กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สนับสนุนจัดกิจกรรมเล่นเพลงอยุธยาที่หน้าวัดพระราม วันที่ 12 กุมภาพันธ์นี้ อนุรักษ์ดนตรีพื้นบ้านสมัยอยุธยาและพัฒนาให้คงอยู่ในบริบทที่สอดคล้องการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ผ่านการบันทึกเสียงและบันทึกเป็นโน้ตสากล เรียบเรียงใหม่และบรรเลงโดยวงไทยซิมโฟนีออร์เคสตรา จัดแสดงให้เข้าชมในจำนวนที่นั่งตามข้อกำหนดการป้องกันโควิด-19 ของ จ.พระนครศรีอยุธยา พร้อมบันทึกภาพและเสียงถ่ายทอดผ่านสื่อออนไลน์และโทรทัศน์
เมื่อวันที่ 10 ก.พ. ศ.พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานแถลงข่าวการจัดกิจกรรม “เสียงอดีตสร้างจินตนาการภาพโบราณ เล่นเพลงอยุธยาที่หน้าวัดพระราม” วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2564 ณ โถงกิจกรรม ชั้น 1 อาคารสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) พร้อมทั้งร่วมการเสวนาการสร้างจินตนาการเพลงพื้นบ้าน การขยายผลต่อยอดนวัตกรรมเพลงพื้นบ้านเพื่อเผยแพร่ให้เป็นมรดกของชาติ กับ รศ.ดร.สุกรี เจริญสุข ประธานมูลนิธิอาจารย์สุลกรี เจริญสุข
กิจกรรม “เสียงอดีตสร้างจินตนาการภาพโบราณ เล่นเพลงอยุธยาที่หน้าวัดพระราม” จะจัดขึ้นในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2564 เวลา 16.30–18.00 น. หน้าวัดพระราม จ.พระนครศรีอยุธยา โดยความร่วมมือระหว่าง สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) อุทยานประวัติศาสตร์ พระนครศรีอยุธยา กรมศิลปากร และสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดพระนครศรีอยุธยา รูปแบบกิจกรรมเป็นการจัดแสดงดนตรี “เพลงสมัยอยุธยา” โดยวงไทยซิมโฟนีออร์เคสตรา ควบคุมและเรียบเรียงเพลงโดย พันเอกประทีป สุพรรณโรจน์ ซึ่งฉากหลังเป็นวัดพระรามจะทำให้ผู้ฟังเสียงเพลงสัมผัสมิติของความเคลื่อนไหวและมีชีวิต พลังของเพลงจะสร้างมโนภาพให้เกิดขึ้น เพื่อมองย้อนกลับไปในบรรยากาศโบราณ “วัดพระราม” และจินตนการภาพของกรุงศรีอยุธยาให้กลับมามีชีวิตอีกครั้งตามเสียงที่ได้ยิน
ดนตรีพื้นบ้านซึ่งเป็นบทเพลงสมัยอยุธยาได้รับการคัดเลือกมาเรียบเรียงใหม่ พร้อมทั้งบันทึกเสียงและบันทึกเป็นโน้ตสากล ส่วนเครื่องดนตรีสากลที่ใช้ในการบรรเลงครั้งนี้ ประกอบด้วย ไวโอลินหนึ่ง ไวโอลินสอง วิโอลา เชลโล ดับเบิลเบส เครื่องเป่า ฟลุต โอโบ คลาริเน็ต บาสซูน ฮอร์น ทรัมเป็ต ทรอมโบน ยูโฟเนียม ทูบา และเครื่องประกอบจังหวะ และแบ่งการแสดงเป็น 6 ชุดการแสดง ได้แก่ 1.การแสดงชุดเพลงตับโบราณ 2.การแสดงชุดกลุ่มเพลงฝรั่ง ขับร้องเพลงสุดใจและเพลงสายสมร โดยนางสาวกมลพร หุ่นเจริญ 3.การแสดงชุดเพลงโยสลัมและเครือญาติ 4.การแสดงชุดเพลงแขกเปอร์เซีย 5.การแสดงเพลงค้างคาวกินกล้วย เดี่ยวขลุ่ย โดยอาจารย์ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี และ 6.การแสดงชุดจีนแจ๋ไจ้ยอ เดี่ยวขิม โดยครูนิธิ ศรีสว่าง
