็กซ์ ที่ตำราฝรั่งเรียกว่า พวก Baby Bust คือในยุคที่เด็กถูกคุมกำเนิด ตั้งแต่ยุค 1970 เป็นต้น ตรงกันข้ามกับพวก Baby Boom ในยุคก่อนหน้านี้ ที่เกิดมาหลังสงครามโลกซึ่ง “ปล่อยตัว ปล่อยใจ” กันเต็มที่ ผู้คนที่เติบโตมาในยุคของสุณิศา จึงถูกจำกัดกรอบหรือเป็นที่คาดหวังของพ่อแม่เป็นอย่างมาก การวางแผนชีวิตต้องอยู่ในการกำกับของพ่อแม่ เด็กในเจเนเรชั่นนี้จึงแสวงหาความเป็นอิสระและมีความคิดฝันที่เป็นเสรี ครั้นได้โอกาสเช่นเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย ก็ใช้ชีวิตอย่างเป็นตัวของตัวเองอย่างเต็มที่ หรือบางคนก็ใช้โอกาสที่บรรลุนิติภาวะแล้วทำอะไรตามที่ฝันไว้ อย่างในกรณีของสุณิศาก็เช่นเดียวกัน สุณิศาเกิดในครอบครัวที่มีฐานะปานกลาง พ่อแม่เป็นข้าราชการที่เคร่งครัดระเบียบวินัย ครอบครัวของสุณิศาย้ายไปตามจังหวัดต่าง ๆ ตามที่คุณพ่อเป็นข้าราชการกระทรวงมหาดไทย ส่วนคุณแม่ก็เป็นครู จึงสามารถโยกย้ายติดตามสามีไปได้อย่างสะดวก แต่สุณิศาและน้องชายอีกคนหนึ่งจะรู้สึกอึดอัดมาก เมื่อเวลาที่ต้องย้ายที่อยู่ไปในที่ใหม่ ๆ แต่ก็สามารถปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว ที่อาจจะเป็นเพราะความจำเป็นที่จะต้องทำตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ ๆ นั้นให้ได้ เพื่อให้มีความรู้สึกที่ดีและสามารถดำเนินชีวิตได้เป็นปกติ ตอนที่สุณิศาเข้าเรียนมหาวิทยาลัย ครอบครัวย้ายไปอยู่ทางภาคเหนือ จึงไปสอบเอนทรานซ์เข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และเลือกเรียนรัฐศาสตร์ตามที่คุณพ่อคุณแม่ชี้แนะ ครั้นจบมาแล้วก็พยายามไปสอบเข้ารับราชการ ระหว่างที่รอผลสอบก็ไปช่วยเพื่อนทำหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น จึงนึกชอบอาชีพสื่อมวลชน จนได้มาสมัครเรียนคณะนิเทศศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เพื่อให้มีคุณวุฒิทางด้านนี้ และระหว่างเรียนก็ได้ทำงานที่สื่อยักษ์ใหญ่ฉบับหนึ่ง ครั้นจบปริญญาตรีแล้วก็เรียนต่อปริญญาโท เพราะเป็นการเรียนในระบบทางไกล อย่างสโลแกนของมหาวิทยาลัยที่ว่า “อยู่ที่ไหน เวลาใด ก็เรียนได้” แม้จะใช้เวลานานสักหน่อย แต่ในระหว่างที่ทำวิทยานิพนธ์นั้นก็ได้เพิ่มพูนความเชี่ยวชาญในการเขียนข่าวเชิงสอบสวน ที่ทำให้สุณิศามีผลงานออกพิมพ์และทำรายได้ดีพอสมควร สร้างความภูมิใจให้กับสุณิศามาก แม้พ่อแม่จะไม่อยากให้ทำอาชีพนี้ แต่เมื่อเห็นว่าเป็นอาชีพที่เลี้ยงตัวได้และลูกชื่นชอบ ก็ต้องชื่นชมและให้กำลังใจต่อไป สุณิศาไม่ใช่คนขี้เหร่ จึงมีทั้งชายหนุ่มและ “สาวหนุ่ม” มาก้อร่อก้อติกพอสมควร แต่ด้วยสโลแกนประจำตัวที่ว่า “สวยเลือกได้” จึงครองความเป็นโสดตลอดมา และทำให้ชีวิตงานหาข่าวมีความคล่องตัว รวมถึงเพิ่มพลังความห้าวความกล้าหาญ เพราะต้องพึ่งตัวเองให้มาก