โครงการเพชรในตมเป็นโครงการผลิตครูที่เกิดจากความร่วมมือของ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร กระทรวงศึกษาธิการ และคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มีการดำเนินงานพัฒนาเยาวชนที่ มีภูมิลำเนาอยู่ในหมู่บ้านอาสาสมัครพัฒนาและป้องกันตนเอง (อพป.)และนักเรียนที่อยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยทำการคัดเลือก เป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่มีผลการเรียนดี แต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ให้เข้ามาศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา เป็นผู้มีความรู้ความสามารถที่จะกลับไปพัฒนาชุมชนและท้องถิ่นของตนเอง โดยสนับสนุนทุนเรียนฟรีตลอดหลักสูตร 5 ปี ที่คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิชาเอกประถมศึกษา โครงการเพชรในตมรุ่นที่ 1 เริ่มดำเนินการเมื่อปี 2549 จนถึงปัจจุบันเป็นรุ่นที่ 35 จำนวน 45 คนทั่วประเทศ ทางมหาวิทยาลัยมีการจัดเตรียมหอพักไว้ให้พักอาศัยภายในมหาวิทยาลัย สำหรับนิสิตโครงการเพชรในตม ตลอดหลักสูตร และยังมีกิจกรรมพิเศษในการเตรียมความพร้อมเพื่อเป็นครูที่ดี ตามหลักเกณฑ์และวัตถุประสงค์ของโครงการ โครงการเพชรในตมถือว่าเป็นโครงการผลิตครูที่ประสบความสำเร็จและเป็นที่ยอมรับในวงการการศึกษา
นายวุฒิชัย วรชิน ผู้อำนวยการ โรงเรียนเบญจมราชาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ อดีตนิสิตโครงการเพชรในตม ได้กล่าวถึงโครงการว่า “ทราบข่าวโครงการเพชรในตม จากทางครูแนะแนว และเนื่องจากสนใจอยากเป็นครูจึงได้สมัครเข้าโครงการ ผู้ที่สมัครต้องมีคุณสมบัติคือเป็นผู้ที่มีผลการเรียนดี อยู่ในพื้นที่ หมู่บ้านอาสาสมัครพัฒนาและป้องกันตนเอง (อพป.) การเตรียมตัวในการเข้าคัดเลือก ต้องเตรียมตัวอ่านหนังสือเพื่อสอบวิชาพื้นฐานทั่วไป สอบสัมภาษณ์ และสอบวัดแววความเป็นครู ในส่วนตัวชอบอาชีพครูเพราะคิดว่าเป็นอาชีพที่สามารถทำประโยชน์ให้กับผู้อื่น เป็นอาชีพที่มั่นคง ในระหว่างที่เรียน ทางนิสิตโครงการเพชรในตมจะได้เข้าร่วมกิจกรรมพิเศษที่ทางมหาวิทยาลัยจัดขึ้น และจะเป็นแกนในการร่วมกิจกรรมทุกกิจกรรม รวมทั้งกิจกรรมเพื่อสังคม เช่นการออกค่ายจิตอาสา กิจกรรมเหล่านี้ทำให้นักศึกษาได้ฝึกทักษะการเป็นผู้นำ ฝึกทักษะในด้านวิชาการและได้ทดลองนำความรู้ความสามารถไปใช้ปฏิบัติจริง สำหรับตัวเองเมื่อจบการศึกษาก็ได้เข้ารับราชการครูที่บ้านเกิด จ.กาฬสินธุ์ การเป็นครูในชุมชน จะร่วมทำกิจกรรมในชุมชน นำนักเรียนเข้าร่วมกิจกรรมและประเพณีต่างๆที่จัดขึ้นในชุมชน รวมทั้งการให้ความรู้กับชาวบ้านในชุมชน สำหรับเครือข่ายในการทำงานของนิสิตในโครงการเพชรในตม จะมีการติดต่อกัน มาทำกิจกกรมร่วมกันเพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ต่างๆ และนำองค์ความรู้ที่รับกลับไปพัฒนาในท้องถิ่นของตนเอง จัดตั้งสมาคมครูโครงการเพชรในตม เพื่อร่วมกันทำกิจกรรมพัฒนาโรงเรียนที่อยู่ในกลุ่ม เช่นมอบอุปกรณ์การเรียนการสอน อุปกรณ์กีฬาให้กับโรงเรียนที่ จ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นโรงเรียนของเพื่อนครูที่อยู่ในโครงการเพชรในตม มีการแลกเปลี่ยนความรู้ในการพัฒนาโรงเรียน
