ไทยป่วยโควิด 245 ราย ติดเชื้อในประเทศ 181 ราย ยอดสะสม 10,298 ราย “ศบค.” เผยโรงเบียร์ศรีราชาระบาดแล้ว 32 ราย ย้ำรพ.สนามจำเป็นต้องมี ขออย่าตั้งข้อรังเกียจ “หมอมหิดล” เผยโควิดระลอกใหม่รุนแรงกว่าเดิม ชี้ ผู้มีโรคประจำตัวเสี่ยงติดเชื้อสูง ด้าน“ซูเปอร์โพล” เผยปชช.เชื่อมั่นนายกฯ พาประเทศรอดพ้นโควิด ขณะที่ยอดเหยื่อติดเชื้อไวรัสมรณะทั่วโลกทะลุ 90 ล้านคน
เมื่อวันที่ 10 ม.ค.64 นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาด ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019(โควิด-19) หรือศบค. แถลงว่า วันนี้พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 245 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 18 1 ราย ผู้ติดเชื้อจากการคัดกรองเชิงรุก 43 ราย และผู้เดินทางมาจากต่างประเทศโดยเข้าสถานกักกันโรค21 ราย รวมยอดสะสมผู้ติดเชื้อ 10,298 ราย รักษาหายแล้ว 6,428 ราย และ มีผู้ป่วยอาการหนัก 17 ราย เหลือรักษาอยู่ 3,803 ผู้เสียชีวิตคงที่ 67 ราย ทั้งนี้จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่แบ่งเป็น 1.การติดเชื้อในประเทศ 224 ราย เป็นกลุ่มจากระบบเฝ้าระวัง และบริการ 181 ราย มีประวัติไปสถานที่เสี่ยง หรือสัมผัสผู้ป่วย 74 ราย และอยู่ระหว่างการสอบสวนโรค 107 ราย 2.การค้นหาผู้ติดเชื้อในชุมชน 43 ราย เป็นทั้งแรงงานต่างชาติ และคนไทย ซึ่งพบใน กทม.6 ราย ชลบุรี 10 ราย สมุทรปราการ 4 ราย และสมุทรสาคร 23 ราย
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวต่อว่า ขณะนี้ได้รับรายงานว่ามีสถานบันเทิง ผับ บาร์ ร้านอาหาร อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี มีผู้ติดเชื้อโดยเป็นการระบาดในโรงเบียร์จำนวน 32 ราย และคาดว่าจะแพร่เชื้อไปยังคนใกล้ชิด 9 ราย ซึ่งใน32 ราย ได้มีการไปสำรวจหาผู้ที่มีความเสี่ยงประมาณ 31 ราย ติดตามได้ 29 ราย ซึ่งในจำนวน 29 ราย พบเชื้อ 13 ราย ไม่พบเชื้อ 6 ราย อีก 10 ราย อยู่ระหว่างรอผลตรวจ
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวย้ำว่า เรื่องของโรงพยาบาลสนามมีความจำเป็น อย่างจ.สมุทรสาครที่วันนี้มีรายงานผู้ติดเชื้อ 73 ราย โดย 80 เปอร์เซ็นต์ของผู้ติดเชื้อเป็นวัยแรงงานและไม่มีอาการ หากต้องนอนในเตียงโรงพยาบาล เราจะเอาเตียงที่ไหนมาให้ผู้ป่วยนอน จึงเป็นเหตุผลที่จะต้องมีโรงพยาบาลสนามเช่นเดียวกับที่ จ.ชลบุรีและระยองและขออย่าตั้งข้อรังเกียจกับผู้มีอาการน้อย รวมทั้งขอให้มั่นใจเรื่องของสุขาภิบาล
