เพจ BIOTHAI โพสต์ภาพและข้อความ ระบุว่า ...
"ข้อความในเฟซบุ๊ก มนัญญา ไทยเศรษฐ์ ซึ่งโพสต์เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2563 คือคำประกาศจุดยืนของเธอเกี่ยวกับการแบนสารเคมีอันตรายร้ายแรง และการตั้งคำถามไปยังนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หลังจากที่เขาสั่งการให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดำเนินการเสนอให้มีการทบทวนการแบนพาราควอต สารพิษที่มียอดขายในประเทศไทยนับหมื่นล้านบาทต่อปี ซึ่งมีบริษัทซินเจนทา บรรษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่เป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์และครอบครองตลาดส่วนใหญ่
ข้อเสนอให้มีการแบนพาราควอต และคลอร์ไพริฟอส เป็นข้อเสนอของกระทรวงสาธารณสุข มาตั้งแต่ปี 2560 สมัย นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร เป็นรัฐมนตรี และถูกผลักดันมาต่อเนื่องจนมาถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขคนปัจจุบัน นายอนุทิน ชาญวีรกูล
ข้อเสนอนี้ได้รับการสนับสนุนจากทั้งแพทยสภา สภาเภสัชกรรม คณะกรรมการปฏิรูปประเทศ 2 คณะ ทั้งด้านสาธารณสุข และทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผู้ตรวจการแผ่นดิน สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ สภาวิจัยแห่งชาติ นักวิชาการด้านสุขภาพ แม้แต่สภาผู้แทนราษฎรก็มีความเห็นเป็นเอกฉันท์ เห็นชอบกับรายงานของ กรรมาธิการวิสามัญของสภาผู้แทนราษฎรที่มีข้อเสนอให้แบน 3 สารพิษ ไม่นับเครือข่ายองค์กรภาคประชาชนและประชาสังคมเป็นจำนวนมากที่ร่วมเคลื่อนไหวผลักดันการแบนสารพิษร้ายแรงดังกล่าวมาตั้งแต่ต้น
บทบาทของนางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ ในฐานะรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่กำกับดูแลกรมวิชาการเกษตร ซึ่งมีหน้าที่โดยตรงเกี่ยวกับสารเคมีกำจัดศัตรูพืช มีบทบาทในการขับเคลื่อนการยกเลิกสารพิษอย่างโดดเด่นมาโดยตลอดนับตั้งแต่รับตำแหน่งทางการเมืองดังกล่าว
โดยเธอและนายอนุทิน ชาญวีรกูล มีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติแบนสารทั้ง 3 ชนิดในเดือนตุลาคม 2562 แต่ต่อมาเมื่อนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ เข้ามาดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการวัตถุอันตราย ได้กลับมติการแบน 3 สาร มาเป็นการแบนเฉพาะพาราควอต และคลอร์ไพริฟอส แต่ไม่แบนไกลโฟเซต ในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2562
เราเชื่อว่าประชาชนส่วนใหญ่จะอยู่ข้างเธอ ดังผลการสำรวจของนิด้าโพลล์ที่ ระบุว่า ประชาชน 75 % สนับสนุนการแบน 3 สารพิษความเสี่ยงสูง ได้แก่พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต หรือแม้แต่โพลล์ที่สุ่มความคิดเห็นของเกษตรกรโดยตรงจากทั่วประเทศอย่างแม่โจ้โพลล์ ก็ระบุว่า เกษตรกร 57% สนับสนุนการแบนสารพิษทั้ง 3 ชนิด แม้พวกเขาบางส่วนซึ่งใช้พาราควอตเป็นผู้จะได้รับผลกระทบจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้นก็ตาม
สิ่งที่นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน ควรจะรีบดำเนินการ คือการหามาตรการและแนวทางสนับสนุนเพื่อให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนจากการใช้สารเคมีอันตรายร้ายแรงไปสู่วิธีการที่ปลอดภัยกว่า ไม่ใช่การฉวยโอกาสเสนอให้มีการยกเลิกการแบน ตอกย้ำความเชื่อของหลายคนว่า เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ผู้นี้ ไม่เห็นด้วยกับการแบนพาราควอตสารพิษร้ายแรงที่ 60 ประเทศทั่วโลกยกเลิกการใช้ไปแล้วมาตั้งแต่ต้น
มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) อนุทิน ชาญวีรกูล Chavalit Vichayasuthi - ชวลิต วิชยสุทธิ์ #มนัญญา ไทยเศรษฐ์"
ขอบคุณข้อมูลและภาพ เพจ-BIOTHAI