โครงการนี้เป็นโครงการที่เปิดกว้างให้กับนักเรียนที่เรียนดี แต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ที่มีภูมิลำเนาในพื้นที่หมู่บ้านอาสาสมัครพัฒนาและป้องกันตนเอง (อพป.)และนักเรียนที่อยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้มีโอกาสได้เข้ามาสอบแข่งขันเพื่อเข้าร่วมโครงการ น้องๆที่สนใจเข้าร่วมโครงการต้องมีการเตรียมความพร้อมในอันดับแรกคือต้องตั้งใจเรียน และมีจิตวิญญาณในการเป็นครู มีอุดมการณ์ในการเป็นครู รักในอาชีพครูอย่างแท้จริง มีความรักและหวงแหนชุมชนที่ตนเองอยู่เพราะเมื่อจบการศึกษาจะต้องกลับไปเป็นครูในบ้านเกิด ร่วมพัฒนาบ้านเกิดเป็นอันดับแรก ก่อนที่จะโยกย้ายไปที่อื่นๆ
สุดท้ายขอฝากถึงน้องๆที่อยากเป็นครูทุกคนว่า อาชีพครูต้องอาศัยครูที่เก่ง เพราะครูคือกำลังสำคัญในการช่วยพัฒนาการศึกษาของประเทศ อาชีพครูเป็นอาชีพที่มีค่าตอบแทนไม่มาก การเป็นครูคือการได้ตอบแทนสังคมและประเทศการเป็นครูคือการได้พัฒนาคน
การศึกษาช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตคน ทำให้ประชาชนมีความรู้สามารถประกอบอาชีพหาเลี้ยงตัวเอง และยังสามารถนำความรู้ที่ได้รับมาช่วยพัฒนาและแก้ไขปัญหาในชุมชนตัวอย่างเช่น โครงการ ”โคก หนอง นา อินทรีย์ วิถีพุทธ”ที่ ต.เนินปอ อ.สามง่าม จ.พิจิตร ซึ่งทาง กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน จังหวัดพิจิตร ได้ทำการพัฒนาพื้นที่ บึงที่รกร้าง ในรูปแบบ โคก หนอง นา ในพื้นที่ 1,100 ไร่ เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้งซ้ำซาก ในพื้นที่หนองโสนและเนินปอ
พ.อ.วีรวัฒน์ วิวัฒน์วานิช รอง ผอ.รมน.จังหวัด พ.จ.(ท) กล่าวถึงโครงการว่า “เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศโลก ทำให้การบริหารจัดการน้ำและการทำเกษตรทฤษฏีเก่าเกิดปัญหา เกษตรทฤษฏีเก่าคือการที่รัฐสร้างเขื่อนและระบบชลประทานขึ้นมาเพื่อส่งน้ำให้กับเกษตรกรที่เป็นประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ เกษตรกรใช้พื้นที่ทั้งหมดในการปลูกพืชซึ่งส่วนใหญ่เป็นพืชเชิงเดี่ยว เมื่อฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาลหรือตกในปริมาณที่มากแต่ระยะเวลาสั้นลง ทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วม น้ำหลากในระยะเวลาอันสั้นแล้วหายไป เกิดฝนแล้งในระยะเวลาที่นานขึ้น ในหลวงรัชกาลที่ 9ได้พระราชทานแนวทางการแก้ไขปัญหาคือการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ คือโครงการ โคก หนอง นา หลักการคือนำพื้นที่ของเกษตรกรที่ใช้ปลูกพืชเชิงเดี่ยว มาขุดเป็นหนอง และนำดินที่ได้จากการขุดหนองมาทำเป็นโคกใช้ปลูกไม้ยืนต้นและที่อยู่อาศัย เวลาน้ำท่วมมาต้นไม้ที่อยู่บนโคกก็จะรอด น้ำที่หลากท่วมมาก็จะถูกกักเก็บไว้ในบ่อ ในหนอง ในพื้นที่ของตัวเองทำให้มีน้ำไว้ใช้ในการทำการเกษตร นี่คือ โคก หนอง นา และสำหรับคำว่าอินทรีย์ วิถีพุทธ นั้นทางกอ.