วช. สัมมนาออนไลน์ความสัมพันธ์ทูตไทย-จีน แบ่งปันประสบการณ์และสานความร่วมมืออนาคต ตั้งเป้าหมายสู่การทำวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับทั้งสองประเทศ สนับสนุนการทำวิจัยในประเด็นที่คล้ายคลึงหรือเชื่อมโยงกัน และนำองค์ความรู้ไปจัดทำยุทธศาสตร์หรือนโยบายต่อไป
สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เป็นเจ้าภาพฝ่ายไทยจัดการสัมมนาวิจัยยุทธศาสตร์ไทย-จีน ครั้งที่ 9 ภายใต้หัวข้อเรื่อง “ความสัมพันธ์การทูตไทย–จีน 45 ปี : การแบ่งปันประสบการณ์และความร่วมมือในอนาคต” (45th Year of Thai–Chinese Diplomatic Relation : Sharing Experiences and Future Coorperation) ร่วมกับมหาวิทยาลัยหัวเฉียวแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (Huaqiao University : HQU) ระหว่างวันที่ 8-9 ธันวาคม 2563 ณ ชลพฤกษ์รีสอร์ท อำเภอบ้านนา จังหวัดนครนายก โดยมี นายสมปรารถนา สุขทวี รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ และรองศาสตราจารย์ ดร.โภคิณ พลกุล นายกสมาคมวัฒนธรรมและเศรษฐกิจไทย–จีน กล่าวต้อนรับ และเปิดงานโดย นายสมปอง สงวนบรรพ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และศาสตราจารย์เจิ้ง หลู (Zeng Lu) รองประธานมหาวิทยาลัยหัวเฉียวแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน กล่าวเปิดงาน
การสัมมนายุทธศาสตร์ไทย–จีน จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีตั้งแต่ปี พ.ศ.2555 เพื่อเป็นเวทีให้นักวิชาการไทยและจีนได้พบปะและแลกเปลี่ยนผลงานวิชาการระหว่างกัน โดยสลับกันเป็นเจ้าภาพ แต่ละปีมีการกำหนดหัวข้อหลักและรูปแบบการสัมมนาที่มุ่งเน้นส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยในประเด็นสำคัญหรือประเด็นที่คาดการณ์ในอนาคต โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างองค์ความรู้ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นไทย–จีน รวมทั้งสนับสนุนการวิจัยร่วมกันในประเด็นที่คล้ายคลึงกันหรือเชื่อมโยงกัน และนำองค์ความรู้จากการวิจัยเป็นข้อมูลจัดทำนโยบายหรือยุทธศาสตร์อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป
สำหรับปี พ.ศ.2563 นี้ได้จัดสัมมนาในรูปแบบออนไลน์ เนื่องจากสถานการณ์การแพ่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด–19 ทำให้นักวิจัยฝ่ายจีนไม่สามารถเดินทางมายังประเทศไทยเพื่อเข้าร่วมสัมมนาครั้งนี้ได้ โดยภายในการสัมมนาครั้งนี้ยังมีปาฐกถาพิเศษโดยศาสตราจารย์จวง กั๋วถู (Zhuang Guotu) ประธานสมาคมจีนเพื่อการศึกษาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และนายสมปอง สงวนบรรพ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในหัวข้อเรื่อง “ความสัมพันธ์การทูตไทย–จีน 45 ปี : การแบ่งปันประสบการณ์และความร่วมมือในอนาคต”
นอกจากนี้ยังมีการนำเสนอผลงานทางวิชาการในหัวข้อต่างๆ เช่น มิติวัฒนธรรมกับความสัมพันธ์ในอนาคต การเรียนรู้จากจีนในด้านการขจัดความยากจน การพัฒนาอย่างยั่งยืน รูปแบบการพัฒนาของจีน ผลกระทบของสงครามการค้า (US vs China) : ไทย–จีน จะร่วมกันพัฒนาอย่างไร และพัฒนาการโครงการริเริ่มแถบและเส้นทาง ผ่านชาวจีนโพ้นทะเล