อ่านเขียนคล่อง-เรียนรู้ตลอดชีวิต ด้านสภาการศึกษา จ่อลงติดตามการจัดการศึกษาในพื้นที่ เป็นไปตามกรอบแผนการศึกษาฯ หรือไม่
ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงบประมาณ ได้จัดประชุมการจัดทำงบฯ รายจ่าย ประจำปีงบประมาณ 2562 ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ซึ่งเน้นย้ำให้แต่ละหน่วยงานจัดทำงบฯ ปี 2562 โดยยึดการทำงานตามกรอบยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) เป็นหลัก ซึ่งส่วนที่เกี่ยวข้องกับ ศธ.จะอยู่ในยุทธศาสตร์ที่ 3 คือ ยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพคน ดังนี้ แผนบูรณา การพัฒนาศักยภาพคนตลอดช่วงชีวิต เพื่อให้คนไทยทุกช่วงวัยได้รับการพัฒนาศักยภาพ โดยเฉพาะการส่งเสริมการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด/ปฐมวัย ให้เหมาะสมกับพัฒนาการ เพิ่มคุณภาพมาตรฐานและความปลอดภัยในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ส่งเสริมเด็กวัยเรียนกลุ่มเสี่ยงให้จบการศึกษาภาคบังคับ มีโอกาสศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น ป้องกันความรุนแรง ส่งเสริมให้มีทักษะชีวิต ทักษะงาน การคิดวิเคราะห์เป็น รวมถึงทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 ด้วย โดยเฉพาะด้านภาษา ทั้งภาษาอังกฤษ และภาษาประเทศคู่ค้า เช่น อาหรับ รัสเซีย ประเทศในแถบสแกนดิเนเวีย จีน ญี่ปุ่น เป็นต้น
"นอกจากนี้ นายกฯ ยังเน้นให้ปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอน และกระบวนการเรียนรู้ โดยเฉพาะวิชาภาษาไทย ซึ่งที่ผ่านมาพบเด็กจำนวนมากที่จบการศึกษาแล้ว มีปัญหาการอ่านออก-เขียนได้ จึงย้ำว่า ศธ.ต้องให้ความสำคัญเรื่องนี้เป็นพิเศษ โดยให้เปลี่ยนวิธีการสอนง่ายที่สุด เริ่มจากท่องจำก่อนก็ได้ แต่เป้าหมายสำคัญคือ ต้องพูด อ่าน เขียนภาษาไทยได้ถูกต้อง ใช้งานได้จริง โดยสำนักงาน กศน. ต้องเข้ามาช่วยทำให้เกิดความชัดเจน เพื่อให้คนไทยอ่านออกเขียนได้ รวมถึงพัฒนาระบบและมาตรฐานการประเมินคุณภาพการศึกษา ผลิตกำลังคนให้สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศ พัฒนาสื่อและเทคโนโลยีดิจิตอล เพื่อการศึกษาและการเรียนรู้ตลอดชีวิต และขยายโอกาสการเข้าถึงบริการทางการศึกษาและการเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ"
ปลัด ศธ.กล่าวและว่า สำหรับงบฯ ปี 2561 จะเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) วาระ 2 และวาระ 3 ช่วงวันที่ 30-31 ส.ค.60 นี้ จากนั้นทุกส่วนราชการ ต้องทำแผนปฏิบัติการปีงบฯ 2561 ขณะเดียวกันต้องทำแผนปีงบฯ 2562 ต่อทันทีเพื่อให้เกิดความต่อเนื่อง โดยจุดเปลี่ยนในการจัดแผนงบฯ ปี 2562 คือ รัฐบาลได้กำหนดให้จัดทำแผนยุทธศาสตร์ ระดับภาค 6 ภาค คือ ภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ชายแดน โดยต้องมาดูว่าแต่ละภาคมีจุดเด่นอย่างไร ซึ่ง ศธ.จะมอบหมายให้ ศึกษาธิการจังหวัด(ศธจ.) และศึกษาการภาค(ศธภ.) เป็นผู้ประสานงาน เพื่อวางแผนการทำงานตามนโยบายรัฐบาลต่อไป
ด้าน ดร.ชัยยศ อิ่มสุวรรณ์ รองเลขาธิการสภาการศึกษา (กกศ.) รักษาการเลขาธิการ กกศ. กล่าวว่า เมื่อแผนการศึกษาแห่งชาติ (พ.ศ.2560-2579) ได้นำไปขับเคลื่อนแล้ว บทบาทของสภาการศึกษา (สกศ.) ต่อไปคือจะลงติดตามการจัดการศึกษาในพื้นที่ว่าได้ดำเนินการตามกรอบแผนการศึกษาฯ ที่กำหนดไว้ในกฎหมายหรือไม่ หากส่วนไหนยังไม่ดำเนินการและมีปัญหาด้านใด สกศ.จะรายงานมายังต้นสังกัด เพื่อให้ลงไปปรับปรุงพัฒนา แก้ไข เพราะแผนการศึกษาฯ นี้ ต้องนำไปเป็นแนวทางการปฏิบัติในการทำแผนยุทธศาสตร์การศึกษาภาค ยุทธศาสตร์การศึกษาจังหวัด ด้วย