จากอิทธิพลพายุซินลากู เมื่อวันที่ 31 ก.ค.-2 ส.ค.63 ที่ผ่านมา ส่งผลให้เกิดฝนตกหนักในพื้นที่ลุ่มน้ำยังทั้งตอนบนและตอนล่าง ทำให้มีน้ำท่าไหลบ่าจากตอนบนของลำน้ำยังลงสู่ตอนล่างเป็นจำนวนมาก
เมื่อวันที่ 16 ส.ค. ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า จากอิทธิพลพายุซินลากู ทำให้มีน้ำบ่าไหลหลากจากตอนบนของลำน้ำยังลงสู่ตอนล่างเป็นจำนวนมาก กรมชลประทาน ได้ดำเนินการตามแผนการป้องกันอุทกภัยลุ่มน้ำยังปี 2563 โดยการทำการเปิดทางน้ำและตัดยอดน้ำหลาก เพื่อช่วยลดระดับน้ำและป้องกันผลกระทบจากน้ำล้นตลิ่งบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำริมลำน้ำยัง สามารถระบายน้ำจากลำน้ำยังได้ประมาณ 2.4 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน ลดระดับน้ำในลำน้ำยังได้ประมาณ 45 เซนติเมตร รวมทั้งได้ผันน้ำส่วนที่เหลือเข้าไปเก็บไว้ที่ห้วยวังหลวง บึงบ่อแก และบึงเกลือ ได้ปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 15 ล้านลูกบาศก์เมตร ทำให้เกษตรกรที่อยู่บริเวณใกล้เคียงพึงพอใจกับการบริหารจัดการน้ำของกรมชลประทาน ที่สามารถป้องกันได้ทั้งปัญหาน้ำท่วมและเก็บกักน้ำไว้ใช้ในยามขาดแคลนควบคู่กันไปด้วย
สำหรับการตัดยอดน้ำตามแผนป้องกันอุทกภัยดังกล่าว นอกจากจะช่วยลดผลกระทบน้ำไหลหลากล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่การเกษตรได้แล้ว ยังเป็นการพร่องน้ำในลำน้ำยังเพื่อให้มีพื้นที่ว่างสำหรับรองรับปริมาณฝนที่จะตกลงมาเพิ่มตลอดฤดูฝน ทั้งยังส่งผลดีช่วยให้เกษตรกรในพื้นที่ตำบลวังหลวงและตำบลบึงเกลือกว่า 2,000 ครัวเรือน มีน้ำเก็บกักไว้ใช้เพื่อการอุปโภคบริโภค และการเกษตรอย่างไม่ขาดแคลนอีกด้วย