และต้องระมัดระวังผู้คนที่อาจจะมาเป็นศัตรูจากการทำข่าว “เจาะลึก” ทั้งหลายนั้น อย่างในตอนที่มาทำข่าวในมหาวิทยาลัยของผม ผมก็ได้เตือนให้ “น้องนิ” ระมัดระวังตัว แต่น้องนิกลับตอบกลับด้วยคำคมว่า “ความเป็นนักข่าวนี้แหละคือเกราะป้องกันไม่ให้คนชั่ว ๆ เข้าใกล้” น้องนิมีวิธิการหาข่าวและเขียนข่าวไม่เหมือนใคร ตอนแรก ๆ น้องนิก็ไม่ได้สนใจที่จะทำข่าวการขับไล่ผู้บริหารของมหาวิทยาลัยแต่อย่างใด แต่ทางหัวหน้าเห็นว่าไหน ๆ ก็ไปเรียนที่มหาวิทยาลัยนั้นแล้ว ก็ช่วยทำข่าวนั้นไปด้วย จะได้ไปเจอครูบาอาจารย์ เวลาที่มีปัญหาเรื่องวิทยานิพนธ์ก็จะได้ไปขอคำปรึกษา และก็จะทำให้จบได้เร็ว ดูไปแล้วก็เป็นด้วยความหวังดีทั้งสิ้น น้องนิจึงต้องทำข่าวของมหาวิทยาลัย ทั้งที่ไม่ใช่แนวที่ชอบและข่าวที่ทำอยู่ก็ล้วนแต่เป็นข่าวเกี่ยวกับการเมืองและการบริหารบ้านเมือง ซึ่งมีเรื่องน่าตื่นเต้นและมีเรื่องราวมากกว่าข่าวด้านการศึกษานี้เป็นอย่างมาก ดังนั้นน้องนิจึงต้องหาวิธีในการที่จะเขียนข่าวและนำเสนอข่าวให้น่าสนใจ ซึ่งผมต้องทึ่งใน “นวัตกรรม” และความสามารถของน้องนิอยู่บ่อยครั้ง น้องนิโทรศัพท์หาผมในวันหนึ่ง (ตอนนั้นเพิ่งจะมีโทรศัพท์มือถือใช้กันแพร่หลาย แต่ก็ยังเป็นแค่โทรเข้าโทรออกและส่งข้อความสั้น ๆ ส่วนใหญ่ยังเป็นขาวดำ และยังไม่สามารถส่งรูปหรือคลิปได้อย่างในทุกวันนี้) บอกว่าขอถามประเด็นข่าวสัก 2 - 3 เรื่อง ผมก็ยินดี น้องนิถามคำถามแรกว่า “ทำไมถึงจงเกลียดจงชังผู้บริหารคนนี้มากนัก เห็นว่าการขับไล่ครั้งนี้เป็นครั้งที่สองแล้วไม่ใช่หรือ” (พวกผมเคยเรียกร้องให้ผู้บริหารคนนี้ออกไปมาแล้วครั้งหนึ่งใน พ.ศ. 2538) พอผมจะอธิบายถึงข้อบกพร่องที่ต่อเนื่องกันมาหลายปีของผู้บริหารคนนี้ น้องนิก็บอกว่าไม่ต้องอธิบายเพราะเธอได้ค้นคว้าข่าวเก่า ๆ มาบ้างแล้ว แต่อยากรู้แค่ว่า “จะตามล้างตามล่ากันไปถึงไหน” ซึ่งผมมาทราบทีหลังว่าเป็นการ “ยั่วยุ” ให้ผมมีอารมณ์เดือดพล่าน แล้วเผลอเล่าความที่เป็นแผนการในการที่จะขับไล่ผู้บริหารคนนี้ ว่าจะทำอะไรต่อไปอีกอย่างละเอียด จนเมื่อได้อ่านสกู๊ปข่าวนี้ในอีก 2 - 3 วันต่อมา จึงได้รู้ว่าผมได้พลั้งปากเล่าเรื่องที่เป็น “ความลับ” ต่าง ๆ ออกไปมากมาย อย่างที่สื่อฉบับอื่น ๆ ไม่ได้เสนอข่าวในแนวนั้น และไม่ใช่ด้วยวิธีการที่ “ลึกล้ำ” อย่างนั้น ผมได้เจอน้องนิในอีกหลาย ๆ โอกาสต่อมา เพราะผมได้เข้าไปยุงเกี่ยวกับการเมืองภายนอกอยู่หลายครั้ง และน้องนิก็ได้ใช้ผมเป็น “แหล่งข่าว” อยู่หลายเรื่อง แต่ผมก็ไม่เคยเอาชนะ “เล่ห์เหลี่ยม” ของน้องนิได้ เพราะต้องพลาดเผลอให้ข่าวบางข่าวไปโดยไม่ได้ระมัดระวัง แต่ก็เป็นความพลาดเผลอที่เต็มใจ เนื่องจากได้สมประโยชน์ด้วยกันและกัน น้องนิได้ข่าวเชิงลึก ผมก็ได้ความสุขที่ได้แฉความจริงนั้น ๆ ออกไปให้โลกได้รู้