รมน.ได้พบปะหารือกับพระเถระผู้ใหญ่ในพื้นที่ ให้นำหลักของวิถีพุทธคือเมตตาธรรม การเดินสายกลางเข้ามาใช้ในการทำการเกษตร การมีเมตตาธรรม คือไม่นำสิ่งที่เป็นอันตรายมอบให้กับผู้บริโภค และรักษาสิ่งแวดล้อม”
“หลักการทำโคก หนอง นา ให้ประสบความสำเร็จ เราต้องทำคู่ไปกับทฤษฎีการทำบันได 9 ขั้น ของในหลวง รัชกาลที่ 9 คือ พออยู่ พอกิน พอใช้ ก่อน หลังการนั้นก็แบ่งปัน และแปรรูปผลิตเพื่อขาย ในพื้นที่ จ.พิจิตรมี 12 อำเภอ และได้มีการจัดทำแบบสอบถามโดยมีผลว่าส่วนใหญ่ประชาชนจะกังวลในเรื่องปัญหายาเสพติด แต่ที่อำเภอสามง่ามจะมีความกังวลเรื่องภัยพิบัติ ปัญหาเรื่องน้ำมากที่สุด และได้มาพบว่าพื้นที่หนองโสนและเนินปอ เป็นพื้นที่ ที่เป็นหลังเต่าเวลาเกิดน้ำท่วมไม่สามารถเก็บกักน้ำได้ และมีหน้าแล้งที่ยาวนาน การทำงานแบ่งเป็น 3 ส่วน ส่วนที่ 1.คือการเชิญหน่วยงานราชการอื่นๆในจังหวัดพิจิตรเข้ามาช่วยในการแก้ปัญหา เช่นชลประทาน งบพัฒนาจังหวัดของทางผู้ว่า ส่วนที่ 2 คือคุยกับหน่วยงานบริหารส่วนท้องถิ่น ให้เข้ามาร่วมโครงการ ช่วยพัฒนาแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการน้ำ โดยมี กอ.รมน.ทำโครงการนำร่องให้ก่อน ในส่วนที่สาม ส่วนสุดท้ายคือประชาชน เกษตรกรในพื้นที่ ให้ปรับแนวความคิดการใช้น้ำจากที่เคยรอน้ำฝนและน้ำทางชลประทานให้หันมาปรับพื้นที่ ให้เป็นแบบการเกษตรทฤษฎีใหม่ โคก หนอง นา โดยทาง กอ.รมน.เข้ามาทำพื้นที่ตัวอย่างเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับเกษตรกร และเปิดรับเกษตรเข้าร่วมโครงการ ทาง กอ.รมน.ได้นำการใช้พลังงานแสงอาทิตย์มาช่วยในการสูบน้ำ พร้อมมอบแท็งก์เก็บน้ำไว้ให้ เพื่อใช้กระจายน้ำบริเวณพื้นที่ รอบๆบึง และได้มีการประสานงานกับ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ หรือ วช.ในเรื่องนวัตกรรมเรื่องการทำปุ๋ยอินทรีย์ พื้นที่นี้คือโมเดลตัวอย่าง สร้างความมั่นใจให้กับเกษตรกรว่า การทำเกษตรทฤษฎีใหม่ไม่ใช่เรื่องยาก สามารถทำได้จริงเป็นทางรอดของเกษตรกรอย่างแท้จริง”
นายพาลี ปิ่นทอง ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 7 บ้านมาบแฟบ ต.เนินปอ อ.สามง่าม จ.พิจิตร ได้กล่าวถึงโครงการว่า “ในครั้งแรกมีการประชุมชาวบ้านในพื้นที่ ประชุมที่วัดโดยมีทางผู้ว่า นายอำเภอ กอ.รมน.จังหวัด เข้ามาเพื่อประชุมในเรื่องรายละเอียดของโครงการว่า โครงการเหมาะกับพื้นที่ไหม เนื่องจากในพื้นที่เนินปอ เป็นพื้นที่หลังเต่า ทางกอ.รมน.ได้เข้ามาช่วยเรื่องการบริหารจัดการน้ำ พื้นที่ขอบบึงเหมาะกับการปลูกพืชอายุสั้นและใช้น้ำน้อย ชาวบ้านที่ไม่มีที่ทำกินของตัวเองได้รวมตัวกันมาทำการปลูกพืชบริเวณพื้นที่ขอบบ่อ เน้นการทำเกษตรอินทรีย์ เมื่อได้ผลผลิตก็นำไปขายสร้างรายได้ให้กับตัวเอง”
