ร่วมสมัย / ชะมวง พฤกษาถิ่น
ภาพ : สิริภูมิ ชูวงศ์ตระกูล
"บันทึกไว้ในภาพเขียน จิตรกรรมฉากบังเพลิงรัชกาลที่ 9"
สัปดาห์นี้นำภาพความคืบหน้างานเขียนจิตรกรรมฉากบังเพลิง งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช “ในหลวง รัชกาลที่ 9” มาให้ชมกัน
ที่ขณะนี้กลุ่มจิตรกรรมช่างสิบหมู่ และจิตรกรอาสา ดำเนินการลงสีภาพนารายณ์อวตารปางต่างๆ ของฉากบังเพลิงที่อาคารจิตรกรรมสำนักช่างสิบหมู่ อำเภอศาลายา จังหวัดนครปฐม
กล่าวของฉากบังเพลิงกันสักเล็กน้อย เป็นฉากเครื่องกั้นในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพบนพระเมรุมาศ เพื่อมิให้เห็นการถวายพระเพลิงและใช้บังลม มีลักษณะเป็นฉากพับได้ มี 8 บาน ติดไว้กับเสาพระเมรุมาศทั้ง 4 ด้าน ส่วนภาพที่เขียนบนฉากบังเพลิงล้วนด้วยรูปเทพยดา
สำหรับฉากบังเพลิงงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ “ในหลวง รัชกาลที่ 9” แต่ละด้านมีขนาดกว้างประมาณ 5 เมตร สูงประมาณ 4.50 เมตร เพื่อให้เข้าตามส่วนของโครงสร้างพระเมรุมาศ ฉากจึงมีขนาดใหญ่กว่าฉากบังเพลิงพระเมรุที่ผ่านมา
ภาพจิตรกรรมฉากบังเพลิงในครั้งนี้ คุณมณเฑียร ชูเสือหึง จิตรกรเชี่ยวชาญ และคุณเกียรติศักดิ์ สุวรรณพงศ์ จิตรกรชำนาญการพิเศษ สำนักช่างสิบหมู่ ได้กำหนดเรื่องราวภาพที่เขียนลงบนแต่ละฉากแต่ละทิศแสดงเรื่องราวนารายณ์อวตารปางต่างๆ ฉบับพระราชนิพนธ์รัชกาลที่ 6 รวม 8 ปาง มีกลุ่มเทวดาแสดงความยินดีและรับกลับสู่สรวงสวรรค์ ส่วนด้านล่างของฉาก เขียนภาพเรื่องราวโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ หมวด ดิน น้ำ ลม ไฟ ส่วนด้านหลังของฉาก แสดงเรื่องราวดอกไม้ทิพย์ ดอกไม้มงคล มาเรียงร้อยผูกเป็นลวดลายเพื่อเทิดพระเกียรติและสักการะ ช่องด้านบน ภายในเขียนอักษรพระปรมาภิไธยย่อ ภ.ป.ร.
พลิกกลับมาด้านหน้าของฉากบังเพลิง ภาพเขียนแสดงเรื่องราวนารายณ์อวตารปางต่างๆ ได้รับคำอธิบายจาก เกียรติศักดิ์ สุวรรณพงศ์ ฉากด้านทิศเหนือ เขียนปางมัสยาอวตาร ทรงอวตารเป็นปลากรายทอง ปางที่ 2 กูรมาวตาร ทรงอวตารเป็นเต่า ฉากด้านทิศตะวันออก เป็นปางที่ 3 วราหาวตาร ทรงอวตารเป็นหมูป่า ปางที่ 4 นรสิงหาวตาร ทรงอวตารเป็นนรสิงห์ ฉากด้านทิศใต้ เป็นปางที่ 6 ปรศุรามาวตาร ทรงอวตารเป็นพราหมณ์ปรศุราม ผู้ใช้ขวานเป็นอาวุธ ปางที่ 7 รามาวตาร ทรงอวตารเป็นพระรามในรามเกียรติ์ ฉากด้านทิศตะวันตก เขียนปางที่ 8 กฤษณาวตาร ทรงอวตารเป็นพระกฤษณะ และปางที่ 10 กัลกยาวตาร ทรงอวตารเป็นมนุษย์ขี่ม้าขาว
ภาพจิตรกรรมของแต่ละฉากเวลานี้ พู่กันของจิตรกรกำลังแต่งแต้มสีลงรูปนารายณ์อวตาร ภาพองค์ประกอบต่างๆ ในเฟรม ใช้ความละเมียดและใจเย็นในการตัดเส้นรอบนอกแบบไทยโบราณ ปิดด้วยทองคำเปลว เพื่อให้ชิ้นงานออกมาสมบูรณ์และงดงามตามต้นแบบร่างวางไว้