เมื่อถามว่า ยอดผู้ติดเชื้อในประเทศตอนนี้อยู่ในช่วงลดลงหรือไม่ และการสแกนหาผู้ติดเชื้อ จะมีการจำกัดวงหรือไม่ นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ถ้าจากกราฟยังไม่มีตัวไหนลดลง กราฟรายสัปดาห์ยังขึ้น ตัวเลขรายวัน ตัวเลขใหม่ก็ยังอยู่ที่สองร้อย ขณะที่ตัวเลขผู้ป่วยสะสมก็ยังเพิ่มขึ้น ตัวเลขยังทรงตัว จะขึ้นจะลงก็ลุ้นกันเป็นวันเป็นชั่วโมง ซึ่งเจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุข ก็ไม่ได้อยู่นิ่ง มีการสแกนหาเชื้อเชิงรุก ทำกันอยู่ทุกจังหวัด รวมทั้ง ต้องพยายามเร่ง รัดกวาดหาเชื้อเข้ามา สะเก็ดไฟตกลงมาตรงนี้ต้องรีบดับ และรีบกวาดหาขีดวงรอบ เพื่อจำกัดวง และหาคนเพิ่ม ก็ยังต้องทำกันต่อ และไม่ได้คิดว่าในวันพรุ่งนี้ มะรืนนี้ มันจะจบ มาตรการนี้คนใหม่ที่จะติดต้องให้น้อยที่สุด เราถึงต้องมีการเว้ระยะห่างและลดการเดินทางและใส่หน้ากากและต้องขอใบอนุญาตในการเดินทางข้ามจังหวัด ซึ่งเราอยากเห็นภาพของการลดลง จึงต้องใช้ทุกมาตรการ ถึงจะลดลงได้
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ขอบคุณกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ที่ร่วมขับเคลื่อนการดำเนินงานของ ศบค. ในการบริหารจัดการข้อมูลเกี่ยวกับโควิด-19 ของประเทศ ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในการวิเคราะห์และรายงานการใช้หน้ากากอนามัย เป็นรายพื้นที่แบบทันท่วงที (Real-Time) เป็นผลงานของศาสตราจารย์ ดร. ธนารักษ์ ธีระมั่นคง และ ดร.กอบกฤตย์ วิริยะยุทธกร สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิริธร SIIT มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยการสนับสนุนของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)
ขณะเดียวกัน รายงานข่าวแจ้งว่า นายนิวัฒน์ รุ่งสาคร ผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี ได้ประสานปิดหมู่บ้านหมู่ที่ 3 ตำบลบ้านเบิก อำเภอท่าวุ้ง ชั่วคราว หลังพบผู้ติดเชื้อโควิด-19มากถึง 8 ราย ซึ่งถือว่าเป็นหมู่บ้าน ที่มีการแพร่เชื้อรุนแรงที่สุดของอำเภอ
ส่วน ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า การระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ รุนแรงกว่าและต่างจากรอบแรก ด้วยหลายปัจจัยตั้งแต่จุดเริ่มในที่อโคจร การ กระทำผิดกฎหมายลักลอบเข้าเมือง คนไม่ยอมเปิดเผยตัว สืบสวนต้นตอที่มาของโรคยาก ความรุนแรงของโรคจากการกลายพันธุ์ โดยเฉพาะประชาชนกลุ่มเสี่ยง ที่ปอดทำงานไม่เต็มที่ เมื่อไวรัสเข้าจู่โจมระบบทางเดินหายใจ อาจจะทำลายปอด 10-20% จนปอดไม่พื้นกลับมา ได้แก่ 1.ผู้สูงอายุ เมื่ออายุมากขึ้น อวัยวะต่างๆจะเสื่อมตามกาลเวลา 2. คนที่มีโรคประจำตัวเกี่ยวกับปอด เช่น โรคปอด มะเร็งปอด ถุงลมโป่งพอง แม้ปอดถูกทำลายเล็กน้อย ก็จะส่งผลต่อชีวิตอย่างมาก ร่างกายจะเสื่อมลงอย่างรวดเร็ว 3. คนที่มีน้ำหนักมาก มีไขมันใต้ผิวหนัง หรือใต้ช่องท้องมาก รวมถึงผู้ป่วยเบาหวาน กลุ่มนี้เสี่ยงกับการหายใจที่ยากลำบากกว่าเดิม เพราะกระบังลมเคลื่อนไหวได้ยาก ทำให้ปอดทำงานได้น้อยลง