โครงการ “โคก หนอง นา อินทรีย์ วิถีพุทธ “ เป็นโครงการที่น้อมนำหลักเศรษฐกิจพอเพียง ผสมผสานกับภูมิปัญญาพื้นบ้านมาปฏิบัติจริง เพื่อแก้ปัญหาน้ำ ป่า คน อย่างยั่งยืน ส่งผลให้ชาวบ้านพึ่งพาตนเองได้ มีน้ำใช้ตลอดทั้งปี และในอนาคต ทางกอ.รมน.จังหวัดพิจิตร ร่วมกับชาวบ้าน ผู้นำ หน่วยงานในท้องถิ่น ทำการขยายผล สร้างคน และสร้างแปลงตัวอย่างเพื่อต่อยอดศาสตร์พระราชา พร้อมเพิ่มธนาคารน้ำใต้ดินเพื่อรองรับปัญหาการขาดแคลนน้ำ สร้างระบบการบริหารจัดการน้ำ เพื่อแก้ไขปัญหาในพื้นที่อย่างยั่งยืน
ปราชญ์ชาวบ้านถือเป็นบุคคลที่มีความสำคัญในการช่วยพัฒนาเติมเต็มความรู้ให้กับเกษตรกรในพื้นที่คุณไสว ศรียา หมอดินอาสา ปราชญ์ชาวบ้าน และผู้เชียวชาญด้านการขยายพันธุ์ไม้ผล นับเป็นบุคคลที่มีความสำคัญกับคนในพื้นที่ จ. นครนายก
คุณไสว ศรียา กล่าวว่า “เริ่มต้นทำนา ส่งลูกเรียน ไม่มีความรู้อะไร ไม่ประสบผลสำเร็จ เป็นหนี้ ธกส.จนมีเจ้าหน้าที่เกษตรตำบล เข้ามาชวนให้ทำสวน และพาไปอบรม ดูโครงการพระราชดำริ ตัวเองก็สนใจเพราะไม่มีความรู้อยากมีความรู้จะได้ประสบความสำเร็จ ในระยะแรก ทางเกษตรตำบลได้นำกิ่งพันธุ์มะม่วงเข้ามาให้ทดลองปลูกในพื้นที่ 1 งาน ใช้ระยะเวลา เพียง 1 ปี สามารถเก็บผลผลิตได้ และสามารถขายกิ่งพันธุ์เพิ่มรายได้อีกด้วย การทำการเกษตรในระยะแรก ก็คิดหาวิธีการทำใหม่ๆ ทำไปเรื่อยๆจนบ้างคนบอกว่า ลุงเกษตรขึ้นสมอง แต่เมื่อได้ผลดีทุกคนก็เข้ามาขอตัวอย่าง มาเรียนรู้ และประสบความสำเร็จ ลุงก็มีความภูมิใจที่สามารถช่วยเหลือคนในชุมชน และยังให้เกษตรกรในชุมชนนำผลผลิตเข้ามาขายนักท่องเที่ยวที่ได้เดินทางเข้ามาเที่ยวที่สวน ศรียา
การทำการเกษตรแบบที่มีความสร้างสรรค์ เช่นการปลูกไม้ผลในขวด ปลูกอ้อยลำเดียว ปลูกมะเขือพวงออกลูกเป็นมะเขือยาว การสร้างสรรค์ในการทำการเกษตรทำให้สวนศรียา กลายเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับเกษตรกรใกล้เคียงที่สนใจและประชาชนทั่วไปได้เข้ามาศึกษาเรียนรู้ การทำแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ พออยู่ พอมี พอกิน ตามแนวทางที่ในหลวง รัชกาลที่ 9 และรัชกาลที่ 10ได้ให้ไว้ ทำให้เกิดความสุข”
ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง สวนศรียา นอกจากเป็นแหล่งเรียนรู้การทำเกษตรในแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงแล้ว ด้วยความแปลกใหม่และความคิดสร้างสรรค์ ทำให้ สวน ศรียา กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรที่มีชื่อเสียงของจังหวัดนครนายกอีกด้วย
ขอขอบคุณข้อมูลจากรายการเดินหน้าปฏิรูป ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง5 ทุกวันพุธและวันพฤหัสบดี เวลา 21.00-22.00 น.