สัปดาห์พระเครื่อง / ราม วัชรประดิษฐ์ หลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า อ.วัดสิงห์ จ.ชัยนาท “เจ้าสำนักทางพุทธาคมอันยิ่งใหญ่แห่งลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา” พระอาจารย์ทางพุทธาคมรูปแรกของเสด็จในกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ วัตถุมงคลของท่านล้วนแต่เป็นที่เคารพศรัทธาและเป็นที่นิยมสะสมทั้งสิ้น สำหรับ เหรียญรูปเหมือนหลวงปู่ศุข รุ่นแรก ปี 2466 นับเป็นเหรียญที่มีค่านิยมสูง ด้วยพุทธลักษณะอันงดงาม พุทธคุณเป็นที่ปรากฏ และยังเป็นเหรียญเพียงรุ่นเดียวที่มีรูปเหมือนของหลวงปู่ศุข เป็นหนึ่งในห้าเหรียญยอดนิยมที่หาดูได้ยากยิ่งในปัจจุบัน พระครูวิมลคุณากร หรือ หลวงปู่ศุข ผู้สร้าง พระครูวิมลคุณากร หรือ หลวงปู่ศุข เป็นชาวชัยนาทโดยกำเนิด เกิดเมื่อปี พ.ศ.2396 แถบวัดปากคลองมะขามเฒ่า เข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์เมื่ออายุครบ 22 ปี ได้รับการถ่ายทอดวิชาความรู้จาก หลวงพ่อเชย จันทสิริ อดีตเจ้าอาวาสวัดโพธิ์ทองล่าง ผู้ทรงคุณทั้งด้านวิปัสสนาธุระและวิทยาคมเข้มขลังนัก ต่อมามารดาชราลงและเจ็บไข้บ่อยๆ หลวงปู่ศุขจึงเดินทางกลับไปจำพรรษาที่วัดอู่ทองปากคลองมะขามเฒ่า แล้วขยับขยายออกมาที่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา และสร้างวัดปากคลองมะขามเฒ่าจนเสร็จสมบูรณ์ เหรียญรูปเหมือนหลวงปู่ศุข รุ่นแรก ปี 2466 หน้า เหรียญรูปเหมือนหลวงปู่ศุข รุ่นแรก ปี 2466 หลัง ท่านเริ่มสร้างวัตถุมงคลเป็นครั้งแรกเพื่อเป็นที่ระลึกในงานฌาปนกิจศพของมารดา เป็น “พระพิมพ์สี่เหลี่ยมซุ้มรัศมี” ผู้ที่ได้รับเหรียญไปบูชา เกิดปาฏิหาริย์ปรากฏด้านอยู่ยงคงกระพันอยู่บ่อยครั้ง โดยเฉพาะเกี่ยวกับเขี้ยวงา อีกทั้งภยันตรายต่างๆ ทำให้ชื่อเสียงและเกียรติคุณโด่งดังขจรไกล หลวงพ่อศุข มรณภาพเมื่อปี พ.ศ.2467 เนื้อหามวลสาร หลวงปู่ศุข มักจะใช้เนื้อตะกั่วเป็นพื้น เพราะการสร้างและหล่อหลอมตลอดจนวัสดุที่นำมาสร้าง หาได้ง่ายและมีอยู่ในท้องถิ่น เหรียญรูปเหมือนหลวงปู่ศุข รุ่นแรก ปี 2466 เหรียญรูปเหมือนหลวงปู่ศุข รุ่นแรก ปี 2466 เหรียญรูปเหมือนหลวงปู่ศุข รุ่นแรก ปี 2466 พุทธลักษณะ ลักษณะเป็นเหรียญปั๊ม รูปไข่กลม ห่วงเชื่อม พิมพ์ด้านหน้า มีเพียงหนึ่งพิมพ์ ขอบเหรียญโดยรอบยกเป็นเส้นลวดนูน 2 ชั้น ชั้นนอกหนา ชั้นในเรียวเล็ก ตรงกลางเป็นรูปจำลองหลวงปู่ศุข นั่งเต็มองค์แบบสะดุ้งกลับ ครองผ้ารัดประคด อยู่เหนืออาสนะลายผ้า รองรับด้วยรูปโบหางแซงแซว ระบุ พ.ศ.ที่สร้างไว้อย่างชัดเจนคือ “๒๔๖๖” ด้านบนโดยรอบมีอักษรภาษาไทยจารึกสมณศักดิ์และชื่อวัดอย่างชัดเจนว่า “พระครูวิมลคุณากร วัดปากคลองมะขามเฒ่า” ด้านข้างของรูปเหมือนทั้งสองข้างมีอักขระขอมตัว “อุขึ้น อุลง” พิมพ์ด้านหลัง โดยรอบยกเป็นเส้นลวดนูน 3 เส้น ระหว่างช่องว่างประดับด้วยเม็ดไข่ปลาลักษณะเป็นตุ่มนูน ตรงกลางทำเป็น “ยันต์ 3” หมายถึง พระไตรสรณคมน์ ล้อมยันต์ด้วยหัวใจธาตุ คือ “นะ มะ อะ อุ” ด้านบนเป็นคาถาพระเจ้า 5 พระองค์คือ “นะ โม พุท ธา ยะ” ส่วนอักขระด้านล่างยันต์ คือ “อายุ วณฺโณ สุขํ พลํ” โดยแบ่งแยกออกเป็น 4 พิมพ์ ได้แก่ 1) พิมพ์หลังไม่มี “อุ” เป็นพิมพ์นิยม หนึ่งในเบญจภาคีเหรียญพระสงฆ์ 2) พิมพ์หลังมี “อุ (เล็ก)” คือ จะมีอักขระขอมตัว “อุ (เล็ก)” แทรกอยู่หน้าตัว “นะ” และหลังตัว “ยะ” 3) พิมพ์หลังมี “อุ (ใหญ่)” เช่นเดียวกับพิมพ์ที่ 2 แต่ตัว “อุ” จะใหญ่กว่า และ 4) พิมพ์หลัง “อุ และมีดาว” พุทธคุณ ครอบจักรวาล โดยเฉพาะแคล้วคลาด คงกระพันชาตรี