“งานวิจัย พบเมื่อโควิด เข้าไปในร่างกาย ภูมิคุ้มกันจะทำงานเต็มที่สัปดาห์ที่ 2 หรือวันที่ 8 หลังรับเชื้อ เพื่อยับยั้งหรือช่วยไม่ให้เกิดโรค ถ้าภูมิคุ้มกันปกติ 2-3 สัปดาห์แรก จะทำงานเต็มที่จากนั้นค่อยๆ ลดลง จึงพบมีกลุ่มคนที่ได้รับเชื้อแต่ไม่แสดงอาการ และหายได้เอง หากภูมิคุ้มกับไม่ปกติ เพราะมีโรคประจำตัว ที่ต้องใช้ยารักษาที่ไปกดภูมิคุ้มกันเช่น เบาหวานที่ควบคุมระดับน้ำตาลเองไม่ได้ เป็นโรคหลอดเลือด เม็ดเลือดขาวไม่สามารถจัดการเชื้อโรคได้ คนกลุ่มนี้ เมื่อได้รับเชื้อโควิด จะมีอาการรุนแรง ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง ไม่เพียงปอดถูกทำลาย แต่มีจำนวน ไม่น้อยที่เสียชีวิต เพราะไตวาย เลือดไม่ไปเลี้ยงแขนขา ความรุนแรงของเชื้อ ไปกระทบกับอวัยวะอื่นด้วย ดังนั้น ผู้ที่มีโรคประจำตัวจึงเสี่ยงมากขึ้นไปอีกธรรมชาติของไวรัสทุกชนิดไม่เฉพาะโควิด 19 มันจะปรับตัวหรือที่เรียกว่ากลายพันธุ์อยู่เสมอ อย่างในอังกฤษพบว่า เชื้อโควิด 19 ติดต่อได้ง่ายขึ้น รวดเร็วขึ้น”
ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวต่อว่า ดังนั้นต้องช่วยกันลดปัจจัยเสี่ยง ที่จะกลายเป็นวิกฤติ คือ 1.พบกับบุคคลเสี่ยง 2.อยู่ในพื้นที่เสี่ยง 3.ร่วมกิจกรรมเสี่ยง 4.เข้าไปช่วงเวลาเสี่ยง คนไทยทุกคนต้องร่วมกันจัดการกับ 4 เสี่ยงนี้ เท่าที่จะทำได้ตามปัจจัยและเงื่อนไขชีวิตตนเอง ไม่ต้องรอให้รัฐออกมาตรการ ไม่จำเป็นต้องให้มีการบังคับ นี่คือสิ่งที่เราจะช่วยปกป้องชีวิตของตัวเองและคนที่เรารัก
ขณะที่ นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล เปิดเผยผลการสำรวจเรื่องเที่ยวปลอดภัย อยู่ พ้น โควิด โดยถามถึงความเชื่อมั่นของประชาชนต่อพล.อ.ประยุทธ์ในการถือธงนำใช้ท่องเที่ยวปลอดภัย รอดพ้นโควิด แก้วิกฤตเศรษฐกิจ เพิ่มเงินในกระเป๋า ของประชาชน พบว่า ส่วนใหญ่ หรือ ร้อยละ 87.0 เชื่อมั่น และ ส่วนใหญ่หรือ ร้อยละ 97.4 เห็นด้วย กับวิถีปกติใหม่ (New Normal) เช่น เดินทาง ทำมาหากินได้ ค้าขาย ท่องเที่ยว เข้มงวดปลอดภัย ห่างไกลโควิด ดีกว่า ล็อกดาวน์ ปิดเมือง เศรษฐกิจตายสนิท ไม่มีจะกิน ทุกข์หนักกว่าโควิด
“ผลโพลนี้ชี้ให้เห็นว่า ประชาชนเชื่อมั่นในตัวนายกฯจะนำพาประเทศชาติพ้นวิกฤติ โควิดและเศรษฐกิจได้ ในการถือธงนำ“ท่องเที่ยวปลอดภัย” สอดคล้องกับการยอมรับ วิถีปกติใหม่ (New Normal)มาใช้ในชีวิตประจำวัน ที่มีการคัดกรองโควิดเข้มงวด”
สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานว่า ผู้แทนรัฐบาลคิวบาและอิหร่าน ลงนามภายหลังจากบรรลุข้อตกลงร่วมกันในการที่จะวิจัยพัฒนาวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19