เกียรติศักดิ์ จิตรกรชำนาญการพิเศษ กล่าวภาพรวมเขียนจิตรกรรมฉากบังเพลิงว่า คืบหน้าไป 65% เก็บรายละเอียดหน้าตาของนารายณ์อวตารไปแล้ว 4 ปาง เหลืออีก 4 ปางด้านทิศเหนือและทิศใต้ ที่จิตรกรกำลังเก็บรายละเอียดและเขียนสีใบหน้าเทพบริวาร ขณะเดียวกันด้านล่างของฉากโครงการพระราชดำริ ลงสีไปพร้อมๆ กัน และได้อธิบายขั้นตอนที่จะนำภาพเขียนไปประกอบเข้ากับฉากบังเพลิงว่า เมื่อขั้นตอนลงสีเสร็จหมดทุกส่วนของฉากแล้ว นำภาพไปลงบนผ้าใบแคนวาส ทำการผนึกภาพของแต่ละฉากทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ลงไม้อัดไปเข้ากับริ้วไม้ของกรอบฉากบังเพลิง เมื่อเข้ากรอบดีแล้วนำไปติดตั้งบนพระเมรุมาศ
“การดำเนินงานเขียนภาพจิตรกรรมลงบนฉากบังเพลิงในคราวนี้ เป็นไปตามแผนงานที่วางไว้แล้วเสร็จช่วงเดือนกันยายน ซึ่งเผื่อเวลาไว้ ที่อาจจะมีการปรับแต่งในรายละเอียด ก่อนที่จะนำไปติดตั้งบนพระเมรุมาศช่วงปลายเดือนกันยาฯ” เกียรติศักดิ์ว่า และเสริมภาพมุมจิตรกรช่างสิบหมู่ จิตรกรอาสา รวมประมาณ 15 คน ที่ไม่ได้จดอยู่กับภาพเขียนเดียว “ถ้าเราไม่สังเกต จะเห็นว่าคนๆ เดียวเขียนภาพนั้น แต่ทุกคนช่วยกันเขียนทุกผนัง ทุกบาน และทุกทิศ เมื่อมองภาพเขียน โทนสี เส้นสี กลมกลืนไปในทางเดียวกัน”
ในขณะที่ คุณชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรี ในฐานะศิษย์เก่าช่างศิลป์ ร่วมลงสีเขียภาพฉากบังเพลิง คุณชวนกล่าวว่า “ได้เข้ามาลงสีเป็นครั้งที่ 8 เขียนภาพเทวดาและนางฟ้า 8 องค์ 1 ใน 4 ของฉากบังเพลิง อยู่ระหว่างลงสีพื้นผ้านุ่งเทวดาและนางฟ้า คาดว่าช่วงปลายเดือนนี้น่าจะลงสีผ้านุ่งแล้วเสร็จ จากนั้นเริ่มลงสีเครื่องประดับมงกุฎของเทวดาและนางฟ้า เข้าสู่งานปิดทองและงานตัดเส้น ที่จะต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญด้านการเขียนกล้ามเนื้อมาให้คำแนะนำ ทั้งนี้ ตนตั้งใจทำเข้ามาดำเนินงานสัปดาห์ละ 2-3 วัน จนกว่างานแล้วเสร็จ”
เกียรติศักดิ์กล่าวความรู้สึกการสร้างสรรค์งานจิตรกรรมฉากบังเพลิงครั้งนี้ว่า
“จิตรกรสำนักช่างสิบหมู่ และน้องๆ จิตรกรอาสาจากสถาบันการศึกษาด้านศิลปะเข้ามาช่วย มีความตั้งใจสร้างสรรค์เป็นพิเศษ ให้เป็นจิตรกรรมร่วมสมัย มีความเป็นปัจจุบัน เพื่อที่สื่องานจิตรกรรมในสมัยรัชกาลที่ 9 ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราว สีสัน ด้วยรูปแบบเพื่อให้เป็นปัจจุบัน แม้แต่ภาพเขียนเทพดูเสมือนจริงทุกคนภูมิใจได้มีส่วนร่วมเขียนจิตรกรรมฉากบังเพลิง ร่วมแรงร่วมใจทำกันอย่างสุดฝีมือ ลงมือกันตั้งแต่ 8 โมงถึง 2 ทุ่มของทุกวัน ทำออกมาให้ดี ให้งดงามที่สุด เพื่อถวายงานพระองค์ท่านครั้งสุดท้าย”
บันทึกไว้ในภาพเขียน จิตรกรรมฉากบังเพลิงรัชกาลที่ 9