วันจันทร์ที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2563 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถาบันวิจัยแห่งชาติ(วช.)ภายใต้โครงการพัฒนาระบบบริหารจัดการและจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายในการแก้ไขปัญหาฝุ่นควันใน 9 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ร่วมกับ ศูนย์ภูมิภาคด้านสังคมศาสตร์และการพัฒนาอย่างยั่งยืน (RCSD) คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสภาลมหายใจเชียงใหม่ ได้จัดงานประชุมวิชาการขึ้นในหัวข้อ “ปัญหาฝุ่นควันข้ามแดนและผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ” (Transboundary Impact of Climate Change and Haze Pollution) ดร.ชยันต์ วรรธนะภูติ ผู้อำนวยการศูนย์ภูมิภาคด้านสังคมศาสตร์เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รศ.ดร.ปุ่น เที่ยงบูรณธรรม ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการศึกษาเรื่องเมืองและนโยบายสาธารณะกล่าวถึง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดพื้นที่สาธารณะระหว่างภาควิชาการและภาคประชาชนที่ให้ความตระหนักถึงปัญหาฝุ่นควันซึ่งเป็นปัญหามลพิษทางอากาศและสิ่งแวดล้อม ที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปีและมีแนวโน้มรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ อันมีสาเหตุปัจจัยมาจากกิจกรรมของมนุษย์และการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ปัญหาฝุ่นควันและมลพิษทางอากาศ มีความซับซ้อนและส่งผลกระทบเป็นวงกว้างไม่เพียงแต่ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังมีประเด็นเรื่องของสุขภาพ เศรษฐกิจ สังคม สิทธิขั้นพื้นฐาน และผลกระทบข้ามพรมแดนในภูมิภาค ที่ประชาชนจะต้องให้ความตระหนัก โดยเวทีวิชาการนี้ให้ความสำคัญในประเด็นปัญหาฝุ่นควันที่หลากหลายที่จะเปิดมุมมองของผู้เข้าร่วมให้เห็นถึงสภาพของปัญหาที่มีมิติที่ซับซ้อน ช่วยให้ผู้เข้าร่วมและสาธารณะได้เข้าใจถึงสาเหตุของปัญหาที่แท้จริงในประเด็นที่กว้างขึ้น โดยการจัดงานครั้งนี้จะเป็นเนื้อหาในการบรรยายและแลกเปลี่ยนกับผู้เข้าร่วมเป็น 2 ช่วง เช้าและบ่ายโดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้ในภาคเช้า เป็นการบรรยาย 2 หัวข้อหลักคือ 1)“Climate Change and Haze Resilience in Southeast Myanmar” และ 2) “Transboundary Haze Pollution in Northern Thailand and ASEAN” โดยบรรยายภาคภาษาอังกฤษและมีล่ามแปลเป็นภาษาไทยและเมียนมา ในส่วนของภาบ่าย เป็นการบรรยาย 5 ประเด็นหลักคือ 1) ฝุ่นควันข้ามแดน ปัญหาทางอุตุนิยมวิทยาที่สัมพันธ์ต่อการเกิดปัญหามลพิษทางอากาศในภาคเหนือของไทย, 2) การเปลี่ยนแปลงพื้นที่ปลูกข้าวโพด ร่องรอยพื้นที่เผาไหม้ (burn scar) และจุดความร้อน (hotspot) ในพื้นที่ 3 ประเทศได้แก่ ประเทศไทย เมียนมา และสปป.ลาว, 3) ข้าวโพด ปัญหาการเปลี่ยนแปลงในการใช้ที่ดินของภาคการเกษตรและมลพิษข้ามพรมแดน, 4) มูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจจากปัญหาฝุ่นควัน PM 2.5 ที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม, 5) มลพิษฝุ่นละเอียด PM 2.5 ผลกระทบต่อชีวิตและสุขภาพ, 6) นโยบายสาธารณะและมาตรการการแก้ไขปัญหาฝุ่นควันข้ามแดน และในช่วงท้ายของการจัดประชุม ฯ ครั้งนี้ ได้มีการกล่าวสรุปถึงสถานการณ์และความคืบหน้าของการแก้ไขปัญหาฝุ่นควันในพื้นที่ของจังหวัดเชียงใหม่และภาคเหนือโดยสภาลมหายใจเชียงใหม่ เพื่อเป็นการเน้นย้ำถึงสถานการณ์ของปัญหาฝุ่นควันในปัจจุบันให้ประชาชนและภาครัฐได้ตระหนักและมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาในครั้งนี้อย่างจริงจังต่อไป.