รายงานข่าวแจ้งว่า คิวบาได้ตกลงการถ่ายโอนเทคโนโลยีพัฒนาวัคซีน และได้สิทธิร่วมทดลองวัคซีนในขั้นที่ 3 หรือเฟส 3 อันเป็นขั้นสุดท้าย ซึ่งต่างตั้งเป้าว่า จะสามารถเริ่มฉีดวัคซีนที่พวกเขาวิจัยพัฒนาขึ้นมาเองภายใน 6 เดือนของปีนี้
รายงานข่าวเปิดเผยว่า อิหร่านได้วิจัยพัฒนาวัคซีนป้องกันไวรัสโควิดฯ แล้ว 1 ขนาน มีชื่อว่า “โซเบรานา 2 (Soberana 2)” ผ่านการทดลองขั้นที่ 2 หรือเฟส 2 มาแล้ว ปัจจุบันอยู่ระหว่างการทดลองเฟส 3 ส่วนทางคิวบา ก็กำลังวิจัยพัฒนาวัคซีนป้องกันไวรัสโควิดฯ โดยพวกเขาเองเช่นกัน ซึ่งมีอยู่ด้วยกันถึง 4 ขนาน
อย่างไรก็ตาม ทั้งสองประเทศได้เผชิญหน้ากับการถูกสหรัฐฯ คว่ำบาตร หรือแซงก์ชันด้านต่างๆ รวมถึงทางการค้า
ทางด้าน คณะกรรมาธิการสุขแห่งชาติจีน หรือเอ็นเอชซี เปิดเผยสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในประเทศ โดยระบุว่า พบผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่ในรอบ 24 ชั่วโมงของช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาจำนวน 69 ราย ซึ่งมากเป็น 2 เท่าจากตัวเลขของเมื่อวันศุกร์สัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งในจำนวนนี้เป็นผู้เดินทางจากต่างประเทศจำนวน 21 ราย ส่วนผู้ติดเชื้อภายในประเทศ หรือการแพร่ระบาดในชุมชนมีจำนวนมากถึง 48 ราย
ทั้งนี้ จากสถานการณ์แพร่ระบาดข้างต้น ส่งผลให้ทางการจีนเตรียมออกมาตรการเข้มงวด เช่น ตรวจหาเชื้อแก่ประชาชนเพิ่มมากขึ้น การคุมเข้มพวกลักลอบเข้าเมือง และการจำกัดการรวมกลุ่มของประชาชน เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดที่อาจจะเพิ่มสูงขึ้นก่อนถึงเทศกาลตรุษจีน ซึ่งประชาชนมีการเดินทาง และรวมตัวกันเป็นจำนวนมาก
สำหรับ สถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิดฯ ในจีน พบผู้ป่วยติดเชื้อจำนวนสะสมอยู่ที่ 87,433 ราย มากเป็นอันดับที่ 82 ของโลก แต่อย่างไรก็ตาม บรรดาผู้เชี่ยวชาญคาดว่า ตัวเลขที่แท้จริงน่าจะสูงกว่าที่ทางการจีนรายงานจจำนวนหลายเท่า ส่วนผู้ป่วยที่เสียชีวิตมีจำนวน 4,634 ราย
ขณะที่ สถานการณ์เชื้อไวรัสโควิด-19 ยังคงแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่องในพื้นที่ 218 ประเทศ ส่งผลให้มียอดผู้ป่วยติดเชื้อสะสมเพิ่มขึ้นจำนวน 90,084,907 ราย ผู้ป่วยที่เสียชีวิตมีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็น 1,934,927 ราย และผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาจนหายมีจำนวนสะสม 64,467,156 ราย โดยประเทศสหรัฐอเมริกา มีผู้ป่วยสะสมสูงสุดเป็นอันดับ 1 จำนวน 22,699,938 ราย และมีผู้ป่วยเสียชีวิตสูงสุดเป็นอันดับ 1 จำนวน 381,480 ราย