สำหรับดนตรีพื้นบ้านถือเป็นอัตลักษณ์ที่สะท้อนวิถีชีวิต ความเป็นอยู่และความเป็นไปของสังคม สามารถบ่งบอกร่องรอยประวัติศาสตร์ของชุมชน สถาปัตยกรรม วรรณคดี ความเชื่อและประเพณีของชุมชน ผ่านเสียงดนตรีพื้นบ้าน เนื้อเพลงที่ขับร้อง สื่อผ่านภาษาพูด สำเนียงพูด ประเพณีและพิธีกรรมของชุมชน ทว่าดนตรีพื้นบ้านที่ถือเป็นมรดกทางวัฒนธรรมกำลังจะถูกลืมเลือนหายไปจากชุมชนตามกาลเวลาที่เปลี่ยนแปลงเนื่องจากวัฒนธรรมดนตรีพื้นบ้านไม่สามารถสร้างรายได้ และไม่ตอบสนองพฤติกรรมด้านความเป็นอยู่หรืออาชีพในระบบทุนนิยม
ดังนั้น วช. จึงได้สนับสนุนการวิจัยภายใต้ “โครงการวิจัยพื้นที่ทางวัฒนธรรมดนตรีเพื่อพัฒนาและสร้างสรรค์จินตนาการใหม่โดยอาศัยร่องรอยวิถีชีวิตของชุมชนผ่านศิลปินในท้องถิ่นผู้สืบทอดวัฒนธรรมดนตรีของชุมชน” และ “โครงการขยายผลต่อยอดนวัตธรรมเพลงพื้นบ้านเพื่อเผยแพร่ให้เป็นมรดกชาติ” แก่ “มูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข” ซึ่งดำเนินการโดย รศ.ดร.สุกรี เจริญสุข เพื่อเป็นการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม และกระตุ้นให้เกิดการเสริมสร้างสิ่งใหม่บรากฐานสิ่งเก่า เพื่อรักษาเสถียรภาพและอัตลักษณ์ของสังคมไทยให้สืบทอดและคงอยู่ต่อไป
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ภายใต้สังกัดกระทรวง อว. ซึ่งมีภารกิจในการบริหารทุนวิจัยและนวัตกรรม ครอบคลุมการวิจัยพื้นฐาน วิจัยประยุกต์ ทั้งวิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ รวมทั้งสหสาขาวิชาการ ได้เล็งเห็นคุณค่าทางวัฒนธรรมท้องถิ่น ซึ่งเป็นมรดกทางภาษาและวัฒนธรรมไทยที่มีคุณค่า และมีความสำคัญต่อคนไทย มีความเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของคนไทยในทุกท้องถิ่น จึงได้สนับสนุนทุนอุดหนุนกิจกรรมส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยแก่มูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข เพื่อขยายผลต่อยอดนวัตกรรมเพลงพื้นบ้าน โดยนำบทเพลงดั้งเดิมที่เรียบเรียงเสียงประสานใหม่มาบรรเลงโดยวงไทยซิมโฟนีออร์เคสตราร่วมกับกลุ่มนักดนตรีท้องถิ่น ซึ่งจะนำไปใช้เป็นเพลงต้นแบบสู่สากล และเป็นการอนุรักษ์ ฟื้นฟู สืบสานศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นและภูมิปัญญาเพลงพื้นบ้านอันเป็นอัตลักษณ์เฉพาะตัวให้ดำรงอยู่สืบไป
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสสายพันธ์ใหม่ 2019 หรือโควิด-19 (COVID-19) จึงจัดแสดงให้เข้าชมในจำนวนที่นั่งตามข้อกำหนดการป้องกันโควิด-19 ของ จ.พระนครศรีอยุธยา และการแสดงครั้งนี้จะใช้วิธีถ่ายทำโดยบันทึกภาพและเสียงเพื่อเผยแพร่ผ่านสื่อออนไลน์และสื่อโทรทัศน์ อีกทั้งยังเป็นการทดลองเพื่อหาทางออกและการปรับตัวใหม่ เพื่อให้นักดนตรีที่มีฝีมือได้ทำงาน ได้สร้างงาน และสามารถอยู่ในอาชีพดนตรีและมีรายได้ หลังจากนักดนตรีไม่มีงานทำเพราะพื้นที่ทำมาหากิน เช่น ร้านอาหาร สถานบันเทิง โรงแรม งานเทศกาล กิจกรรมรื่นเริง งานเฉลิมฉลอง งานวิชาการต่างๆ งดจัดงาน